ไข้หวัด โรคที่วนเวียนอยู่ในชีวิตเราแทบจะทุกช่วงวัย และแทบจะทุกฤดูกาล ถ้าร่างกายอ่อนแอ อากาศเปลี่ยนแปลงเมื่อไหร่ อาการหวัดก็พร้อมจะโจมตีร่างกายได้ทุกเมื่อ ในปี ๆ นึง เราเสี่ยงกับไข้หวัดอะไรบ้าง มาดู “วัฏจักรไข้หวัด” ในแต่ละฤดู เพื่อจะได้เตรียมพร้อมรับมือกันได้ทัน
วัฏจักรไข้หวัด แต่ละฤดูมีอะไรบ้าง?
ฤดูร้อน > ไข้หวัดแดด
ไข้หวัดแดด (Summer Flu) เป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ประกอบกับต้องเผชิญอากาศที่ร้อนจัด หรือ อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงบ่อย ร่างกายปรับตัว กับสภาพอากาศไม่ทัน ทำให้ร่างกายเกิดการสะสมความร้อนไว้ภายใน จึงทำให้ป่วยมีอาการ “ไข้หวัดแดด” ได้
ช่วงการระบาดของหวัดแดด
ไข้หวัดแดด มักเป็นกันมากช่วงหน้าร้อน ที่ที่ร้อนจัด อบอ้าว ไม่มีลมพัด ทำให้มีความเสี่ยงกับ ไข้หวัดแดดได้มาก สำหรับเมืองไทย คือ ช่วงฤดูร้อน เดือนมีนาคม – พฤษภาคม
สาเหตุไข้หวัดแดด
– ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เกิดจากร่างกายที่ไม่สามารถปรับตัว หรือควบคุมระดับความร้อนในร่างกายได้ เช่น อยู่กลางแดดร้อนจัด แล้วกลับเข้ามาในห้องแอร์เย็น ๆ กะทันหัน บ่อย ๆ ซึ่งทำให้ร่างกายปรับอุณภูมิตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไม่ทัน เป็นสาเหตุของ “หวัดแดด” ได้
– สภาพแวดล้อม อากาศร้อนจัด อุณหภูมิของอากาศที่ร้อน ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่สูงขึ้น และ ไม่มีลมพัด หรือ อากาศไม่ระบาย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย
– เชื้อไวรัส หวัดแดดเกิดขึ้นจากเชื้อตัวเดียวกับไข้หวัดใหญ่ เมื่อร่างกายอ่อนเพลีย ก็มีโอกาสโดนโจมตีจากเชื้อไวรัส ทำให้มีอาการไข้หวัดได้
อาการไข้หวัดแดด
- มีไข้ต่ำ ๆ วิงเวียน ปวดศีรษะ
- ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- ปากแห้ง คอแห้ง แสบคอ
- ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- นอนไม่ค่อยหลับ
ความแตกต่าง หวัดแดด กับ ไข้หวัด
ไข้หวัดจะมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ ร่วมด้วย ส่วนหวัดแดด จะไม่ค่อยมีน้ำมูก หรือมีน้ำมูกใส ๆ เพียงเล็ก น้อย และไม่มีอาการเจ็บคอ แต่จะรู้สึก ขมปาก คอแห้ง และแสบคอแทน
การดูแล รักษาอาการหวัดแดด
- เช็ดตัวเพื่อระบายความร้อนภายในร่างกาย
- เลี่ยงที่อากาศร้อนจัด ควรอยู่ในที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
- ดื่มน้ำมาก ๆ ดื่มให้ได้อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว
- รับประทานอาหารที่สะอาด และปรุงสุกใหม่
- นอนหลับ พักผ่อนมาก ๆ
- หากมีไข้ อาจกินยาลดไข้ หรือยาแก้หวัดร่วมด้วย
- อาการเหล่านี้มักจะหายเป็นปกติใน 2 สัปดาห์
วิธีป้องกันโรคหวัดแดด
– หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดโดยตรง โดยเฉพาะช่วงเวลาที่แดดจัด ๆ เช่น ช่วง 13.00-16.00 น.
– ใส่เสื้อคลุมกันแดดบาง ๆ ที่ระบายอากาศได้ดี หรือ กางร่มที่ป้องกันแสงยูวีได้
– สวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน แทนเสื้อสีเข้ม เพื่อไม่ให้ดูดซับแสงแดด และเลือกเนื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ฝ้าใยไผ่
– ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ควรดื่มอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
– รับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง เพื่อป้องกันหวัด
– ไม่เข้าออกนอกห้อง-ในห้องแอร์กะทันหัน ควรพักในที่ร่ม เพื่อให้ร่างกายปรับตัวกับอุณหภูมิที่แตกต่างก่อน
ฤดูฝน ฤดูหนาว > ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (Seasonal Influenza) มักระบาดมากในช่วงอากาศเย็น คือ ช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว ของทุกปี โรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการรุนแรงและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป
ช่วงเวลาแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่
การระบาดของไข้หวัดใหญ่ เป็นการระบาดตามฤดูกาลอยู่แล้ว เพราะประเทศไทยจะมีการระบาด 2 รอบ คือ
- ช่วงฤดูหนาว (มกราคม – มีนาคม)
- ช่วงฤดูฝน (กรกฎาคม – ตุลาคม)
สาเหตุของไข้หวัดใหญ่
เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า อินฟลูเอนซา (Influenza Virus) โดยติดต่อผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก และเสมหะของผู้ที่ป่วย เมื่อได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายก็ส่งผลให้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ได้
อาการไข้หวัดใหญ่
- มีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศรีษะ
- เจ็บคอ คอแดง
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ไอแห้ง ๆ
- คัดจมูกน้ำมูกไหล
- อาการมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอยู่นาน 6 – 10 วัน
การดูแล รักษาไข้หวัดใหญ่
– พักผ่อนให้เพียงพอ สามารถรักษาตัวเองได้ที่บ้าน โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ
– ดื่มน้ำในปริมาณมาก เพื่อลดอาการขาดน้ำ
– รับประทานยาลดไข้ หรือยาแก้ไอ ที่มีขายในร้านขายยาทั่วไปร่วมด้วย เช่น พาราเซตตามอล
– ใช้ยาต้านไวรัส หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยแพทย์จะให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี > ไข้หวัดทั่วไป
นอกจากไข้หวัดที่เกิดได้บ่อย ๆ ในแต่ละฤดูแตกต่างกันไปแล้ว ไข้หวัดที่ต้องระวังมากที่สุด คือ ไข้หวัดทั่ว ๆ ไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่สนวันเวลา ฤดูกาล หากร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี พักผ่อนน้อย เครียด ก็มีโอกาสถูกโจมตีจากอาการ ไข้หวัด เป็นหวัด ได้ทุกเมื่อ
ไข้หวัด (Common Cold) คือ การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน บริเวณโพรงจมูก และอาจลามมาถึงช่องปาก ที่มีอาการไม่รุนแรง พบได้บ่อยทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก โดยเฉลี่ยในเด็กมีโอกาสเป็นโรคหวัด 6-8 ครั้งต่อปี และสำหรับบางรายอาจเป็นหวัดได้มากกว่า 12 ครั้งต่อปีเด็กมีโอกาสเป็นหวัดน้อยลงเมื่อโตขึ้น
สาเหตุของไข้หวัด
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีอยู่มากกว่า 200 ชนิด เชื้อที่พบบ่อยที่สุดในผู้ป่วยทุกอายุคือ กลุ่มไวรัสไรโน (rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด รองลงมา คือ โคโรนาไวรัส (coronavirus) พาราอินฟลูเอนซา (Parainfluenza) เป็นต้น
อาการไข้หวัด
การดูแล รักษาไข้หวัด
เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่ดูแลร่างกาย และรักษาไปตามอาการเท่านั้น
– พักผ่อนให้เพียงพอ ควรหยุดพักผ่อน นอนหลับให้เพียงพอ ไม่ควรทำงาน หรือกิจกรรมหนัก ๆ เกินไป
– ทำร่างกายให้อบอุ่น ระวังการอาบน้ำเย็นจัด เวลานอนควรห่มผ้าให้มิดชิด ไม่โดนแอร์เป่าตรง ๆ อย่าให้ร่างกายถูกฝน หรืออากาศเย็น
– ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไปจากไข้สูง
– ใช้ยาเพื่อรักษาไข้หวัด เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้อาการไข้หวัด หายได้เร็วขึ้น โดยยาใช้รักษาไข้หวัด มักเป็นยารักษาตามอาการ ได้แก่
-
- ยาแก้ปวดลดไข้ ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย และลดไข้ โดยยาที่นิยมใช้ได้แก่ ยาพาราเซตามอล
- ยาลดน้ำมูก เป็นยาที่ใช้ร่วมกับยาแก้ปวด และยาแก้คัดจมูก ช่วยให้ไข้หวัดหายได้เร็วยิ่งขึ้น
- ยาแก้ไอ คือยาที่ใช้เพื่อ บรรเทาอาการไอมีเสมหะ ซึ่งจะช่วยให้เสมหะนิ่มลง และขับออกได้ง่ายขึ้น