เมื่อเด็กน้อยมีอาการไอ ผู้ปกครอง หรือ คุณพ่อคุณแม่ ต้องรู้จักสังเกตอาการไอของลูก และรู้วิธีเลือก ยาแก้ไอเด็ก อย่างถูกต้อง และปลอดภัยต่อลูกน้อย… เราเข้าใจดีว่า คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง อาจมีความสับสน ไม่เข้าใจ หรือไม่ถนัดในการเลือกยาแก้ไอสำหรับเด็ก วันนี้ GedGoodLife จึงมีข้อแนะนำดีดีในการเลือก ยาแก้ไอเด็ก มาฝาก ตามมาดูกันเลย!
อาการไอ กับ ยาแก้ไอ มีกี่แบบ ? เรื่องที่พ่อแม่ควรรู้ ก่อนเลือกยาแก้ไอให้กับลูกน้อย
เรื่องสำคัญก่อนเลือกซื้อ ยาแก้ไอเด็ก ผู้ปกครองควรทราบก่อนว่า อาการไอของเด็กเป็นอย่างไร “มีเสมหะ” หรือ “ไม่มีเสมหะ” เพราะ ถ้ากินยาแก้ไอผิดประเภทก็ไม่ช่วยให้อาการของลูกดีขึ้นได้
อาการไอ แบ่งเป็น 2 แบบ
1. ไอแบบมีเสมหะ (Wet cough) เป็นอาการไอร่วมกับของเหลว เป็นเมือกเหนียวข้นออกมาขณะไอด้วย
2. ไอไม่มีเสมหะ (Dry Cough) เป็นอาการไอจากอาการคัน และระคายเคืองภายในลำคอ ไม่มีเสมหะ หรือมูกเมือกข้นออกมา
ยาแก้ไอ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่
1. ยาแก้ไอแบบมีเสมหะ แบ่งย่อยได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1.1 ยาละลายเสมหะ (Mucolytics) – มีคุณสมบัติช่วยลดความเหนียวข้นของมูกเหลว และเสมหะ ส่งผลให้ขับเสมหะ หรือไอออกมาได้ง่ายขึ้น ลดการระคายบริเวณลำคอที่เป็นสาเหตุของอาการไอ ตัวอย่างของยาละลายเสมหะ คือ คาร์โบซีสเทอีน (Carbocisteine)
1.2 ยาขับเสมหะ (Expectorants) – มีฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายผลิตเสมหะ และไอมากขึ้นในช่วงแรก เพื่อขับเสมหะออกมาง่ายขึ้น โดยหลังจากนั้น เสมหะ และอาการไอจะบรรเทาลง
2. ยาแก้ไอแบบไม่มีเสมหะ หรือ ไอแห้ง – เป็นยาที่ออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้ไอน้อยลง ยากลุ่มนี้โดยมากใช้สำหรับบรรเทาอาการไอที่เกิดจากการแพ้ หรืออาการไออื่น ๆ ที่ไม่มีเสมหะ
* ยาแก้ไอแบบไม่มีเสมหะ ไม่ควรใช้กับอาการไอมีเสมหะ เพราะจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง และทำให้อาการไอรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมได้
- ยาขับเสมหะ VS ยาละลายเสมหะ เมื่อลูกมีอาการไอ เลือกกินยาแบบไหน?
- ไอแบบไหนอันตราย อาการไอ แบบไหนต้องพาลูกไปหาหมอ
- โซลแมค คิดส์ ยาแก้ไอละลายเสมหะ สำหรับเด็ก
5 วิธีง่าย ๆ ในการเลือก ยาแก้ไอเด็ก อย่างเหมาะสม
ตามที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า การไอแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ไอมีเสมหะ และ ไอไม่มีเสมหะ ฉะนั้น เมื่อเด็กเกิดอาการไอ จึงควรสังเกตว่าเด็กไอมีเสมหะ หรือไม่ แล้วจึงเลือกยาให้ถูกต้องตามอาการ ดังนี้
1. เมื่อเด็กไอมีเสมหะ ควรเลือกใช้ยาแก้ไอแบบมีเสมหะ เช่น ยาละลายเสมหะ ที่มีส่วนผสมของ คาร์โบซีสเทอีน (Carbocisteine) เป็นยาละลายเสมหะที่มีประสิทธิภาพในการละลายเสมหะดี ผลข้างเคียงน้อย ราคาไม่แพง สามารถใช้ได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ได้อย่างปลอดภัย
2. เมื่อเด็กมีอาการไอไม่มีเสมหะ ให้เลือกกินยาแก้ไอที่ไม่มีเสมหะ เป็นยาที่กดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง ข้อควรระวัง คือ ยาบางตัวในกลุ่มนี้ เมื่อใช้ติดต่อกันนาน ๆ จะทำให้เสพติดได้ เช่น ตัวยา Dextromethorphan Codeine เป็นต้น
3. เลือกยาแก้ไอแบบน้ำ ยาแก้ไอชนิดน้ำ เป็นยาแก้ไอที่เหมาะกับเด็กมากที่สุด เนื่องจากทานง่าย กลืนง่าย และมีรสผลไม้ให้เลือกอีกด้วย
4. เลือกยาแก้ไอที่ไม่มีน้ำตาล ควรเลือกยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ที่ไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เพื่อป้องกันฟันผุในเด็ก และไม่ให้เด็กได้รับน้ำตาลในปริมาณมากเกินไปในแต่ละวันด้วย
5 ปราศจากแอลกอฮอล์ ยาบางตัวไม่สามารถละลายในน้ำได้ จำเป็นต้องใช้แอลกอฮอล์ช่วยในการละลายเพื่อทำเป็นยาน้ำ แต่จะมีการกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์ที่เหมาะสมไว้
รู้หรือไม่? เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่ควรกิน ยาแก้ไอเด็ก!
องค์การอาหารและยา ของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า “ไม่แนะนำให้ใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการไอในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี” เพราะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่สนับสนุนความปลอดภัยของการใช้ยาเหล่านี้ในเด็กเล็ก
ดังนั้นหากลูกอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้ปกครองควรพาไปพบแพทย์ หรือให้ดื่มน้ำอุ่น เพื่อบรรเทาอาการไอ แนะนำให้ผสมน้ำผึ้ง + บีบน้ำมะนาวลงไปในน้ำอุ่นด้วย ในปริมาณที่พอเหมาะ เพราะ…
- น้ำผึ้งจะเคลือบลำคอ ลดอาการระคายคอ
- ส่วนน้ำอุ่นกับน้ำมะนาว จะช่วยละลายเสมหะ
วิธีการรับประทาน ยาแก้ไอเด็ก และข้อแนะนำในการแก้ไอสำหรับเด็ก
– ใช้ยาตามแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนใช้ยาแก้ไอสำหรับเด็ก ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน เพื่อรับฟังคำแนะนำอย่างถูกต้อง
– ยาสำหรับเด็ก ต้องให้ตามน้ำหนักตัว การให้ยาในเด็กต้องคำนวณจากน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ดังนั้นควรทราบน้ำหนักตัวของลูกที่แน่นอน และแจ้งเภสัชกรทุกครั้งเมื่อไปซื้อยาให้ลูก เพื่อให้เภสัชกร คำนวณปริมาณการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัยที่สุด
– คอยสังเกตอาการอื่น ๆ นอกจากอาการไอ นอกจากอาการไอของลูกแล้ว ควรสังเกตลูกด้วยว่ามีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยไหม ? เช่น อาการไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งหากมีอาการอื่น ๆ ที่นอกจากอาการไอ ควรปรึกษาแพทย์ด้วย
– งดรับประทานอาหาร ทอด มัน รสจัด ในขณะที่เด็กยังมีอาการไอ เพราะอาหารเหล่านี้ส่งผลให้ระคายเคืองคอ และเป็นของแสลงกับอาการไอ
– หากรับประทานยาแก้ไอแล้ว 2 สัปดาห์ อาการไอยังไม่บรรเทาลง ต้องไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยว่า มีความผิดปกติอะไรแฝงอยู่หรือไม่
อ้างอิง :
1. คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 1 / 2
2. คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
3. สมาคมโรคระบบหายใจ และเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย
4. พบแพทย์
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี