ไหนใครไปทำบุญ สะเดาะเคราะห์ปีชง เวียนเทียน 3 รอบตอนหัวค่ำ หรือไหว้เจ้าในช่วงเทศกาลตรุษจีน แล้วน้ำตา น้ำมูกไหล คิดไปว่านี่เราอิ่มเอิบในบุญ ซึ้งในรสพระธรรม กันบ้าง?? แท้จริงแล้วไม่ใช่อะไรหรอก… มันคืออาการของคน “แพ้ควันธูป” นั่นเอง!! มาดูกันเลยว่า ควันธูป ประกอบด้วยอะไร? อันตรายแค่ไหน? แล้วจะดูแลตัวเองจากควันธูปได้อย่างไร?
ควันธูป อันตรายกว่าที่คิดเยอะ!!
ธูปที่เผาไหม้ จะปล่อยฝุ่นละออง และสารพิษออกมามากมาย สารที่เกิดขึ้นจากการจุดธูปเทียนมาจากวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น กาว สี น้ำหอมเคมี เป็นต้น ซึ่งได้มีงานวิจัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พบว่า การจุดธูปเพียง 3 ดอก ทำให้เกิดมะเร็งเทียบเท่ากับการสูดควันรถบริเวณที่มีการจราจรคับคั่งอีกด้วย
3 สารอันตราย ก่อมะเร็งในควันธูป
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สารก่อมะเร็งที่สำคัญในควันธูปมีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่
- สารเบนโซเอไพรีน มีศักยภาพก่อมะเร็งสูงที่สุด มีความสัมพันธ์กับมะเร็งปอด ผิวหนัง และกระเพาะปัสสาวะ
- สารเบนซีน มีความสัมพันธ์กับมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- สารบิวทาไดอีน มีความสัมพันธ์กับมะเร็งระบบเลือด
*ทั้งนี้ยังไม่พบหลักฐานชี้ชัดว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเนื่องจากควันธูป เพียงแต่พบหลักฐานว่าควันธูปมีสารชักนำให้เกิดมะเร็งได้
(เสริมจากดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย) ในควันธูปยังมีสารมลพิษอีกหลายชนิดด้วยกัน เช่น
- ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
- ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์
- ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์
- ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ควันธูป ก่อให้เกิดโรค หรืออาการอะไรได้บ้าง ?
- มะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง มะเร็งในเลือด และปัสสาวะ
- ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ หายใจลำบาก น้ำมูกไหล
- ภูมิแพ้ขึ้นตา เช่น ตาแห้ง แสบตา น้ำตาไหล
- จาม ไอ ระคายคอ
- ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า ง่วงนอน และอาจหมดสติได้ ถ้าสูดดมเป็นเวลานาน
สำหรับใครที่เป็นภูมิแพ้ได้ง่าย หรือเป็นภูมิแพ้หลังจากได้รับสัมผัสควันธูปมา ควรรับประทาน ยาแก้แพ้ เพื่อช่วยบรรเทาอาการแพ้ได้ดีขึ้น เช่น ยาแก้แพ้ที่มีส่วนผสมของตัวยา ลอราทาดีน นอกจากจะไม่ทำให้ง่วงแล้ว ยังมีประสิทธิภาพในการบรรเทาภูมิแพ้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่มเสี่ยงได้รับอันตรายจากควันธูป
1. เจ้าหน้าที่เก็บธูป ผู้ที่ต้องทำงานในวัด ศาลเจ้า – นี่คือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องอดทนกับอาชีพตนเองในการต้องหมั่นเก็บธูปที่ถูกจุดแล้วตามสถานที่มงคลต่าง ๆ เช่น วัด ศาลเจ้า เป็นต้น
2. กลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ – นับเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะบ้านไหนมีเด็กเล็กต้องระวัง ไม่ให้ได้รับควันธูปจากการสัมผัส และสูดดม เพราะ สารจากควันธูปอาจก่อให้เกิด ภูมิแพ้ในเด็ก ได้ หากไม่สามารถเลี่ยงได้ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือหน้ากากอนามัย ปิดปาก และจมูก
3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว – เช่น โรคหัวใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง ต้องเลี่ยงสถานที่ที่มีควันธูปเยอะ เช่น ช่วงต้นปี วันพระใหญ่ หรือเทศกาลต่าง ๆ จะมีคนเข้าไปในวัด ศาลเจ้า เพื่อขอพร ทำบุญ สะเดาะเคราะห์ปีชง กันมาก ทำให้มีควันธูปเยอะสุดๆ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ให้ใส่หน้ากากอนามัย พร้อมเสื้อผ้ามิดชิดไปด้วย
7 วิธี ดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากควันธูป
1. เลี่ยงสถานที่ ที่มีการจุดธูปเป็นประจำ เช่น สถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา วัด ศาลเจ้า โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ ตรุษจีน และ เทศกาลมงคลต่าง ๆ (แต่ในปัจจุบัน มีหลายสถานที่ ยกเลิกการจุดธูปภายในสถานที่แล้ว)
2. สวมหน้ากากอนามัย ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทุกครั้งที่ต้องไปยังสถานที่ที่มีการจุดธูป เผากระดาษเงิน กระดาษทอง และมีควันจากรถยนต์สูง
3. จุดธูปในอากาศที่ถ่ายเทสะดวก หรือนำกระถางธูปไว้นอกตัวอาคาร
4. เลือกใช้ธูปสั้น แทนธูปยาว เพราะจะช่วยลดปริมาณควันธูปได้ดี และควรเก็บ หรือดับธูปให้เร็ว
5. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เสมอ หลังจากสัมผัสธูป ถ้ามีควันธูปสัมผัสหน้าปริมาณมาก แนะนำให้ล้างหน้าด้วย
6. เลือกใช้ธูปไฟฟ้าทดแทนธูปจริง ลดควันได้ 100%
7. ตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอ ผู้ที่เลี่ยงควันธูปไม่ได้ ใช้ชีวิตอยู่กับควันธูปเป็นประจำ ควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยให้ระวังเกี่ยวกับโรคหัวใจ หอบหืด ภูมิแพ้ ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
สุดท้ายนี้ การจุดธูปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก่อให้เกิดความสุขทางจิตใจ แต่เพื่อให้ห่างไกลจากโรคและภัยสุขภาพจากควันธูป รวมถึงช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม GedGoodLife แนะนำให้ใช้ธูปสั้น ธูปไฟฟ้าทดแทน และสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ต้องอยู่กับควันธูปและมลภาวะภายนอกเป็นเวลานาน
อ้างอิง :
อันตรายและสารในควันธูป :
– https://www.thaihealth.or.th/Content/29264-อันตรายควันธูปมีสารพิษก่อมะเร็ง.html
– https://www.thairath.co.th/content/397747