เห็นลูกไอแต่ละที พ่อแม่ก็ใจจะขาด ยิ่งนานวัน ลูกน้อยก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดไอ หาหมอ ทำสารพัดวิธีแล้ว แต่ก็ยังมีอาการ “ไอเรื้อรัง” ยาวนานหลายสัปดาห์ อาการไอเรื้อรัง เกิดจากอะไร แล้วทำอย่างไรลูกถึงจะหยุดไอ หายไอ อาการดีขึ้นได้บ้างนะ
อาการแบบไหนเรียกว่า “ไอเรื้อรัง”
การไอ เป็นกลไกทางร่างกายอันหนึ่งในการป้องกันตนเอง หรือ กำจัดสิ่งแปลกปลอมจากร่างกาย เช่น กำจัดเสมหะ เพื่อพยายามรักษาตนเองให้แข็งแรง ให้หายใจได้สะดวกขึ้น แต่ว่าถ้าลูก หรือ เด็ก ๆ มีอาการไอนานหลายสัปดาห์ก็ยังไม่หาย อาจเรียกว่า “ไอเรื้อรัง”
ไอเรื้อรัง จะมีอาการไอต่อเนื่องยาวนานถึง 1 เดือน หรือ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งระยะเวลาค่อนข้างนานมาก ก็คงจำเป็นที่จะต้องพาลูกไปหาคุณหมอ หรือหาสาเหตุที่ทำให้เด็กมีอาการไอเรื้อรัง
สาเหตุของ “ไอเรื้อรัง” ในเด็ก
อาการไอเรื้อรัง คือ อาการไอยาวนานมากกว่า 4 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งสาเหตุที่เด็ก ไอนาน ไอไม่หาย หรือ ไอเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่
– โรคหืด (Asthma) เป็นโรคที่มีการอักเสบของหลอดลม ทำให้เกิดการอุดกั้นของหลอดลม และหลอดลมมีความไวมากกว่าปกติ ลูกจะมีอาการไอเรื้อรัง หอบ หายใจมีเสียงวี๊ด โดยอาการเป็นมากเวลากลางคืน อากาศเย็น หรือออกกำลังกาย วิ่งเล่น ออกแรงมาก ๆ
– อาการเสมหะ น้ำมูกไหลลงคอ (postnasal drip syndrome) เมื่อลูกสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งระคายเคืองต่าง ๆ เช่น อากาศเย็น จะกระตุ้นต่อมสร้างน้ำมูกในจมูก ซึ่งอาจไหลออกมาทางจมูกส่วนหน้า หรือไหลลงคอ (postnasal drip) ซึ่งน้ำมูกที่ไหลลงคอ ก็จะกลายเป็นสเลด หรือเสมหะในคอนั่นเอง ทำให้มีอาการไอ หรือ น้ำมูกได้ อาการไอจะดีขึ้นหลังจากรักษา โรคไซนัสอักเสบ และ โรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
– ภาวะกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux) อาการไอของลูก อาจเกิดจากน้ำย่อยซึ่งเป็นกรดมีการไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังขึ้นได้
– โรคไอกรน เกิดจากการติดเชื้อ Bordetella pertussis เด็กจะมีอาการไอถี่ติดกันเป็นชุด ๆ
และไอรุนแรง จนเกิดเลือดออกในที่ต่าง ๆ เช่น เลือดออกในเยื่อบุตา เป็นต้น
– วัณโรคปอด ลูกมีอาการไอ ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ไข้น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกตอนกลางคืน เป็นต้น โดย เด็กมักได้รับเชื้อมาจากคนใกล้ชิดในครอบครัว
– การไอหลังการติดเชื้อ เป็นอาการไอที่เกิดขึ้นตามหลังการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดิน
หายใจ ส่วนใหญ่เด็กจะมีอาการไอแห้ง ๆ และอาการหายไปได้เอง แต่อาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์
– การสำลักสิ่งแปลกปลอม พบบ่อยในเด็กอายุ 1-3 ปี โดยการสำลักอาหาร หรือ สิ่งแปลกปลอม
ลงไปในหลอดลม มักทำให้เกิดอาการไอแบบเฉียบพลัน แต่ถ้าสิ่งแปลกปลอมตกค้างอยู่นานจะทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังได้
ลูกไอเรื้อรัง ทำอย่างไรให้หายไอ
– สังเกตอาการไอของลูก ลูกไอแบบไหน มีเสมหะดวยหรือไม่ มักไอเวลาใดของวัน มีอะไรกระตุ้นใหลูกไอมากขึ้น หรือ มีอะไรที่ทำให้อาการไอลดลงบ้าง ควรสังเกตให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคุณหมอ หรือ เภสัชกร ใช้ในการวินิจฉัย หาต้นเหตุ และ รักษาอาการไอ ให้ได้ตรงจุดที่สุด
– ระวังการใช้แป้งฝุ่น เด็กกับแป้งฝุ่น เป็นของคู่กัน ลองสังเกตหากลูกมีอาการไอเรื้อรัง ไอไม่หาย อาจพบว่าลูกชอบเล่นแป้ง เวลาแม่เผลอ ชอบเอาแป้งมาทาตัว ทาหน้า ทุกวัน วัน ซึ่งผงฝุ่นจากแป้ง หากสูดหายใจเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้มีอาการระคายเคือง และเกิดอาการไอได้ จึงควรเลี่ยงการใช้แป้งฝุ่นทาหน้าลูกเป็นประจำ ถ้าใช้ควรใช้เพียงเล็กน้อย ทาบริเวณตัว และเก็บแป้งให้พ้นมือลูกด้วย
– ควันบุหรี่ตัวอันตราย หลายครอบครัวที่คุณพ่อ หรือ คนในครอบครัวสูบบุหรี่ ถึงแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ต่อหน้าเด็กโดยตรง แต่ควันในบ้าน ควันบุหรี่มือสอง ก็มีโอกาสที่เด็กจะสูดดมเข้าไป แม้เพียงเล็กน้อย แต่สะสมนานวัน ก็มีผลต่อเด็กได้ อาการแรกเริ่มคือ อาการไอเรื้อรัง แต่หากปล่อยไว้อาจส่งผลกับอาการเกี่ยวกับโรคปอดได้ เพื่อลูกน้อยที่เป็นที่รัก จึงควรเลิกสูบบุหรี่ให้ได้ เพื่อสุขภาพของตัวเอง และของลูกด้วย
– ใส่หน้ากากกันฝุ่น ปัญหาฝุ่นละออง ฝุ่น PM 2.5 ที่คละคลุ้ง เป็นปัญหาที่แก้ไม่หายสักทีในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ดังนั้นควรให้ลูกใส่หน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น เมื่อต้องออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วย ไอ หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ลูก ไอเรื้อรัง ไอไม่สายสักทีเพราะ ค่าฝุ่นละอองที่เพิ่มขึ้น
– หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ เด็กหลายคนมีอาการไอเรื้อรัง เพราะภูมิแพ้ ซึ่งหากสังเกต และรู้ว่าลูกแพ้อะไร ควรเลี่ยงให้ได้มากที่สุด เช่น เด็กบางคนแพ้อากาศ เวลาอากาศเปลี่ยน เจออากาศเย็นอาจทำให้ไอ แพ้ไรฝุ่นในบ้าน เตียงนอน หมอน ผ้าห่ม ตุ๊กตาตัวโปรด ก็อาจทำให้แพ้จนมีอาการไอเรื้อรังไม่หายสักที
– ดื่มน้ำอุ่น ช่วยละลายเสมหะ นอกจากดื่มน้ำอุ่นเพื่อช่วยละลายเสมหะ ให้หลุดออกมาได้ง่ายแล้ว การอาบน้ำอุ่น หรือสูดไอน้ำอุ่น จะช่วยให้เสมหะ และอาการไอลดลงด้วย
– ใช้ยาขับเสมหะ หรือ ยาละลายเสมหะ หากลูกไอมีเสมหะ ยาละลายเสมหะจะช่วยให้เสมหะข้นหนืดน้อยลง และขับออกมาจากร่างกายได้ง่ายขึ้น ควรเลือกใช้ ยาละลายเสมหะสำหรับเด็ก ซึ่งมีตัวยาที่ปลอดภัย เช่น Carbocisteine และใช้ในคำแนะนำของแพทย์ หรือเภสัชกร
– หาหมอเพื่อรักษาอาการไอ หากมีอาการไอเรื้อรัง ไม่หายสักที อย่าปล่อยไว้ ควรไปพบแพทย์ หากการวินิจฉัยถูกต้อง การรักษาที่ถูกต้อง เด็กก็จะหายไอได้ในที่สุด
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GedGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GedGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife