นพ. ธัญ จันทรมังกร
อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคไต
ไปหาหมอมา หมอบอกว่า “เบาหวานลงไต” หมายความว่าอย่างไร เราจะไตวายไหม หน้านี้มีคำตอบ
“เบาหวานลงไต” ไม่เท่ากับ ไตวาย ทางการแพทย์แบ่ง “เบาหวานลงไต” เป็น 5 ระยะดังนี้
ระยะที่ 1 ไตจะทำงานได้มากกว่าปกติ ซึ่งอาจตรวจพบว่าไตมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ ยังตรวจไม่พบโปรตีนอัลบูมินใน ปัสสาวะ
ระยะที่ 2 การทำงานของไตปกติ เริ่มตรวจพบโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะแบบไมโคร (30-300 มก./วัน) ระยะที่ 3 การทำงานของไตปกติ ตรวจพบโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะแบบแมคโคร (มากกว่า 300 มก./วัน)
ระยะที่ 4 ตรวจพบโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะแบบแมคโคร และการทำงานของไตเริ่มผิดปกติ
ระยะที่ 5 ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องได้รับการบำบัดทนแทนไต
ดังนั้นจะเห็นว่าในระยะต้น ๆ ของเบาหวานลงไต (ระยะที่ 1-3) ผู้ป่วยยังมีค่าการทำงานของไตเป็นปกติ อยู่ จะพบได้เพียงมีโปรตีนชนิดอัลบูมินรั่วออกมาทางปัสสาวะ ในปริมาณที่แตกต่างกันตามระยะเท่านั้น และ การรักษาเบาหวานแบบองค์รวมสามารถชะลอ ป้องกันการพัฒนาของเบาหวานลงไตไปสู่ระยะที่มากขึ้น รวม ถึงยังสามารถลดระดับโปรตีนที่รั่วออกมาในปัสสาวะได้
ใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิด “เบาหวานลงไต”
ผู้ป่วยเบาหวานที่พบ “เบาหวานลงไต” ได้บ่อย ได้แก่
- ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี
- มีภาวะความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี
- อ้วน
- มีภาวะเบาหวานขึ้นตา
- มีญาติใกล้ชิดในครอบครัวป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง
การปฏิบัติตัวป้องกัน “เบาหวานลงไต” และชะลอให้ไตเสื่อมช้าลง มีหลัก 9 ประการ ดังนี้
- ควบคุมโรคเบาหวานให้ระดับน้ำตาลใกล้เคียงปกติ และให้ระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ไม่เกิน 7%
- ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงไม่เกิน 130/80 มิลลิเมตรปรอท โดยการทานยาตามแพทย์สั่งและมี ยาลดความดันบางกลุ่มที่สามารถลดโปรตีนอัลบูมินที่รั่วในปัสสาวะได้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แนะนำออกกำลังกายประเภทคาดิโอ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ ต้องมีการปะทะ โดยการออกกำลังกายนอกจากจะสามารถเพิ่มความแข็งแรงแล้วยังสามารถช่วย ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น
- เลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม โดยทานอาหารให้มีความสมดุล เพิ่มสัดส่วนของผักและผลไม้ที่ไม่หวานในแต่ละมื้อ ควบคุมอาหารที่มีโซเดียมสูงเพราะการทานอาหารที่มีโซเดียมสูงนอกจากจะทำให้ ความดันโลหิตสูงขึ้นแล้วยังมีผลทำให้โปรตีนรั่วในปัสสาวะมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ รวมถึงหลีกเลี่ยงการพาตัวเองไปอยู่ในบริเวณที่มีการสูบบุหรี่
- ในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ให้ลดน้ำหนัก
- ไม่กลั้นปัสสาวะ
- ก่อนใช้ยาใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ปวดชนิดที่ลดการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
- ติดตามการรักษากับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ร่วมกับตรวจปัสสาวะเพื่อหาโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะ และ ตรวจเลือดเพื่อติดตามค่าการทำงานของไต อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง