หน้าฝน เป็นช่วงที่มียุงลายชุกชุม ทำให้เกิดโรคระบาดที่มียุงลายเป็นพาหะได้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือโรค “ชิคุนกุนยา” หรือ “ไข้ปวดข้อยุงลาย” ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไข้สูง และปวดตามข้อ ฉะนั้นอย่าประมาท! มาดูกันว่า โรคชิคุนกุนยา มีที่มาที่ไปอย่างไร และมีอาการ วิธีรักษา และป้องกันยังไงบ้าง
- 6 โรคหน้าฝน ที่ต้องระวัง หลีกเลี่ยงให้ดี!
- รู้เท่าทัน! 9 อาการไข้เลือดออก พร้อมวิธีรักษาและป้องกันโรค
- วิธีลาขาด ไข้หวัดหน้าฝน และไอเทมต้องมี! ในฤดูฝนนี้
ชิคุนกุนยา คือโรคอะไร ติดต่อได้อย่างไร?
ชิคุนกุนยา (Chikungunya) คือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มี “ยุงลายบ้าน” และ “ยุงลายสวน” เป็นพาหะนำโรค ติดต่อจากยุงสู่คน แต่ไม่ติดต่อจากคนสู่คน
การติดต่อเกิดจากยุงลายตัวเมียกัด และดูดเลือดของคนที่กำลังป่วยเป็นไข้หวัด หรือมีเชื้อไวรัส แล้วไปกัดผู้อื่นต่อ ก็จะนำเชื้อไปสู่คนนั้น ๆ
โรคนี้พบได้ในทุกอายุ รวมทั้งทารกในครรภ์เมื่อมารดาติดเชื้อไวรัสนี้ (พบได้น้อย) และโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกันทั้งในผู้ชาย และผู้หญิง โรคนี้ระบาดอยู่เป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในหน้าฝนหากมีไข้สูง ก็อย่าลืมนึกถึงโรคชิคุนกุนยา การซักประวัติคนเจ็บป่วยในครอบครัวและละแวกบ้าน เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การวินิจฉัยโรคได้
ทำไมถึงชื่อ ชิคุนกุนยา มีที่มาจากไหน?
คำว่า ชิคุนกุนยา เป็นภาษาชนเผ่าในประเทศแทนซาเนีย (Tanzania) แปลว่า โค้งงอ (ปวดจนตัวงอ) และพบการระบาดครั้งแรกในประเทศแทนซาเนีย โรคนี้จึงถูกตั้งชื่อตามภาษาถิ่นกำเนิดของโรค ส่วนในไทยนำมาตั้งเป็นชื่อโรคภาษาไทยว่า “ไข้ปวดข้อ” หรือ “ไข้ปวดข้อยุงลาย”
สถานการณ์การระบาดของโรค
โรคชิคุนกุนยาพบครั้งแรกที่ ประเทศแทนซาเนีย ในปีพ.ศ.2495 ต่อมาในปีพ.ศ.2548 – 2549 เกิดการระบาดใหญ่ที่หมู่เกาะตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย และกระจายไปยังประเทศอื่น ๆ ได้แก่ สหภาพโคโมรอส สาธารณรัฐมอริเชียส และสาธารณรัฐเซเชลส์ในระยะเวลาใกล้เคียงกันเกิดการระบาดในทวีปเอเชีย ได้แก่ ประเทศอินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์และมาเลเซีย
ในประเทศไทยระบาดครั้งแรกในปีพ.ศ.2501 จังหวัดกรุงเทพ จนถึงปีพ.ศ.2513 มีการรายงาน จํานวนผู้ป่วยลดลงเรื่อย ๆ จนไม่พบการระบาดอีก แต่หลังจากผ่านไป 10 ปีกว่า ก็พบการกลับมาระบาดอีกครั้งในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันนี้
อาการของโรคชิคุนกุนยา มีอะไรบ้าง?
เมื่อผู้ป่วยถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยากัด จะมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2-5 วัน และเมื่อครบระยะฟักตัว อาการจะแสดงออกดังนี้
- มีไข้สูงเฉียบพลัน ถึง 40 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 วัน หลังจากนั้นไข้จะลดลง
- มีอาการปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ และผู้สูงวัยจะมีอาการปวดข้อนานเป็นเดือน หรือเป็นปี
- มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย คล้ายไข้เลือดออก ขึ้นในบริเวณลำตัว อาจพบที่แขน-ขา
- ปวดศีรษะ ปวดตา ตาแดง ตากลัวแสง เห็นแสงสว่างแล้วน้ำตาไหลแต่ไม่มาก และอ่อนเพลีย
- มีอาการไอ โดยเฉพาะในเด็ก อาจไอมีเสมหะ หรือไม่มีเสมหะ
- คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสีย
หากผู้ป่วยสงสัยว่ากำลังป่วยเป็นโรคชิคุนกุนยา สามารถติดต่อขอส่งตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจยืนยันโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และรายงานโรคได้ที่ สถาบันวิจัยสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
การวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยา
เมื่อผู้ป่วยไปพบแพทย์ แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติ และอาการต่าง ๆ หลังจากนั้นจะมีการเจาะเลือดผู้ป่วยส่งห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันโรค และหาเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นการวินิจฉัยโรคชิคุนกุนยาที่ดีที่สุด โดยทราบผลเร็ว
ภายใน 1-2 วัน หรือถ้านานอาจทราบใน 1-2 สัปดาห์
โรคชิคุนกุนยา อันตรายถึงชีวิตหรือไม่?
ชิคุนกุนยาเป็นโรคที่ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่จะทำให้ผู้ป่วยปวดตามข้อ ทรมานอยู่หลายเดือน แต่อาการรวม ๆ ของโรคจะเบากว่า โรคไข้เลือดออก ที่เกิดจากยุงลายเหมือนกัน
โรคชิคุนกุนยา แตกต่างกับไข้เลือดออกอย่างไร?
โรคไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยามียุงลายเป็นพาหะเช่นเดียวกัน รวมถึงอาการที่แสดงออกยังคล้ายคลึงกัน จึงอาจพบผู้ป่วยเป็นทั้ง 2 โรคพร้อม ๆ กันได้ อย่างไรก็ตาม โรคชิคุนกุนยามีความรุนแรงน้อยกว่าโรคไข้เลือดออกมาก
ความแตกต่างของโรคชิคุนกุนยา และไข้เลือดออก มีดังนี้
- ผู้ป่วยที่ติดเชื้อชิคุนกุนยาจะมีไข้สูงขึ้นอย่างเฉียบพลันกว่าโรคไข้เลือดออก
- ระยะเวลาของไข้ก็สั้นกว่าเพียง 2-4 วันเท่านั้น (ไข้สูง 2 วันแรก จากนั้นไข้จะลดลงหรือหายไป) ขณะที่ไข้เลือดออก จะเป็นไข้นานถึง 4-7 วัน
- ส่วนใหญ่ไม่พบว่าผู้ป่วยโรคชิคุนกุนยาเกิดอาการช็อค เพราะเชื้อชิคุนกุนยาไม่ทำให้ พลาสม่ารั่วออกนอกเส้นเลือด
- พบผื่นแดงตามร่างกาย ตาแดง และภาวะปวดตามข้อได้มากกว่าผู้ป่วยไข้เลือดออก
การรักษาโรคชิคุนกุนยา
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาไวรัสชิกุนคุนยาโดยเฉพาะ รวมถึงไม่มีวัคซีนป้องกัน ดังนั้นการรักษาจึงเป็นไปตามอาการ ดังนี้
- เมื่อมีไข้หวัด ให้กินยาลดไข้บรรเทาหวัด (ไม่แนะนำให้ใช้ยากลุ่ม NSIADs หรือ corticosteroid)
- นอนพักผ่อนให้เต็มที่ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรค
- อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำเด็ดขาด ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- พักใช้งานข้อที่มีอาการปวด
- ในเด็กเล็กควรเฝ้าระวังภาวะชักจากไข้สูง (พบได้มากกว่าโรคไข้เลือดออก)
- รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
โรคชิคุนกุนยา หายภายในกี่วัน?
ถ้าผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีอาการของโรคไม่นานกว่า 1 สัปดาห์ อันดับแรกอาการไข้หวัด ปวดศีรษะจะหายไปภายใน 2-3 วัน รอยผื่นที่เคยขึ้นก็จะเริ่มหายไป หรือหายสนิทใน 7-14 วัน ส่วนอาการปวดตามข้อจะยังดำเนินต่อไป อาจนานเป็นเดือน หรือเป็นปี ซึ่งเป็นอาการที่ทรมานผู้ป่วยของโรคนี้เป็นอย่างมาก ฉะนั้นจึงควรป้องกันตนเองจากยุงลายให้ดี
มาตราการ 3 เก็บ ป้องกันโรคชิคุนกุนยา
- เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง
- เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
- เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำจะต้องปิดฝาให้มิดชิด หรือหมั่นทำความสะอาด เปลี่ยนถ่ายน้ำ ใส่ทราย หรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำป้องกันไม่ให้ยุงลายมาวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรค คือ โรคชิคุนกุนยา โรคไข้เลือดออก และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
อ้างอิง : 1. กระทรวงสาธารณสุข 2. กรมควบคุมโรค 3. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 4. สสส. 5. cimjournal