หนึ่งในหน้าที่สำคัญของผิวหนัง คือ ป้องกันเชื้อโรค สิ่งแปลกปลอม สารระคายเคืองต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย หากผิวหนังไปสัมผัสสิ่งแปลกปลอม สารเคมีเข้าไป ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ ระคายเคืองต่าง ๆ ได้ หรือที่เรียกว่า “ผื่นแพ้สัมผัส” แล้วผื่นแพ้สัมผัส มีลักษณะอาการอย่างไร จะรักษายังไงให้หาย วันนี้ GedGoodLife มีคำตอบมาให้แล้ว
- เคลียร์ให้ชัด! โรคภูมิแพ้ ปัญหาสุขภาพยอดฮิตของคนไทย
- ไขข้อข้องใจ! โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก เกิดจากอะไร รักษายังไงดี?
- ผื่น! แพ้! คัน! หน้าพังเพราะ ฝุ่นPM2.5 ใช้ยาแก้แพ้ ช่วยลดอาการคันทางผิวหนัง
ผื่นแพ้สัมผัส คืออะไร?
ผื่นแพ้สัมผัส (Contact dermatitis) คือ ภูมิแพ้ผิวหนังที่เกิดขึ้น เมื่อผิวหนังสัมผัสกับสารก่อระคายเคือง หรือ สารก่อภูมิแพ้ เช่น เครื่องสำอาง น้ำหอม น้ำยาย้อมผม สารฟลูออไรด์ในยาสีฟัน ทรายแมว สิ่งสกปรกต่าง ๆ เป็นต้น
ชนิดของผื่นแพ้สัมผัส
ผื่นแพ้สัมผัส ที่เกิดจากการสัมผัสสารต่าง ๆ แบ่งได้ ดังนี้
1. ผื่นแพ้สัมผัสโดยตรง (Irritant contact dermatitis) เกิดจากการสัมผัสกับสิ่งที่ระคายเคือง จนทำลายเซลล์ผิวหนังโดยตรง
2. ผื่นแพ้สัมผัสสารก่อภูมิแพ้ (Allergic contact dermatitis) เป็นผื่นจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารที่สัมผัสทำให้เกิดผื่น เกิดจากปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันแบบ Delay-type hypersensitivity (type IV) ต่อสารก่อภูมิแพ้ (allergen) โดยเริ่มมีผื่นหลังจากสัมผัสประมาณ 7-10 วัน ต่อมาเมื่อสัมผัสกับสารชนิดนี้อีกจะเกิดการตอบสนอง มีผื่นคัน ผื่นแพ้สัมผัสใน 2-3 ชั่วโมง
3. ผื่นแพ้สัมผัสสารกลุ่มโปรตีน (Contact Urticaria and Protein contact dermatitis) โรคลมพิษจากการสัมผัส เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งกระตุ้นในลักษณะของ immediate
hypersensitivity (type I) ทำให้มีอาการคล้ายลมพิษ หลังสัมผัสสารในกลุ่มโปรตีน
4. ผื่นแพ้สัมผัส เนื่องจากแพ้สารร่วมกับแสง (Photoallergic contact dermatitis) โดยสารบางชนิดจะมีคุณสมบัติระคายเคือง หรือ เป็นสารก่อภูมิแพ้เมื่อถูกแสงแดด เช่น ครีมโกนหนวด ครีมกันแดดบางชนิด
สาเหตุของ ผื่นแพ้สัมผัส เกิดจากอะไร ?
– อาการแพ้จากการระคายเคืองโดยตรง เกิดจากสัมผัสสารระคายเคือง แล้วก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อผิวหนังโดยตรง
– อาการแพ้จากการเกิดภาวะภูมิแพ้ไวเกินปกติ เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาต้านทานต่อสารบางอย่างมากกว่าปกติ หรือ เป็นผื่นแพ้สัมผัสที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย
สารที่ทำให้เกิดอาการผื่นแพ้สัมผัสมีหลายชนิด เช่น
- สารทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์เคมีต่าง ๆ เช่น สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม แชมพู
- โลหะผสม เช่น นิกเกิล กระดุมโลหะ สร้อยข้อมือ สายนาฬิกา เครื่องประดับ
- เครื่องสำอาง เช่น น้ำหอม ยาย้อมผม ยาทาเล็บ
- แพ้ยาทาบางชนิด เช่น นีโอมัยซิน
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์จากยาง ถุงมือยาง พลาสเตอร์ยา กาว ปูนซีเมนต์ ฯลฯ
อาการของ “ผื่นแพ้สัมผัส”
อาการของผื่นแพ้สัมผัส แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ
1. ผื่นแพ้สัมผัสระยะเฉียบพลัน จะมีอาการบวมแดง มีตุ่มใส ๆ ที่ผิวหนังซึ่งจะแตกออกมีน้ำเหลืองเยิ้ม มักมีอาการแสบมากกว่าคัน ต่อมน้ำเหลืองบริเวณนั้นอาจจะใหญ่ขึ้น แต่ไม่เจ็บ
2. ผื่นแพ้สัมผัสระยะเรื้อรัง ผิวหนังจะหนา มีสีคล้ำขึ้น มีสะเก็ด มีอาการคันมาก รอยโรคจะเกิดบริเวณที่สัมผัสกับสารที่แพ้
“ผื่นแพ้หน้ากาก” อาการแพ้ยอดฮิตในยุคโควิด-19 ระบาด
โรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ ณ เวลานี้ ทำให้ หน้ากากอนามัย กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใส่ก่อนออกจากบ้าน และก็มีหลายคนที่สวมใส่แล้วเกิดผื่นแพ้ตามใบหน้า เพราะ ระหว่างที่ใส่หน้ากากอนามัยอยู่ เกิดการเสียดสีระหว่างผิวหนัง กับ หน้ากากอนามัย รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความอับชื้นจากเหงื่อ ครีม และเครื่องสำอางที่ทาบนใบหน้า แพ้ส่วนประกอบของหน้ากาก เช่น กาว ผ้า สีย้อมผ้า พลาสติก ยาง เป็นต้น
อาการที่มักเกิดขึ้นสำหรับคนแพ้หน้ากากอนามัย คือ เกิดผื่น ปื้น ตุ่มแดง และรู้สึกคัน บริเวณที่สวมหน้ากาก หรือบริเวณใบหู รายที่มีอาการรุนแรงอาจมีตุ่มน้ำ น้ำเหลืองซึม หรือหน้าบวม เป็นต้น
วิธีดูแลเบื้องต้นสำหรับผู้แพ้หน้ากากอนามัย
- สวมใส่เฉพาะหน้ากากอนามัยที่ใหม่ สะอาด และได้มาตรฐานเท่านั้น
- ไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานเกินไป
- เมื่อมีผื่นขึ้นใบหน้า ควรเลี่ยงการแต่งหน้า
- ถ้าใช้หน้ากากผ้า ให้ซักก่อนใส่ทุกครั้ง ด้วยสบู่อ่อน ๆ หรือน้ำยาซักผ้าเพียงนิดเดียวก็พอ
- ล้างหน้าให้สะอาด งดการถู และสครับใบหน้า
- หากอาการยังไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อรักษาให้ทันท่วงที
วิธีการป้องกันผื่นแพ้สัมผัส
– หลีกเลี่ยงไม่สัมผัสสารระคายเคือง หรือสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้แพ้ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน เพราะอาการแพ้ แม้จะรักษาหายแล้ว เมื่อสัมผัสกับสารที่ทำให้แพ้ซ้ำก็จะมีผื่นแพ้เกิดขึ้นได้อีก
– ใส่ถุงมือเมื่อต้องสัมผัสสารเคมี เช่น ล้างจาน ซักผ้า ทำความสะอาด แต่ก็ต้องระวังการใช้ถุงมือด้วย เพราะหากใช้ถุงมือยาง ถุงมือพลาสติกนาน ๆ ก็ทำให้เกิดเหงื่อ ความชื้น ความร้อนสะสม และเกิดความผิดปกติกับชั้นผิว ทำให้ระคายเคืองได้เช่นกัน
– เลี่ยงการสัมผัสน้ำนาน ๆ สวมถุงมือป้องกันเมื่อต้องทำงาน หรือ สัมผัสน้ำนานเกินวันละ 2 ชั่วโมง เพราะน้ำเป็นสารที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ หากสัมผัสนาน ๆ บ่อย ๆ เป็นประจำ เพราะน้ำสามารถผ่านชั้นขี้ไคลของผิวหนังได้โดยตรง ซึ่งก่อให้เกิดการบวมของชั้นดังกล่าว และเกิดความผิดปกติของเกราะคุ้มผิวตามธรรมชาติ
– ทาครีมบำรุงผิว โดยเลือกครีมบำรุงผิวที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำหอม (fragrance-free) และไม่มีส่วนประกอบของไขมันเยอะ (Lipid- rich moisturizer)
วิธีรักษาผื่นแพ้สัมผัส
1. ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเกลือ ในระยะที่มีผื่นอักเสบเป็นน้ำเหลือง หรือเป็นตุ่มหนอง ให้ล้างทำความสะอาดตุ่มหนองด้วย น้ำเกลือสำหรับล้างแผล แล้วใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลือประคบบริเวณที่เป็นครั้งละประมาณ 10 วันละ 2 ครั้ง จนกว่าน้ำเหลืองหรือหนองแห้ง อย่าบีบ อย่าแกะแผล เนื่องจากหากปากแผลเปิด อาจจะทำให้ติดเชื้อได้
2. ใช้ยาทาบริเวณผื่นแพ้ เช่น ยาที่มีส่วนผสมของ คอร์ติโคสเตอรอยด์ (corticosteroids)
3. รับประทานยาแก้แพ้ หรือ ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) เพื่อช่วยลดอาการคัน เพื่อป้องกันการแกะเกาบริเวณแผล ผื่นแพ้ ยาแก้แพ้ ช่วยลดอาการคัน เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ บรรเทาอาการคัน ที่ซื้อได้จากร้านขายยา ปลอดภัย และเป็นยาแก้แพ้ที่ไม่ทำให้ง่วง