อาการคนท้อง เป็นอย่างไร ผู้หญิงหลายคนที่ประจำเดือน ขาด ๆ หาย ๆ เป็นประจำ เมื่อตั้งครรภ์ หรือ ท้องขึ้นมาจึงไม่รู้ตัวก่อน นอกจากอาการประจำเดือนขาดแล้ว มีอาการอะไรอีกบ้าง ที่เป็นสัญญาณบอกว่า นี่อาจเป็นอาการของคนท้องได้ เพราะหากตั้งครรภ์ขึ้นมา มีหลายเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมไว้ โดยเฉพาะการดูแลทารกในครรภ์ บำรุงครรภ์ เสริมวิตามิน แร่ธาตุสำหรับคนท้อง ที่ต้องการมากขึ้นเป็นพิเศษ
- 7 ขั้นตอนเตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ อยากมีลูกต้องรู้ไว้!
- วิตามินสำหรับคนท้อง เลือกกินแบบไหนดีนะ?
- อาการอ่อนเพลียเมื่อตั้งครรภ์ คนท้องเหนื่อยง่าย ง่วงบ่อย ทำอย่างไรดี ?
อาการคนท้อง ระยะแรก สัญญาณเบื้องต้นว่าอาจตั้งครรภ์
– ประจำเดือนขาด เมื่อประจำเดือนขาด โดยเฉพาะในคนที่ปกติประจำเดือนมาสม่ำเสมอดี อาจจะเป็นสัญญาณว่ากำลังตั้งครรภ์ โดยอาจจะตรวจได้หลังจากที่ประจำเดือนขาดไป 1 รอบเดือน ประมาณ 28 วัน ก็ลองตรวจการตั้งครรภ์ได้ หรือ ตรวจห่างจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดอย่างน้อย 14 วัน แต่หากประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมออยู่แล้ว อาจจะเป็นสาเหตุอื่นได้ที่ทำให้ประจำเดือนขาด เช่น ความเครียด การออกกำลังกายมากกว่าปกติ
– เต้านมคัด อาการคนท้อง สัญญาณที่บอกว่าอาจมีการตั้งครรภ์ คือ มีการเปลี่ยนแปลงของเต้านม เต้านม และหัวนมขยายใหญ่ขึ้น จนทำให้รู้สึกเจ็บเต้านม และหัวนม เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หลายคนจะมีอาการเจ็บเต้านมในช่วงก่อนที่จำประจำเดือนมา แต่ประจำเดือนขาดหายไป ก็มีอาการเจ็บอยู่ อาจเป็นสัญญาณเตือน อาการคนท้อง หรือกำลังตั้งครรภ์ได้ อาการคัดเต้านมมักจะลดลง เมื่อร่างกายปรับสภาพกับระดับฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ได้
– คลื่นไส้ อาเจียน อาการคนท้อง หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า อาการแพ้ท้อง มักมีอาการในช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ ส่วนใหญ่จะมีอาการช่วงตั้งครรภ์ได้ 2 เดือน แต่บางคนก็มีอาการแพ้ท้องได้ตั้งแต่ประจำเดือนเริ่มเดือนขาดหายไป ซึ่งอาการคลื่นไส้ อาเจียนนี้ จะค่อย ๆ ลดลงเมื่อการตั้งครรภ์เข้าสู่ระยะไตรมาสที่สอง หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนโดยที่ไม่ได้เจ็บป่วย อาจจะสันนิษฐานได้ว่ามีอาการตั้งครรภ์ได้
– กระหายน้ำ หิวบ่อย ตื่นมาก็หิว ระหว่างมื้อก็หิวง่ายขึ้น รวมทั้งอาการกระหายน้ำด้วย อาจเป็นอาการคนท้อง อาจจะไม่ใช่วิถีคนอ้วน แต่เป็นสัญญาณว่ากำลังตั้งครรภ์ได้ เพราะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น โดยคนท้องบางคน นอกจากจะหิวบ่อย หิวง่ายแล้ว ยังอาจจะอยากกินอาหารแปลก ๆ ที่ไม่เคยกินมาก่อนด้วย ซึ่งหลายคนก็เรียกว่าอาการ “แพ้ท้อง”
– อ่อนเพลีย ง่วงนอน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้แม่ท้องง่วงนอนบ่อย นอนเยอะขึ้น แต่หากไม่ได้นอนหลับเพียงพอ หรือนอนหลับไม่มีคุณภาพ ตื่นบ่อย ก็อาจทำให้เกิดอาการร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลียได้
– อารมณ์แปรปรวน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ อาจส่งผลต่ออารมณ์ไปด้วย ดังนั้นปกติที่มีอารมณ์แบบนี้ตอนช่วงมีประจำเดือน แต่หากประจำเดือนขาด เพราะกำลังตั้งครรภ์อาจจะมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โมโหได้ง่าย เพิ่มขึ้นไปได้อีก โปรดทำความเข้าใจกับคนรอบข้างด้วยว่าเป็น อาการคนท้อง
– ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มสูงขึ้นอาจไปกระตุ้นให้กระบวนการย่อยอาหาร และขับถ่ายทำงานช้าลง จึงทำเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อยขึ้นได้ หรือ อาจจะลุกลามไปจนเกิดอาการท้องผูกได้ด้วย
– ปัสสาวะถี่ขึ้น เพราะขนาดมดลูกโตขึ้นจึงกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น ซึ่งอาจไม่เกิดในช่วงตั้งครรภ์แรก ๆ แต่เริ่มมีอาการเมื่อท้องเริ่มใหญ่ขึ้น
การตรวจการตั้งครรภ์ ตรวจด้วยวิธีไหนบ้าง ?
– ตรวจด้วยชุดตรวจตั้งครรภ์ เมื่อมีอาการ เหมือนจะเป็น อาการคนท้อง วิธีเบื้องต้นที่สามารถตรวจการตั้งครรภ์ คือ ใช้ชุดตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง ซึ่งซื้อได้จากร้านขายยา แต่เป็นการตรวจเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งควรตรวจใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ให้ถูกวิธี เนื่องจากชุดตรวจแต่ละยี่ห้อ อาจมีรายละเอียดการใช้ต่างกัน และตรวจในระยะเวลาที่เหมาะสม และควรตรวจห่างจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดอย่างน้อย 14 วัน
ทั้งนี้การตรวจด้วยชุดตรวจตั้งครรภ์ ผลการตรวจอาจจะไม่ถูกต้อง 100% ดังนั้นหากอยากแน่ใจว่าท้อง ไม่ท้อง ท้องจริงหรือเปล่า ควรไปให้แพทย์ตรวจอีกครั้งหนึ่ง
– ให้แพทย์ตรวจการตั้งครรภ์ แพทย์จะทำการวินิจฉัยว่าตั้งครรภ์โดยดูจาก ประวัติอาการ ประวัติเพศสัมพันธ์ ประวัติขาด ประจำเดือน การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน และมีการยืนยันผลการตรวจโดยการนำ ปัสสาวะไปตรวจดูการตั้งครรภ์ สำหรับวิธีในการตรวจมี 3 วิธี
1) การตรวจปัสสาวะ ซึ่งหากตั้งครรภ์จะมีการฮอร์โมนของเด็กอยู่ในปัสสาวะ อย่างไรก็ตามการตรวจปัสสาวะอาจได้ผลไม่ถูกต้อง กรณีปัสสาวะข้นเกินไป หรือมีโปรตีนบางอย่างมากเกินไป หรือบางคนเป็นโรคไทรอยด์ ก็ทำให้ได้ผลไม่ตรง คือ ไม่ได้ท้องจริงแต่เกิดผลว่าท้อง เป็นต้น
2) การตรวจภายใน นอกจากการตรวจปัสสาวะ ซักประวัติแล้ว อาจตรวจภายในร่วมด้วย โดยหากตรวจภายในแล้ว อาการของการตั้งครรภ์ คือ ปากมดลูกบวม มดลูกโตขึ้น มดลูกนิ่มขึ้น แต่การตรวจภายในบางคนอาจไม่สะดวก และ
3) การอัลตราซาวนด์ โดยเป็นการตรวจการตั้งครรภ์ เพื่อยืนยันว่ามีเด็กอยู่ในโพรงมดลูกจริง ซึ่งบางคนผลตรวจปัสสาวะเป็นบวก แต่ไม่ได้ตั้งครรภ์จริง เช่น เป็นท้องไข่ลม ก็ได้
ดูแลตัวเองเมื่อ “ตั้งครรภ์ระยะแรก”
เมื่อเช็กอาการคนท้อง หรือ ตรวจว่าตั้งครรภ์แน่แล้ว สิ่งที่ต้องทำ มีอะไรบ้าง เพื่อดูแลตัวเอง และลูกน้อยในครรภ์ให้แข็งแรง มีพัฒนาการที่ดี
– ฝากครรภ์ หากตรวจพบว่าตั้งครรภ์แล้ว สิ่งที่ควรทำ คือ ไปฝากครรภ์ เพราะการฝากครรภ์เนิ่น ๆ แพทย์จะช่วย ดูแลตรวจคัดกรองความผิดปกติต่าง ๆ ฉีดวัคซีน เสริมวิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น โฟลิค ธาตุเหล็ก หรือ วิตามินที่คนท้องต้องการ รวมทั้งตรวจว่าทารกในครรภ์มีพัฒนาการอย่างไร เพื่อให้คลอดออกมาได้อย่างสมบูรณ์แข็งแรง
– กินวิตามินเสริม สำหรับคนท้อง ที่ตั้งครรภ์โดยไม่ได้เตรียม หรือวางแผนไว้ อาจจะต้องเสริมวิตามิน แร่ธาตุที่จำเป็นเพิ่มขึ้น ซึ่งคุณหมอมักจะจ่ายยา วิตามินเสริมมาให้ เช่น วิตามินเสริมธาตุเหล็ก สำหรับคนท้อง โฟลิก เพื่อบำรุงครรภ์ ช่วยให้ลูกแข็งแรง ลดความเสี่ยงพิการ ซึ่งควรกินยา หรือวิตามินที่ได้มาให้ครบถ้วน
– กินอาหารที่มีประโยชน์ นอกจากเสริมวิตามินแล้ว คนท้องควรรับประทานที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่
– ดูแลตัวเองมากขึ้น ดูแลพักผ่อน นอนหลับให้มากขึ้น ไม่เครียด ซึ่งเป็นการดูแลตัวเองทั่ว ๆ ไป เพราะคนท้องไม่ใช่คนป่วย เพียงแต่ระมัดระวังบางเรื่องให้มากขึ้น เช่น อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับคนท้อง หรือ อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์