โอย โอย… ปวดท้องน้อยข้างขวาจัง พอไปพบหมอ หมอวินิจฉัยว่าเป็น ไส้ติ่งอักเสบ! ถ้าไม่ผ่าตัดอาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลย! เจ้าโรคนี้มันน่ากลัวขนาดนี้เลยหรือคะ? อย่าเพิ่งกังวลไป วันนี้GedGoodLife มีคำตอบมาให้แล้ว
มาทำความรู้จักกับ “ไส้ติ่ง” กันก่อน
ไส้ติ่ง (Appendix) มีลักษณะเป็นท่อตันบาง ๆ มีความยาวเฉลี่ย 11 ซม.ที่แยกมาจากบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น โดยตำแหน่งจะอยู่บริเวณท้องน้อยด้านขวาล่าง
ในอดีตไส้ติ่งเคยถูกมองข้ามว่าเป็นอวัยวะที่ไร้ประโยชน์ในร่างกาย แต่ในปี 2007 ศูนย์วิจัยจากมหาวิทยาลัยDuke (Duke University Medical Center) ได้ค้นพบว่า ไส้ติ่งทำหน้าที่เหมือนบ้านอันอบอุ่น และปกป้องเชื้อจุลินทรีย์ในช่องท้องของคนเรานั่นเอง จุลินทรีย์ที่ว่านี้ช่วยในระบบการย่อยอาหาร นอกจากนี้ไส้ติ่งยังทำหน้าที่กระตุ้นระบบย่อยอาหารให้กลับมาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ไส้ติ่งอักเสบ คืออะไร?
ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเฉียบพลัน เป็นโรคที่พบบ่อย และทำให้มีการผ่าตัดช่องท้องฉุกเฉินมากที่สุด เกิดขึ้นได้กับทุกวัย ทั้งเพศชาย และเพศหญิง โดยจะพบมากในช่วงอายุ 12 – 60 ปี และถ้ารักษาไม่ทันท่วงที สามารถเสียชีวิตได้เลยทีเดียว!
สาเหตุของการเกิดไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งจะอักเสบ ก็ต่อเมื่อมีภาวะอุดตัน โดยมักจะอุดตันจาก…
- เกิดจากการอุดตันของไส้ติ่ง เช่น มีอุจจาระ หรือกากอาหารตกลงไปในไส้ติ่ง ทำให้เกิดอาการอักเสบ โดยภาวะอุดตัน ทำให้แบคทีเรียเพิ่มขึ้นเมื่อมีการอักเสบ ผลที่ตามมาคือ การเน่าและการแตกทะลุของไส้ติ่งนั่นเอง
- การอุดตันอาจเกิดขึ้นได้จากพยาธิลำไส้ เช่น พยาธิเข็มหมุด พยาธิไส้เดือน พยาธิตัวตืด เป็นต้น ใครทื่ชอบกินของดิบ ๆ ไม่สะอาด ไม่ปรุงสุก ต้องระวังให้ดี
อาการปวดท้องจาก ไส้ติ่งอักเสบ
คนไข้มักจะเข้ามาพบแพทย์ด้วยอาการปวด จุก ๆ แน่น ๆ รอบ ๆ สะดือ มวนท้องไปทั่ว อาการปวดอาจจะคล้ายกับลำไส้อักเสบทั่วไป แต่ผ่านไปสักพักจะเริ่มปวดท้องที่ด้านขวาล่าง โดยอาการปวดแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
ปวดท้องระยะแรก – มีอาการปวดทั่ว ๆ ทั้งหน้าท้อง บริเวณรอบสะดือ และจะค่อย ๆ มากขึ้น ถึงแม้จะทานยาแก้ปวดก็ทุเลาเพียงชั่วคราวเท่านั้น
ปวดท้องระยะที่สอง – ประมาณ 2 ชั่วโมง จนถึง 24 ชั่วโมงต่อมา จะปวดท้องบริเวณด้านขวาตอนล่าง ลักษณะปวดเสียดตลอดเวลา การเคลื่อนไหวร่างกายจะทำให้ปวดมากขึ้น และถ้ากดท้องจะพบว่ากดเจ็บบริเวณท้องน้อยด้านขวา โดยเฉพาะตรงจุดตำแหน่งไส้ติ่ง
- อาการร่วมเมื่อไส้ติ่งอักเสบระยะที่สอง คือ คลื่นไส้อาเจียนภายหลังจากปวดท้อง ปากแห้ง คอแห้ง มีไข้ต่ำ แต่ถ้ามีไข้สูง ปวดท้องน้อยทั้งซ้ายและขวา หรือปวดทั่วท้องมักจะเป็นเพราะ ไส้ติ่งได้แตกแล้ว
วิธีการตรวจดูอาการไส้ติ่งอักเสบอย่างง่าย ๆ ด้วยตัวเอง
– ให้ผู้ป่วยนอนหงายแล้วใช้นิ้วมือกดลงลึก ๆ เบา ๆ หรือใช้กำปั้นทุบเบา ๆ ตรงบริเวณไส้ติ่ง (ท้องน้อยข้างขวา) ถ้าพบว่ามีอาการเจ็บปวดตรงบริเวณนั้นมาก ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ
– บางรายอาการปวดเจ็บท้องอาจอยู่นอกตำแหน่งท้องน้อยข้างขวา (เนื่องจากไส้ติ่งอยู่ในตำแหน่งที่ผิดไปจากปกติ) หรือบางรายอาจมีอาการปวดท้องร่วมกับท้องผูกหรือท้องเสียก็ได้
– ถ้ารู้สึกปวดท้องอยากถ่ายบ่อย ๆ แต่ถ่ายไม่ออก อย่านึกว่าเป็นอาการท้องผูกธรรมดา และห้ามทำการสวนอุจจาระหรือกินยาถ่าย หรือยาระบาย เพราะอาจจะทำให้ไส้ติ่งแตกได้
– ในระยะแรกผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดใต้ลิ้นปี่หรือรอบ ๆ สะดือ คล้ายอาการของโรคกระเพาะ จึงควรเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้ากินยาแก้โรคกระเพาะแล้วอาการยังไม่ทุเลา กลับมีอาการปวดรุนแรงขึ้น หรือย้ายมาปวดตรงท้องน้อยข้างขวาก็ควรนึกถึงไส้ติ่งอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการปวดท้องน้อยต่อเนื่องกันนานเกิน 6 ชั่วโมง
– อาการปวดท้องน้อยข้างขวา นอกจากไส้ติ่งอักเสบแล้ว ยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น นิ่วในท่อไต ปวดประจำเดือน ปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน การตั้งครรภ์นอกมดลูก เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันออกไป
อันตรายจากไส้ติ่งแตก!
“ภาวะไส้ติ่งแตก” เป็นภาวะที่เกิดขึ้นหลังไส้ติ่งมีการอักเสบ แต่ไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที โดยหลังเกิดการอักเสบ ผนังไส้ติ่งอาจเน่าและแตกทะลุภายใน 24-36 ชั่วโมง และหากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาภาวะไส้ติ่งแตกในทันที อาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไส้ติ่งแตก ควรได้รับการผ่าตัดทันทีเมื่อรู้ว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ ด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Surgery) เพราะเป็นการผ่าตัดเล็กสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ทันที เหมาะกับกรณีไส้ติ่งที่อักเสบยังอยู่ในระยะไม่ร้ายแรงนัก
หากรุนแรงถึงขั้นไส้ติ่งแตก ก็จะต้องใช้การผ่าตัดแบบเปิด (Open Surgery) ซึ่งเป็นผ่าตัดแบบมาตรฐาน เพราะนอกจากจะต้องนำไส้ติ่งที่แตกออกแล้ว ยังต้องทำความสะอาดภายในช่องท้อง และใส่ท่อเพื่อระบายหนองจากฝีที่เกิดขึ้นอีกด้วย
การรักษา ไส้ติ่งอักเสบ
– ตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เอกซเรย์ เพื่อวินิจฉัยโรคให้แน่นอน
– การรักษาไส้ติ่งอักเสบจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น โดยการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นวิธีการมาตรฐานในการรักษา เนื่องจากมีข้อดีหลายข้อ เช่น เห็นไส้ติ่งได้ชัดเจน เจ็บแผลน้อยกว่า ฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น และลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดได้
– ปัจจุบันเมื่อเราผ่าตัดภายในช่องท้อง เช่น ผ่าตัดคลอดบุตร ผ่าตัดมดลูก หรือปีกมดลูก แพทย์อาจจะทำการผ่าตัดไส้ติ่งออกให้เลย เพราะจะได้ไม่เกิดการอักเสบขึ้นภายหลัง
– สำหรับสุภาพสตรี อาการของไส้ติ่งอาจคล้ายกับอาการปีกมดลูกอักเสบ ซึ่งสูติ-นรีแพทย์ จะเป็นผู้ให้การรักษาโดยการให้ยาปฏิชีวินะ แต่ต้องให้การวิเคราะห์โรคให้ได้ก่อนรักษา
การดูแลตนเองหลังการผ่าตัด
- นอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล 3 วัน
- หลังจากพักฟื้นที่โรงพยาบาล ควรพักผ่อนต่อที่บ้านอีก 7 วัน
- ห้ามยกของหนัก ประมาณ 2 เดือน
- งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
GedgoodLife สรุปให้
- ไส้ติ่ง (appendix) มีลักษณะเป็นท่อตันบาง ๆ มีความยาวเฉลี่ย 11 ซม.ที่แยกมาจากบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น โดยตำแหน่งจะอยู่บริเวณท้องน้อยด้านขวาล่าง
- ไส้ติ่งทำหน้าที่เหมือนบ้านอันอบอุ่น และปกป้องเชื้อจุลินทรีย์ในช่องท้องของคนเรานั่นเอง
- ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) เกิดจากภาวะอุดตันจากอุจจาระ กากอาหารตกลงไปในไส้ติ่ง หรือจากพยาธิลำไส้ ทำให้เกิดอาการอักเสบ เน่า และแตกทะลุของไส้ติ่งได้
- อาการของไส้ติ่งอักเสบ มักมีอาการปวดที่ด้านขวาล่างของช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง คอแห้ง
- การรักษาไส้ติ่งอักเสบจำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น โดยการผ่าตัดผ่านกล้องเป็นวิธีการมาตรฐานในการรักษา และควรรับการผ่าตัดทันที เพื่อป้องกันภาวะไส้ติ่งแตก
ไส้ติ่งอักเสบเป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยเฉียบพลัน ยากที่จะป้องกัน การรู้เท่าทัน และรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการ จะช่วยให้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง และทันท่วงที ผู้ป่วยไม่ควรซื้อยามาทานเองโดยเด็ดขาด เพราะ โรคนี้จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเท่านั้น
อ้างอิง :
1. ประโยชน์ของไส้ติ่ง – sciencedaily.com
2. วิธีการตรวจดูอาการไส้ติ่งอักเสบอย่างง่าย ๆ – medthai.com
3. อันตรายจากไส้ติ่งแตก! – pobpad.com / paolohospital.com
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี