ไอเรื้อรัง เป็นสัญญาณของการเกิดโรคได้มากมาย โดยเฉพาะ โรคมะเร็งปอด ที่เป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ของการเสียชีวิตของคนไทยทั้งในเพศชาย และเพศหญิง ฉะนั้น หากใครที่กำลังไอเรื้อรังอยู่ต้องไม่ประมาท ควรรีบไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ จะได้รับการตรวจรักษาอย่างทันท่วงที และในบทความนี้ จะพาทุกคนไปเรียนรู้กันว่า อาการไอเรื้อรัง คืออะไร ไอนานแค่ไหนถึงเรียกว่าเรื้อรัง และสามารถบ่งชี้ถึงโรคอะไรได้บ้าง มาติดตามกันเลย!
– รู้หรือไม่? ยาลดความดันทำให้ไอเรื้อรัง ได้นะ!
– อาการไอเรื้อรัง ของลูกเกิดจากอะไร รักษายังไงดี ?
– 12 วิธีแก้ไอให้หายไวไว ลองทำดู ได้ผลแน่นอน!
ไอเรื้อรังคืออะไร ไอนานแค่ไหนเรียกว่าเรื้อรัง?
ไอเรื้อรัง หรือ Chronic Cough คือ อาการไอที่เกิดขึ้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ในผู้ใหญ่ไอติดต่อกันนานเป็นเวลา 8 สัปดาห์ขึ้นไป ในเด็กไอติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ในทางปฏิบัติ ผู้ป่วยไอเรื้อรังไม่จำเป็นต้องรอให้ไอนานถึง 8 สัปดาห์ (หรือ 2 เดือน) แต่ควรมาพบแพทย์เมื่อมีอาการไอนานเกิน 3 สัปดาห์ขึ้นไป เพื่อจะได้ประเมินหาสาเหตุของอาการไอได้ทันท่วงที
อาการไอเรื้อรังก่อให้เกิดปัญหาต่อชีวิตผู้ป่วย ดังต่อไปนี้
- ทางกาย (Physical) เช่น ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะวัณโรค และ มะเร็งปอด เป็นต้น
- ทางจิตใจ (Psychological) เช่น ขาดความมั่นใจในตนเอง มีความวิตกกังวล เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ เป็นต้น
- ทางสังคม (Social) เช่น ไม่กล้าเข้าสังคม เพราะกลัวจะไปไอใส่ผู้อื่น กลายเป็นคนเก็บตัวมากกว่าเดิม เป็นต้น
เราสามารถแบ่งชนิดของอาการไอ ตามระยะเวลาของอาการไอ ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1. ไอเฉียบพลัน – มีอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์ ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เป็นหวัด โพรงไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คอหรือกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพองกำเริบ และปฏิกิริยาจากโรคภูมิแพ้
2. ไอกึ่งเฉียบพลัน – มีอาการไอประมาณ 3-8 สัปดาห์ มักเกิดจากโรคติดเชื้อ หรือปฏิกิริยาหลังการติดเชื้อ
3. ไอเรื้อรัง – มีอาการไอนานกว่า 8 สัปดาห์ กลุ่มโรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหืด, โรคถุงลมโป่งพองและหลอดลมอักเสบเรื้อรัง, โรคระบบทางเดินหายใจส่วนบนเช่นไซนัสอักเสบ น้ำมูกไหลทางหลังจมูก, โรคกรดไหลย้อน, การสูบบุหรี่, ยาลดความดัน angitensin-converting enzymes
ไอเรื้อรัง มีสาเหตุจากอะไร?
- โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้
- โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง
- การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง
- เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม
- กรดไหลย้อน
- หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- หืด
- วัณโรคปอด
- มะเร็งปอด
- ใช้ยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด ACE-I เป็นระยะเวลานาน
- โรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ
ทั้งนี้ สาเหตุที่พบส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 85 ของผู้ป่วยที่แข็งแรงดีมาก่อน ไม่สูบบุหรี่ และมีภาพรังสีทรวงอกปกติ มักเกิดจาก โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง แล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคหืด และโรคกรดไหลย้อน
แพทย์ชี้! ไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด อาจเป็น “วัณโรคปอด”
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย นายกสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย แนะประชาชนหากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกกลางคืน หรืออยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยวัณโรค โดยเฉพาะเด็ก ให้ไปรับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งโรคนี้มียารักษาหายขาด จะได้ผลดีถ้ารับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอ
ระวัง! ไอเรื้อรัง อาจนำคุณไปสู่โรคเหล่านี้
– วัณโรคปอด ในระยะแรกอาจจะไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น จะมีอาการไอเรื้อรัง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายอาจไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย
– มะเร็งปอด จะมีอาการไอเรื้อรังเมื่อโรคเป็นมากขึ้น บางรายอาจไอออกมาเป็นเลือดสด ๆ บางรายอาจมีอาการเจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย
– ถุงลมโป่งพอง มักพบในผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่จัด หรืออยู่ใกล้กับผู้ที่สูบบุหรี่จัดมานาน มักไอแบบมีเสมหะเรื้อรัง หอบเหนื่อยง่าย มีหายใจเสียงดัง
– โรคหอบหืด มักมีอาการไอ โดยเฉพาะเวลากลางคืนเมื่ออากาศเย็น เหนื่อยง่ายและหายใจมีเสียงวี๊ด แต่ก็มีผู้ป่วยจำนวนมาก ที่เป็นโรคหอบหืดชนิดที่ไม่รุนแรง และไม่เคยมีอาการหืดจับหรือเหนื่อยง่ายเลย มีเพียงไอเรื้อรังเท่านั้น
– โรคภูมิแพ้อากาศ ผู้ป่วยมักจะมีอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล และมี น้ำมูกไหลลงคอ เวลานอน ทำให้มีอาการไอเรื้อรัง มักมีอาการเมื่อสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ขนสัตว์ อากาศเย็น เป็นต้น
– ไซนัสอักเสบ มักเป็นหวัดคัดจมูก หรือโรคภูมิแพ้อากาศนำมาก่อน บางรายอาการหวัดอาจดีขึ้นในช่วงแรก แล้วทรุดลงในภายหลัง มัก ไอเวลากลางคืน เพราะ น้ำมูกไหลลงคอ
– กรดไหลย้อน ผู้ป่วยที่มี กรดในกระเพาะ และกรดไหลย้อนกลับเข้ามาในหลอดอาหาร หรือ GERD อาจมีอาการไอเรื้อรังได้ มักไอแห้ง ๆ โดยเฉพาะหลังอาหาร หรือเวลาล้มตัวลงนอน อาจมีอาการแสบร้อนในอก หรือเรอเปรี้ยว ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
– ภาวะทางเดินหายใจไวต่อสิ่งกระตุ้น มักพบต่อเนื่องจากการเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ คือ เป็นหวัดคัดจมูก และหายแล้ว แต่ยังมีอาการไออยู่ มักจะไอมากในช่วงกลางคืน หรือเวลาที่อากาศเย็น ๆ ถูกลม เป็นต้น
– ภาวะทางจิตใจมีปัญหา มีคนเป็นจำนวนมากที่ไอ หรือกระแอม โดยที่ร่างกายต่างก็ปกติดี ไม่มีโรคใด ๆ อาการนี้เรียกกันว่า Psychogenic หรือ Habit Cough หรือก็คือ การไอจนติดเป็นนิสัย เมื่อเข้ารับการวินิจฉัย มักไม่พบว่ามีโรคที่เป็นสาเหตุของอาการไอ และมีการตั้งข้อสันนิฐานว่า น่าจะเป็นอาการไอเรื้อรังที่มีสาเหตุมาจากเหตุผลทางจิตใจ
ภาวะแทรกซ้อนของอาการไอเรื้อรัง
ภาวะแทรกซ้อนของอาการไอเรื้อรัง เป็นอาการที่อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ทำให้เกิดความยากลำบากในการทำกิจกรรมประจำวันต่าง ๆ เนื่องจากไอบ่อย และทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น
- เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- รู้สึกไม่สบายกล้ามเนื้อ
- นอนไม่หลับ
- เสียงแหบ
- เหงื่อออกมาก
- มีเลือดออกในตาเล็กน้อย
- ปัสสาวะเล็ด
- เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นไส้เลื่อน
- ไอมาก หรือไอรุนแรงจนซี่โครงหัก
ไอเรื้อรัง มีวิธีรักษาอย่างไร?
วิธีรักษาอาการไอเรื้อรังที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการ เพราะบางครั้งอาการไอเรื้อรังก็อาจหายเองได้ และบางครั้งก็เป็นโรคร้ายแรง หรือโรคที่ต้องรับการตรวจวินิจฉัย และรีบทำการรักษา จึงควรรีบไปพบแพทย์ และไม่ปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป
นอกจากนี้ คุณสามารถดูแลตนเอง ในระหว่างที่มีอาการไอเรื้อรังได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- ดื่มน้ำอุ่น อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
- กลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ เพื่อช่วยกำจัดเสมหะ
- เสริมหมอนเวลานอนให้สูงขึ้น เพื่อช่วยยกศีรษะและลำตัวช่วงบน
- ใช้ยาอม ยาแก้ไอ เพื่อลดอาการไอ
- ปฏิบัติตนตามแผนการรักษาที่แพทย์แนะนำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา
การป้องกันอาการไอเรื้อรัง
- งดสูบบุหรี่ เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของอาการไอเรื้อรัง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับฝุ่นควัน มลพิษ
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค ปอดบวม หลอดลมอักเสบ เพื่อป้องกันการติดโรค
- ในผู้ที่เป็นภูมิแพ้ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยการทานผักผลไม้ ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่อาจเป็น โรคหลอดลมอักเสบ หรือปอดปวม
อ้างอิง : 1. สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย 2. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 3. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข