จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นที่โคราช หรือการกราดยิงตามสถานที่ต่าง ๆ ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน สามารถสร้างความเครียดให้กับทั้งผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และผู้ที่ติดตามข่าวสารจากเหตุการณ์นั้นอย่างต่อเนื่องได้ จนอาจต้องเผชิญกับโรคที่ทางการแพทย์เรียกว่า โรค “PTSD” หรือ “โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง”
ยกตัวอย่างเช่น เหตุการณ์สะเทือนขวัญล่าสุด ที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศต้องสะเทือนใจอย่างหนัก จากรณีที่มีทหารเข้าไปกราดยิงในศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
และด้วยเหตุการณ์ที่ดำเนินต่อเนื่องนานกว่า 15 ชั่วโมง ส่งผลให้ทั้งเหยื่อที่ติดอยู่ในสถานที่ และเวลาดังกล่าว รวมถึงผู้ที่ติดตามข่าวสารของเหตุการณ์ ต่างก็ต้องเผชิญกับความกังวล และความตึงเครียด ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตของทุกคน และเมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไป หลายคนก็ต้องเผชิญหน้ากับ โรคเครียด หลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ที่ไม่ต่างอะไรไปจากความทรมานซ้ำสอง
จากความสะเทือนใจ สู่ฝันร้ายที่ไม่จบสิ้น
หลังจากพบกับเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจอย่างฉับพลันรุนแรง หากคุณฝันร้ายในเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ จนกระทบกับการนอนหลับพักผ่อน ทำให้ต้องจมอยู่กับความทุกข์ นี่ก็อาจเป็นสัญญาณว่า คุณกำลังเผชิญหน้ากับ โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ Post-Traumatic Stress Disorder ที่เรียกกันอย่างย่อ ๆ ว่า โรค PTSD
โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง จัดอยู่ในกลุ่มอาการความผิดปกติทางจิต อาการหนึ่ง โดยเกิดจากการผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ตกใจ หวาดกลัว หรือเสียใจอย่างหนัก มักเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดขึ้น หรือเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
ผู้ป่วยจะฝังใจจดจำสถานการณ์ และความรู้สึกที่เจ็บปวดนั้นเอาไว้ แม้ว่าเวลาจะผ่านไป ก็ยังคงมีความรู้สึกด้านลบ และนึกถึงภาพเหตุการณ์ในวันนั้นอยู่ ไม่ว่าจะมีสิ่งเร้ามากระตุ้นหรือไม่ก็ตาม ซึ่งส่งผลให้เกิดความเครียด ที่นำไปสู่ปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันได้
โดยทั่วไปแล้ว สถานการณ์ที่เป็นปัจจัย ที่อาจทำให้เกิดโรค PTSD ได้ คือ
• เคยถูกทอดทิ้ง หรือเคยถูกทำร้ายในวัยเด็ก เช่น ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพังในห้องมืดๆ หรือสถานที่เปลี่ยวร้าง ถูกลงโทษอย่างรุนแรง
• เคยถูกทำร้ายอย่างรุนแรง เช่น ทำร้ายร่างกาย และรวมถึงการใช้คำพูดที่รุนแรงทำร้ายจิตใจด้วย
• เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือมีคนพยายามล่วงละเมิดทางเพศ
• เคยเห็นคนบาดเจ็บ ล้มตาย หรือเคยเห็นศพ เช่น ผู้ที่เคยเป็นเหยื่อ หรืออยู่ในเหตุการณ์ฆาตกรรม
• มีบุคคลที่ใกล้ชิดเสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทำให้เกิดความตกใจและเสียใจอย่างรุนแรง
• เคยบาดเจ็บจากอาวุธ เช่น มีด ปืน ระเบิด
• เคยอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง เช่น การประท้วงขับไล่ การก่อจราจล การก่อการร้าย
• เคยผ่านสงคราม เช่น ทหารผ่านศึก หรือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สงคราม
• เป็นผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุ เช่น รถชน เครื่องบินตก ไฟไหม้ อาคารถล่ม
• เป็นผู้รอดชีวิตจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำป่าไหลหลาก ซึนามิ พายุหมุน แผ่นดินไหว
อาการของผู้ป่วย PTSD โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง
อาการป่วยทางจิต จากภาวะเครียดที่เจอเหตุการณ์สะเทือนใจ จะแสดงอาการออกมา 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ระยะทำใจ หรือโรคเอเอสดี (ASD – Acute Stress Disorder) หรือโรคเครียดเฉียบพลัน ซึ่งจะเกิดอาการเครียดแบบเฉียบพลัน หรือประมาณช่วง 1 เดือนแรกหลังเกิดเหตุการณ์ อาจทำให้เกิดอาการทางประสาทได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะ ASD สามารถหายเองได้ หรืออาจไม่แสดงอาการใด ๆ เลยในเดือนแรก แต่ป่วยด้วย PTSD ในเวลาต่อมา หรือป่วยด้วย ASD ติดต่อกันนานเกิน 1 เดือน และยังไม่หาย ก็สามารถจะกลายเป็น PTSD ในภายหลังได้เช่นกัน
ระยะที่ 2 โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง หรือ PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) ซึ่งระยะที่เกิดอาการ อาจยาวนานหลายเดือน และอาจยืดเยื้อได้เป็นปี ๆ ซึ่งอาการที่สามารถสังเหตุได้ของระยะนี้ คือ
- เหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจตามมาหลอกมาหลอน (re-experiencing)
ผู้ที่รอดตายจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น ภัยพิบัติ น้ำท่วม แผ่นดินไหว หนีจากคนที่ตามมาทำร้าย จะรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นกำลังจะเกิดขึ้นอีก รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นขึ้นมาเอง และตกใจกลัว (Flash back) หรือเห็นภาพนั้นทุกครั้งที่หลับตา เช่น รู้สึกเหมือนพื้นสั่นไหว คล้ายกับแผ่นดินไหวอยู่ตลอดเวลา หรือฝันร้ายถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
- ตื่นตัวมากเกินไป (Hyperarousal)
เหตุการณ์ที่ทำให้เราหวาดกลัว จะทำให้เรารู้สึกตื่นตัวช่วงระยะหนึ่ง แต่สำหรับผู้ป่วย โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง นั้น แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว แต่ร่างกายก็ยังคงตื่นตัวอยู่ ทำให้รู้สึกกระวนกระวาย ใจสั่น ตกใจง่าย สะดุ้งง่าย ผุดลุกผุดนั่ง ไม่มีสมาธิ เครียดง่ายแม้จะกับเรื่องทั่วไป บางรายอาจระแวดระวังตัวเกินกว่าเหตุ นอนหลับยาก หรือมีอาการทางกายอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว มีความตึงกล้ามเนื้อสูง คลื่นไส้ ท้องร่วง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า ที่กระตุ้นเตือนให้นึกถึงเหตุการณ์ (Avoidance) หรือมีอารมณ์เฉยชา (Emotional numbing)
หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูด หรือนึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้หวาดกลัว เช่น ประสบภัยพิบัติมา จึงไม่กล้าดูข่าวลักษณะนี้ หรือบางคนขับรถชนคนตาย จึงไม่กล้าขับรถอีก ไม่กล้าว่ายน้ำเพราะเคยจมน้ำ หรือไม่กล้าไปในสถานที่ประสบเหตุ เพราะรู้สึกกระวนกระวาย
ในทางตรงกันข้าม บางคนอาจดูสิ่งเหล่านี้ได้แต่ไร้ความรู้สึก กลายเป็นคนเฉยชา ไม่ร่าเริงเหมือนเคย รู้สึกห่างเหินหรือแปลกแยกจากผู้อื่น บางรายอาจจำเหตุการณ์สำคัญ ๆ ขณะเกิดเหตุไม่ได้ ซึ่งอาการลักษณะนี้ เป็นกลไกทางจิต ที่ช่วยให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงที่จะต้องเผชิญกับความรู้สึกกลัว ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้น
นอกจากนี้ ผู้ที่เป็น PTSD ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ได้อีก เช่น ซึมเศร้า โทษตัวเอง รู้สึกผิดที่หนีเอาตัวรอด หรือรู้สึกผิดที่มีชีวิตรอด (Survivor guilt) วิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ดื่มเหล้าเบียร์มากกว่าเดิมเพื่อดับความกระวนกระวายใจ หงุดหงิดง่าย ทำร้ายตัวเอง หรือพยายามฆ่าตัวตาย
ใครบ้าง ที่เสี่ยงป่วยเป็น โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง
ผู้ที่ประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ไม่จำเป็นต้องเป็น PTSD ทุกคน โดยจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคน โดยทั่วไปแล้ว ราว 20% ของผู้ประสบภัย มีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ หากปรับตัวได้เร็วหลังเกิดเหตุ ก็อาจมีอาการผิดปกติทางจิตใจแค่ช่วงสั้น ๆ แล้วหายเป็นปกติ ซึ่งจะไม่ถือว่าป่วย PTSD แต่ถ้ามีอาการนานเกิน 1 เดือนแล้วยังไม่หาย ก็ถือได้ว่าป่วยเป็น PTSD
ซึ่งกลุ่มคนที่มีแนวโน้มป่วยจะเป็น PTSD ได้ง่าย หลังเกิดเหตุร้ายแรง ได้แก่
• ผู้ที่มีเคยถูกทำร้ายตอนเด็ก ๆ
• ผู้ที่ไม่ค่อยมีเพื่อน หรือไม่มีครอบครัวคอยช่วยเหลือ
• ผู้ที่ชอบพึ่งพิงคนอื่น
• ผู้หญิงจะมีแนวโน้มเป็นโรค PTSD ได้มากกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นราว 3% ในขณะที่ผู้ชายจะมีโอกาสเป็นราว 10.3%
• ผู้ที่มีอายุน้อยมาก ๆ หรือสูงอายุมาก ๆ
• ผู้ที่เครียด หรือมีเรื่องกังวลใจอยู่ก่อนแล้ว และมาเจอเหตุร้ายซ้ำ
• ผู้ที่ดื่มจัดก่อนเกิดเหตุ
โรค PTSD รักษาอย่างไร ?
โรค PTSD สามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ รักษาด้วยวิธีทางจิตวิทยา ซึ่งเป็นการทำพฤติกรรมบำบัด เพื่อช่วยให้จิตใจของผู้ป่วยสงบลง และอีกวิธีหนึ่งคือ การรักษาด้วยยา โดยจิตแพทย์อาจให้ยาในกลุ่มยาแก้ซึมเศร้าร่วมด้วย หากการรักษาด้วยจิตบำบัดไม่ได้ผล
นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น สะกดจิต จิตบำบัด หรือ Group therapy ที่ให้ผู้ป่วยมาพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ป่วยอื่น ที่มีอาการคล้ายคลึงกัน
ควรทำอย่างไร เมื่อเราเป็น PTSD
หากคุณคือผู้ที่ประสบเหตุรุนแรงมา แล้วมีอาการดังที่บอกข้างต้น นอกจากการเข้ารับการบำบัดจากจิตแพทย์แล้ว สิ่งที่คุณควรทำก็คือ
• เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง การป่วยเป็น โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง ไม่ได้แปลว่าคุณเป็นโรคจิตหรือเป็นบ้า แต่คุณกำลังเครียดเกินไปจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้น เมื่อเข้าใจได้เช่นนี้ ก็จะทำให้คุณสามารถรับมือกับโรคได้ง่ายขึ้น และมีอาการดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
• อย่าแยกตัวออกห่างจากคนอื่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เครียด ผู้ป่วยมักจะแยกตัวออกห่างจากคนอื่น อยากอยู่คนเดียว แต่การทำเช่นนั้น จะยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้น ควรปรับตัว และกลับไปใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงกับก่อนประสบภัยมากที่สุด และทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ และครอบครัวตามปกติ
• กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากบุคคลรอบข้าง กล้าที่จะเข้ารับการบำบัดรักษา เพื่อให้อาการที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตหมดไป
• ต้องดูแลตัวเอง พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงฝืนกินอาหารให้ได้ พยายามหาอะไรทำ ระลึกไว้ว่าการทำงานจะช่วยให้ผ่านเหตุการณ์นี้ไปด้วยดี
ควรทำอย่างไร เมื่อคนใกล้ตัวเป็น PTSD
ครอบครัว และคนรอบข้าง คือส่วนสำคัญที่ช่วยให้การบำบัดรักษาโรค PTSD ได้ผลดีขึ้น หากคุณมีคนใกล้ตัว ที่ป่วยเป็น PTSD สิ่งที่คุณควรทำ คือ
• รับฟังปัญหาอย่างจริงใจ เป็นมิตร ไม่วิจารณ์ แม้ว่าผู้ป่วยจะพูดถึงแต่สิ่งเดิม ๆ แต่นั่นก็เพราะเขาต้องการระบายความอัดอั้นตันใจ ต้องการคนรับฟังสิ่งเหล่านั้น อย่ารับฟังอย่างไม่ตั้งใจ หรือเสแสร้งว่ารับฟังเด็ดขาด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่า ตัวเองถูกทอดทิ้งละเลย
• สอบถามอย่างห่วงใย การถาม เป็นวิธีการแสดงออกถึงความห่วงใยได้ดีวิธีหนึ่ง ไม่ว่าจะถามถึงปัญหา หรือความทุกข์ที่ผู้ป่วยรู้สึก สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรแนะนำให้ลืม หรือห้ามนึกถึงเรื่องร้ายที่เกิดขึ้น เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเก็บกด และรู้สึกเครียดยิ่งขึ้นกว่าเดิมได้ ควรสอบถามถึงวิธีแก้ปัญหาที่เขาใช้ และสังเกตว่า เขาใช้วิธีแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสม หรือไม่
• ผู้ป่วยหลายคนมักโทษว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของตัวเอง ต้องอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจว่า ไม่ว่าใครต่าง ก็คาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ หรือถึงจะเข้มแข็งแค่ไหนก็ช่วยไม่ได้
• ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้ร้องขอ
• อย่าถือสา เมื่อผู้ป่วยแสดงอารมณ์โมโห หรือโกรธ
• ส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง หรือคุณไม่สามารถรับฟัง หรือจัดการกับปัญหาทางอารมณ์ของผู้ป่วยได้
ปรึกษา ปัญหาสุขภาพจิต โทร 1323
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : gedgoodlife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : gedgoodlife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife