ลำไส้อักเสบ เป็นโรคที่หลายคนไม่คิดว่าตัวเองจะเป็น เพราะอาการของโรคอาจจะเหมือนแค่ปวดท้อง ท้องเสีย อุจจาระบ่อย อาจจะคิดว่าตัวเองมีระบบขับถ่ายดี แต่อาการอาจจะคืบคลานจนเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกทีว่าตัวเองอาจจะป่วยเป็นลำไส้อักเสบเรื้อรังมากแล้ว
ลําไส้อักเสบ (Enteritis) เป็นโรคที่มีการอักเสบของลําไส้เรื้อรัง หรือเป็น ๆ หาย ๆ สาเหตุการเกิดยังไม่ชัดเจนเท่าไร ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม บางส่วนอาจเกิดจากภูมิต้านทานในร่างกายผิดปกติ อาจจะรุนแรงเกินไปแล้วไปทำร้ายตัวเองมากไปด้วย หรือเป็นเรื่องของพฤติกรรมการกินอาหารก็มีส่วนได้เช่นกัน พบได้ทุกช่วงอายุ แต่มักจะพบในช่วงอายุ 15 ถึง 40 ปี (เด็กเล็ก และผู้สูงอายุก็เป็นได้)
ลําไส้อักเสบ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 โรคหลัก ๆ คือ
1. การอักเสบของลำไส้เล็ก หรือ โรคโครห์น (Regional enteritis or Crohn’s disease) เป็นการอักเสบเรื้อรัง ที่มักเกิดในระบบทางเดินอาหาร สามารถเกิดได้ตั้งแต่ปาก ถึง ทวารหนัก แต่ ส่วนใหญ่จะเกิดที่ลำไส้เล็กส่วนปลาย และลำไส้ใหญ่ส่วนต้น เป็นแล้วอาจทำให้ลำไส้อุดตัน และผนังลำไส้อักเสบเป็นแผลลึกจนทะลุไปถึงอวัยวะอื่นที่อยู่ติดกันได้ รวมทั้งอาจมีภาวะโลหิตจางร่วมด้วย
2. โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) หรือ โรคยูซี จะเกิดขึ้นที่ผนังลำไส้ใหญ่เท่านั้น เมื่อเกิดการอักเสบแล้วจะกลายเป็นแผลเล็ก ๆ และบวม ทำให้ลำไส้ใหญ่ไม่สามารถดูดซึมน้ำจากอุจจาระได้ จึงเกิดอาการท้องเสีย หากเป็นมากอาจถึงขั้นเสียชีวิต
ลำไส้อักเสบ อาการเป็นอย่างไร ?
– มีอาการปวดท้องกะทันหัน หรือบางครั้งปวดท้องเวลาเดิม ซ้ำ ๆ
– ปวดอุจจาระบ่อย ถ่ายไม่เป็นเวลา บางครั้งก็ถ่ายไม่ออก
– อาการที่แสดงก็มักจะค่อยเป็นค่อยไป แต่จะเป็นเรื้อรัง จนปล่อยไว้
– หากทิ้งไว้นาน อาจมีเลือดออกมาทางอุจจาระ หรือท้องเสียกะทันหันโดยไม่ทราบสาเหตุ และทำให้เกิดแผลในลำไส้
– ถ่ายเป็นเลือดสด ๆ เป็นครั้งคราว ซึ่งอาจจะคิดว่าเป็นริดสีดวงทวาร แต่บางครั้งมีมูกปนด้วย เมื่ออาการอักเสบลุกลามไปถึงซิกมอยด์ (Sigmoid) และลำไส้ใหญ่ส่วนลง (Descending Colon) ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสียเป็นประจำ ถ่ายบ่อยครั้ง มีมูกและอาจจะมีเลือดปนเป็นครั้งคราว ปวดท้องเหมือนลำไส้บิด (Colicky) และอาจจะมีอาการปวดเบ่ง (Tenesmus) ผู้ป่วยจะเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย ถ้าอาการนี้เป็นอยู่นานผู้ป่วยจะเสียเลือดสารต่างๆ รวมทั้งโปรตีนไปอย่างมาก
– มีไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักลด
– ผอมแห้ง ตาโหล แก้มตอบ แขนขาลีบ (Muscle wasting)
ลำไส้อักเสบ รักษาอย่างไร หายยากไหม ?
คนที่ป่วยเป็นโรคลำไส้อักเสบ เมื่อป่วยแรก ๆ อาจจะยังไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นลำไส้อักเสบ เพราะอาการอาจจะคล้ายโรคอื่น ๆ จะรู้ว่าป่วยเป็นลำไส้อักเสบหรือไม่ ต้องมาตรวจส่องกล้องดู
การรักษาโรคลำไส้อักเสบนั้น หากรู้ผลแน่ชัดแล้ว คุณหมอจะวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง ซึ่งหากมารักษาเร็วยิ่งรักษาได้ง่าย หากปล่อยไว้ แผลในลำไส้ก็อาจจะมากขึ้น ใหญ่ขึ้น หรืออาจจะทะลุก็ได้ ดังนั้น ยิ่งมาช้าก็จะยิ่งรักษายาก อาจจะต้องใช้การรักษาที่รุนแรงขึ้น เช่น ผ่าตัด ตัดส่วนที่อักเสบหรือเป็นแผลออก
การรักษาลำไส้อักเสบ
– รักษาด้วยยา จะใช้การรักษาด้วยยาเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายของการรักษาคือ เพื่อให้เยื่อบุลำไส้คืนสู่สภาพปกติจนไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ และพบแพทย์ตามนัด เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีก
– การผ่าตัด ในกรณีที่ใช้ยารักษาแล้วแต่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์อาจต้องพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งในผู้ที่เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerative Colitis) อาจรักษาให้หายขาดได้ ในกรณีของโรคโครห์น (Crohn’s disease) ส่วนใหญ่แพทย์มักไม่ใช้การผ่าตัด เพราะไม่ได้ช่วยให้หายขาด
การกินอาหาร สำหรับโรคลำไส้อักเสบ
สำหรับคนที่ป่วยเป็นลำไส้อักเสบ อาหารการกินเป็นเรื่องสำคัญ
– กรณีโรคสงบ ไม่มีข้อห้ามของอาหาร ไม่จำเป็นต้องกินอาหารอ่อนเสมอ สามารถกินอาหารที่มีกากใยได้ หากไม่มีภาวะลำไส้ตีบตัน
– กรณีอยู่ในระยะกำเริบ ควรกินอาหารอ่อน หลีกเลี่ยงนม หรือผลิตภัณฑ์จากนม เนื่องจากอาจมีปัญหาขาดน้ำย่อยน้ำตาลในนมได้ ควรลดอาหารรสจัด อาหารย่อยยาก เช่น ไขมันสูง อาหารแปรรูป รวมถึงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ประเภทอาหารที่กินได้
โรคลำไส้อักเสบชนิดลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง เช่น ท้องเสีย หรืออุจจาระเป็นเลือดเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำ ขาดสารอาหาร หรือทำให้ระดับเกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล จึงต้องเลือกกินอาหารเป็นพิเศษ ซึ่งประเภทของอาหารที่ส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคนี้ ได้แก่
-ผัก และ ผลไม้ มีเส้นใยสูง จึงช่วยลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่ได้
– อาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น ไข่ขาว เนื้อไก่ ผักผลไม้ เป็นต้น เนื่องจากอาหารที่มีไขมันสูงอาจกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบขึ้นได้
– อาหารที่มีโซเดียมต่ำ เช่น ผักและผลไม้สด เนื้อสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงอาหารที่ไม่ใส่เกลือ แพทย์มักให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารชนิดนี้ในระหว่างการรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดการเกิดภาวะร่างกายบวมน้ำ
– อาหารที่ปราศจากแล็กโทส เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง หรือ น้ำนมข้าว เพราะผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้
– อาหารที่มีโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาแมกเคอเรล ปลาซาดีน ปลาจาระเม็ดขาว ปลาสำลี ปลากระพง ปลาช่อน เมล็ดแฟลกซ์ และถั่ววอลนัท จะช่วยบรรเทาอาการอักเสบในช่วงที่อาการของโรคกำเริบขึ้น
– น้ำดื่ม การดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากเมื่อโรคนี้กำเริบ ลำไส้จะไม่สามารถดูดซึมของเหลวได้ตามปกติ หากดื่มน้ำไม่เพียงพอจึงอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำตามมา
ข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคลำไส้อักเสบ
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า แพทยสมาคม ร่วมกับชมรมแพทย์ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร จัดทำโครงการกลุ่มผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง “IBD มีเพื่อน…Happy Life ถ้าลำไส้ไม่อักเสบเรื้อรัง”
โดยมีลักษณะเป็น patient support group มีกลุ่มของผู้ป่วยเป็นคนขับเคลื่อนกิจกรรมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ระหว่างแพทย์ที่ปรึกษา ผู้ป่วยและญาติเพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการดูแลและรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ตั้งแต่สาเหตุของการเกิดโรค อาการของโรค กระบวนวินิจฉัยและการรักษา แนวทางดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับสภาพการดำเนินชีวิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
นอกจากนี้ ได้จัดทำเว็บไซต์ www.ibdthai.com ให้เป็นช่องทางในการเข้าถึง และรู้จักกับโรคได้อย่างรวดเร็ว และเข้าใจง่ายด้วยข้อมูลที่ถูกต้องน่าเชื่อถือจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป
หากพบความผิดปกติในระบบขับถ่าย ถ่ายมีมูกเลือดปน ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะหากป่วยเป็นลำไส้อักเสบจริง แล้วปล่อยไว้ไม่รักษา เมื่อเป็นมากขึ้นก็อาจจะลำไส้ทะลุได้ บางทีอาจจะดูดซึมอาหารไม่ได้ เสี่ยงกับชีวิตได้