สเตียรอยด์ (Steroids) ชื่อยาที่ใคร ๆ ก็ต้องเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง โดยเสตียรอยด์ถูกนำไปใช้ทั้งในวงการแพทย์เพื่อรักษาโรค วงการกีฬาเพื่อเสริมสมรรถภาพร่างกาย หรือแม้กระทั่งวงการความสวยความงาม ก็มีการใช้สเตียรอยด์เช่นกัน จะว่าไป… เจ้ายาสเตียรอยด์นี้มีสรรพคุณครอบจักรวาล และอาจเปรียบเสมือนเทวดาในคราบมัจจุราช เพราะ ถ้าใช้ถูกก็จะช่วยชีวิต แต่ถ้าใช้ผิดอาจถึงตายได้!! งั้นไปทำความรู้จักเจ้าสารสเตียรอยด์กับGedGoodLife กันดีกว่า…
สเตียรอยด์ คืออะไร?
สเตียรอยด์ (Steroids) คือฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเองได้ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดต่าง ๆ ควบคุมสมดุลน้ำ และเกลือแร่ กดภูมิคุ้มกัน ปรับความเครียด เป็นต้น
สเตียรอยด์ที่ใช้ในทางการแพทย์นั้น เรียกว่า คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) เป็นสารที่สังเคราะห์เลียนแบบสเตียรอยด์ที่ร่างกายสร้างขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงใช้ทดแทนในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนดังกล่าวได้ โดยยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์นี้ ตามกฎหมายต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น
สเตียรอยด์ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- สเตียรอยด์ธรรมชาติ ที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นได้เอง
- เสตียรอยด์สังเคราะห์ ที่มนุษย์ผลิตขึ้นเลียนแบบสารภายในร่างกาย
สเตียรอยด์ธรรมชาติ จะถูกสร้างขึ้นเพียงเล็กน้อย เพื่อทำหน้าที่ต้านการอักเสบ ลดอาการปวดต่าง ๆ ปรับความเครียด หรือปรับความอ่อนเพลียไม่มีแรง ให้เป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว คอยควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ เพราะคุณสมบัติครอบจักรวาลนี้เอง ที่ทำให้มนุษย์ผลิตสเตียรอยด์สังเคราะห์ขึ้นมาบ้าง มีทั้งในรูปแบบของการฉีด กิน ทา หยอดตา หรือพ่น เพื่อใช้บรรเทาอาการของโรค
ความมหัศจรรย์ของ สเตียรอยด์
สเตียรอยด์ เป็นตัวยาที่มีมีสรรพคุณรักษาโรคได้หลากหลาย และถูกนำมาใช้ทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง ด้วยลักษณะอันสำคัญคือ เป็นยาที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อในร่างกาย ลดอาการ ปวด บวม แดง ร้อน มีฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกัน สรรพคุณสำคัญของยาในกลุ่มนี้คือ สเตียรอยด์เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว เห็นผลเร็ว
สเตียรอยด์จึงมักถูกใช้ในการรักษาอาการปวดของกล้ามเนื้อ โรคภูมิแพ้ในระดับที่รุนแรง หรือโรคทางเดินหายใจที่มีการอักเสบของหลอดลม เพื่อบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บป่วยน้อยลง
เมื่อใช้ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าอาการเจ็บปวดหายไปอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่ากินปุ๊บแทบจะหายปั๊บ ลดอาการอักเสบได้รวดเร็วว่องไว ที่เคยปวดก็หายปวด ที่เคยมีผื่นคัน ผื่นก็จะหาย อาการ คัดจมูกหายใจไม่ออก ที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อโพรงจมูก พอได้สเตียรอยด์เข้าไปก็ลดการระคายเคือง สามารถหายใจได้คล่องสบาย ทำเอาหลายคนหลงดีใจว่า ตัวเองหายแล้ว ทั้งที่จริงสเตียรอยด์เพียงแค่ทำหน้าที่เพียงหยุดอาการไว้เท่านั้น พอยาหมดฤทธิ์ หากเกิดอาการแพ้ขึ้นอีก อาการที่หยุดไปแล้วก็จะกลับมาเหมือนเดิม
ยาสเตียรอยด์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก
1. ยาสเตียรอยด์ที่ใช้ภายนอก (External Use) หวังผลการรักษาให้ออกฤทธิ์เฉพาะที่
ยาหยอดตา: สำหรับการอักเสบที่ตา เยื่อบุตาขาวอักเสบ
ยาพ่นจมูก: ใช้ควบคุมอาการภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ
ยาสูดพ่นทางปาก: ใช้ควบคุมอาการทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง
ยาทาทางผิวหนัง: ใช้สำหรับกดภูมิคุ้มกัน หรืออาการผื่นแพ้ที่ผิวหนัง
2. ยาสเตียรอยด์ออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย (Systemic Use) หวังผลการรักษาที่ให้ออกฤทธิ์ทั่วร่างกายทุกระบบ เช่น ยาฉีด และยารับประทาน ส่วนใหญ่ใช้ลดการอักเสบภายใน หรือเพื่อกดภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคภูมิแพ้ตนเอง (SLE) หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง และ อาการภูมิแพ้ทางผิวหนังหรือทางเดินหายใจที่รุนแรง เป็นต้น
ข้อควรระวังในการใช้ สเตียรอยด์
แม้สเตียรอยด์ จะเป็นยาที่ให้ประสิทธิภาพในการรักษาค่อนข้างดี ทำให้หายจากการเจ็บป่วยได้เร็ว แต่นั่นก็อาจจะไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป สเตียรอยด์เป็นยาที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างรุนแรง จึงอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ต่อร่างกายผู้ใช้ได้ หากใช้ในปริมาณมาก หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ผู้ใช้ยาสเตียรอยด์จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
การใช้สเตียรอยด์เป็นเวลานาน อันตรายอย่างไร?
- ภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกดให้ลดลง ทำให้เกิดการติดเชื้อง่าย แผลหายช้า บางรายแผลอาจลุกลามทั่วร่างกาย จนเกิดการติดเชื้อเข้าในกระแสเลือด และอาจปิดบังอาการแสดงของโรคติดเชื้อ กว่าจะตรวจพบ เชื้อโรคก็ลุกลามรุนแรงมากจนทำให้เสียชีวิต
- อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุ หรือเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ โดยไม่ต้องมีอาการปวดท้องมาก่อน
- ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ เกิดภาวะน้ำตาลสูงได้ง่าย
- ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงปกติได้ อาจเกิดภาวะความดันโลหิตสูงโดยไม่มีสัญญาณเตือน และอาจถึงขั้นเส้นเลือดในสมองแตกได้
- เกิดภาวะกระดูกพรุน แตกหักง่าย
- ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย แขนขาอ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหยุดเต้น
- ยาหยอดตาที่ผสมสเตียรอยด์ อาจทำให้เกิดต้อหิน ต้อกระจก ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตาได้ง่ายอาจร้ายแรงถึงขั้นตาบอด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
- สเตียรอยด์ชนิดยาทาภายนอก ทำให้ผิวหนังบาง เส้นเลือดที่ผิวหนังแตกง่าย เกิดเป็นรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังอักเสบ มีผื่นแพ้ เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- อารมณ์แปรปรวน มีปัญหานอนไม่หลับ
- ในผู้ชาย อาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ เช่น ปริมาณอสุจิลดลง เป็นหมัน หรือมีบุตรยาก อัณฑะเล็กลง หย่อนสมรรถภาพทางเพศ ผมร่วง เต้านมมีขนาดใหญ่ขึ้น
- ในผู้หญิง อาจมีขนดกเพิ่มขึ้น หน้าอกเล็กลง เสียงต่ำกว่าปกติ ประจำเดือนผิดปกติ ผมร่วง ความต้องการทางเพศสูงขึ้น
รู้ได้อย่างไรว่าติดสเตียรอยด์?
ผู้ที่สงสัยว่าตนเองกินยา หรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพ ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์หรือไม่ สามารถสังเกตง่าย ๆ ในเบื้องต้น ดังนี้
- หลังจากกินยา หรืออาหารเสริมบำรุงสุขภาพ ชนิดนี้แล้ว อาการปวดเมื่อยหายไปอย่างรวดเร็ว
- เจริญอาหาร หิวบ่อย กินอาหารได้เยอะขึ้น
- ใบหน้าบวมแดงจนเห็นเส้นเลือดฝอย
- ผลิตภัณฑ์มีการโฆษณาอวดอ้างเกินจริง เช่น อ้างว่าสามารถรักษาโรคได้สารพัดโรค แบบ ครอบจักรวาล รวมถึงสามารถรักษาโรคที่การแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคเบาหวาน อัมพาต มะเร็ง
- การขายมักเป็นการบอกต่อ ๆ กัน ส่วนสถานที่ขายก็มักจะไม่มีหลักแหล่งที่แน่นอน เช่น ขายทางรถเร่ ส่งทางไปรษณีย์ หากมีผู้รับมาขายต่อในชุมชน ก็มักไม่สามารถระบุแหล่งผลิตหรือผู้ขายได้อย่างชัดเจนแน่นอน
- มักใช้เลขทะเบียนตำรับยาปลอม (ผู้บริโภคสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เวปไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา http://www.fda.moph.go.th คลิกเลือก ข้อมูลผลิตภัณฑ์ หรือสอบถามได้ที่ 0-2590-7191
เรียกได้ว่า สเตียรอยด์จะช่วยกดอาการเจ็บป่วยบางอย่างให้คุณอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ปิดสัญญาณเตือนภัยต่าง ๆ จากร่างกายของคุณไปหมดด้วย
หากร่างกายได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ร่างกายจะหยุดสร้างสเตียรอยด์ตามธรรมชาติ และเปลี่ยนมาพึ่งสารสเตียรอยด์จากภายนอก การหยุดใช้ยาสเตียรอยด์อย่างกะทันหัน จึงจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้
ดังนั้นหากคุณกำลังกินสเตียรอยด์ด้วยการซื้อมาเอง ไม่ใช่การรักษาโดยแพทย์ ก็อย่าหยุดยาเองเป็นอันขาด และขอให้รีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อหาทางลดยาอย่างปลอดภัย
รู้อย่างนี้แล้ว ครั้งหน้าหาก เป็นหวัด มีอาการ คัดจมูกหายใจไม่ออก หรือ น้ำมูกไหล เล็ก ๆ น้อย ๆ หากทานยาสามัญประจำบ้านแล้วยังไม่หาย ก็อย่าเพิ่งบ่ายหน้าไปพึ่งยาหมอตี๋ หรือซื้อยาสเตียรอยด์มาทานเองเลยนะ ไปหาหมอ พบแพทย์ พร้อมแจ้งอาการกับยาที่ทานไปแล้ว เพื่อให้คุณหมอได้ประเมินอาการและวางแนวทางรักษาต่อไปดีกว่า
หน่วยงานที่เราสามารถร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส
เมื่อพบยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องหรือน่าสงสัย
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาศูนย์เฝ้าระวัง และรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 88/24 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000โทรศัพท์ 0 2590 7354-55 โทรสาร 0 2590 1556 สายด่วน 1556E-mail :[email protected]
- สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด(กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข)
- โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง
- โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสถานีอนามัยทุกแห่ง
- ปรึกษา อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือ อสส. สำหรับ กทม.
ข้อมูลอ้างอิง :
โรงพยาบาลเวชธานี เรื่องยาสเตียรอยด์ http://bit.ly/2N1F1ML
เครือข่ายรณรงค์การใช้สเตียรอยด์ให้ปลอดภัยและเหมาะสม http://bit.ly/2FqQC3D
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี