ยาลอราทาดีน (Loratadine) เป็นยาแก้แพ้กลุ่มใหม่ หรือที่ทางการแพทย์เรียกว่ายาต้านฮีสทามีน (Antihistamines) กลุ่มไม่ทําให้ง่วงนอน (non-sedating antihistamines) ออกฤทธิ์นานถึง 24 ชั่วโมง ใช้ลดอาการที่เกี่ยวข้องกับภูมิแพ้ เช่น คัดจมูก จาม น้ำมูกไหล คันตา บรรเทาอาการน้ำมูกไหล ใช้รักษาลมพิษ และโรคผิวหนังที่เกิดจากภูมิแพ้
ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาต้านฮีสตามีนกลุ่มดั้งเดิม แต่ยาในกลุ่มนี้ผ่านเข้าสมองได้น้อยมาก จึงทําให้อาการข้างเคียง เช่น อาการง่วงนอน พบได้น้อย หรือผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการง่วงนอนเลยหลังจากกินยานี้ ทําให้ไม่ส่งผลเสียในการ ดําเนินชีวิตประจําวัน
ซึ่งจะแตกต่างจากยาแก้แพ้กลุ่มเก่า ที่ทําให้เกิดอาการง่วงนอนมาก ปากแห้ง คอแห้ง หรือ ปัสสาวะคั่งได้ มีฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารฮีสทามีน ซึ่งเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านสารก่อภูมิแพ้ และก่อให้เกิดอาการแพ้ตามมา เช่น จาม น้ำมูกไหล ผื่นคัน ลมพิษ ยานี้ช่วยลดอาการแพ้ที่เกิดขึ้นได้
รูปแบบ และปริมาณการใช้ยาแก้แพ้ “ลอราทาดีน”
– มีจําหน่ายทั้งในรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล และยาน้ำเชื่อม
– เด็กอายุ 2-5 ปี รับประทานชนิดน้ำ 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยยาน้ำส่วนใหญ่จะมีความเข้มข้น 5 มิลลิกรัม ต่อ 5 มิลลิลิตร
– เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป รับประทานยา 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง สามารถใช้ได้ทั้งยารูปแบบเม็ด และแคปซูล
– ผู้ใหญ่ รับประทานยา 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ดังนั้นยาลอราทาดีน ชนิดเม็ตส่วนใหญ่จึงมีขนาด 10 มิลลิกรัม เพื่อให้สะดวกในการรับประทานเพียงวันละครั้ง
การใช้ ยาลอราทาดีน ในหญิงตั้งครรภ์
ยานี้จัดเป็นยาในกลุ่ม B สําหรับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งไม่เป็นอันตราย ต่อทารกในครรภ์ และเมื่อมารดารับประทานยาแก้แพ้นี้ ตัวยาจะผ่านไปยังน้ำนมน้อยมาก จึงสามารถให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยานี้ได้ แต่ควรเฝ้าระวังอาการที่ไม่พึงประสงค์ของทารก และไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องระยะยาวในระหว่างที่ให้นมบุตร
การใช้ ยาลอราทาดีน ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การใช้ยาแก้แพ้นี้ร่วมกับแอลกอฮอล์จะทําให้เกิดอาการมึน งง ปากแห้ง ตาแห้ง จึงควรหลีกเลี่ยง ก่อนใช้ยานี้ควรแจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรเกี่ยวกับยา วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรใด ๆ ที่กําลังใช้อยู่ เนื่องจากอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาเมื่อรับประทานร่วมกับยาบางชนิด
ข้อควรระวัง! ในการใช้ยาลอราทาดีน
– แพ้ยาลอราทาดีน หรือยาเดสลอราทาดีน (Desloratadine)
– ห้ามใช้ยานี้รักษาตุ่มผื่น หรือลมพิษ ที่มีการฟกช้ำ พุพอง มีสีผิดปกติ หรือ ผื่นลมพิษที่ไม่มีอาการคัน และควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีอาการในลักษณะดังกล่าว
– ควรหยุดใช้ยานี้หากอาการผื่นลมพิษไม่ดีขึ้นภายใน 3 วัน หลังจากเริ่มใช้ยา หรือในกรณีที่มีผื่นลมพิษมานานกว่า 6 สัปดาห์ และควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของผื่นที่เกิดขึ้น
วิธีเก็บรักษายาให้อยู่ได้นาน
การเก็บรักษายานี้ในภาชนะบรรจุเดิม ปิดภาชนะให้สนิท และเก็บให้พ้นจากเด็ก และสัตว์เลี้ยง ควรเก็บยานี้ที่อุณหภูมิห้องโดยไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เช่น บริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง และไม่เก็บยาใน บริเวณที่เปียกหรือชื้น ทิ้งยานี้เมื่อยาหมดอายุ
บทความโดย : ดร. ภก. นิติ สันแสนดี อาจารย์พิเศษ ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สุขภาพ
เอกสารอ้างอิง:
1. Brunton LL, editors. Goodman & Gilman’s the pharmacological basis of therapeutics , 12th ed. New York: McGraw-Hill, 2011.
2. Simons FER. Drug therapy: Advances in H1-antihistamines. N Engl J Med 2004;351:2203-17.
3. Bielory BP, O’Brien TP, Bielory L. Management of seasonal allergic conjunctivitis: guide to therapy. Acta Ophthalmol 2012;90(5):399-407.
4. Jáuregui I, Ferrer M, Montoro J, Dávila I, Bartra J, Cuvillo A, et al. Antihistamines in the treatment of chronic urticarial. J Investig Allergol Clin Immunol 2007; 17(2):41-52.