ยาคุมฉุกเฉิน กับสารพัดคำถามที่ถามเข้ามาในบอร์ด GED : ASK EXPERT เช่น คุณหมอคะ ทานยาคุมฉุกเฉินได้ตอนไหน? กินแล้วจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้หรือไม่คะ? ยาคุมฉุกเฉินมีผลข้างเคียงไหมคะ? และคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย งั้นวันนี้มาดูกันเลยว่า ยาคุมฉุกเฉินนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร มีข้อดี-ข้อเสีย และควรกินอย่างไรบ้าง มาติดตามกันเลย!
ยาคุมฉุกเฉิน คืออะไร?
ยาคุมฉูกเฉิน หรือ ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน (Emergency Contraceptive Pill หรือ morning-after pills) คือ ยาฮอร์โมนที่มีขนาดสูงกว่ายาคุมกำเนิดทั่วไป ที่ผลิตออกมาเพื่อใช้เฉพาะในเหตุการณ์จำเป็น ฉุกเฉินเท่านั้น เช่น
- ถุงยางอนามัยฉีกขาด
- การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้มีการคุมกำเนิดด้วยวิธีใด ๆ
- ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืนกระทำชำเรา
- ลืมกินยาเม็ดคุมกำเนิดเกิน 3 วันขึ้นไป
ข้อควรรู้ ยาคุมฉุกเฉิน ไม่สามารถช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้เต็ม 100% (และในปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีไหนที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้แบบ 100% เต็ม)
ยาคุมฉุกเฉิน มีกี่ชนิด?
ยาคุมฉุกเฉินในเมืองไทย มีทั้งหมด 3 ชนิดด้วยกัน ดังนี้
1. ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ขนาด 1.5 มิลลิกรัม เป็นฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนขนาดสูง หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป มีหลายยี่ห้อ สามารถปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาได้
2. ยูลิพริสตอล (Ulipristal) และ ไมเฟพริสโตน (Mifepristone) เป็นยาต้านฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (ต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น)
3. ยาคุมกำเนิดชนิดแผงยี่ห้อใดก็ได้ จำนวน 4-6 เม็ด เพื่อให้ได้ฮอร์โมนเพศหญิง Ethinyl Estradiol 200 ไมโครกรัม และฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเตรล 1 มิลลิกรัม
โดยยาคุมฉุกเฉินทั้ง 3 ชนิดนั้น ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ ยูลิพริสตอล และไมเฟพริสโตน และลีโวนอร์เจสเตรล ได้ผลรองลงมา ส่วนยาคุมกำเนิดชนิดแผงได้ผลน้อยกว่า
ยาคุมฉุกเฉิน กินอย่างไรให้ถูกต้อง ป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงสุด ?
จำไว้เลยว่า กฏเหล็กของการกินยาคุมฉุกเฉิน คือ กินให้เร็วที่สุด ภายหลังมีเพศสัมพันธ์แบบที่ไม่ได้ป้องกันภายใน 72 ชั่วโมง (3 วัน) และจะต้องรับประทานยาเม็ดที่สองหลังจากรับประทานยาเม็ดแรกไม่เกิน 12 ชั่วโมง หากมีการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังรับประทานยาแต่ละเม็ด ต้องรับประทานยาใหม่
ยิ่งกินยาคุมฉุกเฉินเร็ว ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ กินภายใน 24 ชั่วโมง ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 85% กินภายใน 72 ชั่วโมง ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 75%
โดยตัวยาสำคัญในยาคุมฉุกเฉิน คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (levonorgestrel) มี 2 ขนาด คือ เม็ดละ 0.75 และ 1.5 มิลลิกรัม ที่นิยมใช้ในบ้านเรา เป็นชนิดความแรงเม็ดละ 0.75 มิลลิกรัม (หรือ 750 ไมโครกรัม) จำหน่ายเป็นกล่อง โดย 1 กล่องจะมี 1 แผง แต่ละแผงมียาคุมฉุกเฉิน 2 เม็ด
1. ยาคุมฉุกเฉินขนาด 1.5 มิลลิกรัม ให้กิน 1 เม็ดทันที หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน (ยาคุมฉุกเฉิน แบบ 1 เม็ด ไม่ได้จำหน่ายในประเทศไทย)
2. ยาคุมฉุกเฉินขนาด 0.75 มิลลิกรัม กิน 1 เม็ดทันที หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และกินอีก 1 เม็ดหลังผ่านไป 12 ชั่วโมง (ห้ามลืมกินเม็ดที่ 2) หรือ สามารถกินยาคุมฉุกเฉิน ขนาด 0.75 มิลลิกรัม พร้อมกันทีเดียว 2 เม็ด เลยก็ได้
ข้อควรรู้ เมื่อต้องกินยาคุมฉุกเฉิน
– ยิ่งเริ่มกินเร็วยิ่งป้องกันได้ดี ควรกินยาคุมฉุกเฉินให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน โดยไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ ร้อยละ 75 แต่ถ้ากินภายใน 24 ชั่วโมง หลังการมีเพศสัมพันธ์ จะให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 85
– กิน 2 เม็ดพร้อมกันได้ ยาคุมฉุกเฉินขนาด 0.75 มิลลิกรัม สามารถกิน 2 เม็ด พร้อมกันในครั้งเดียวได้ แต่ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ไม่แตกต่างจากการแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง
– ยาคุมฉุกเฉินนั้น สามารถคุมกำเนิดได้ 75-85% เท่านั้น ส่วนการคุมกำเนิดตามมาตรฐานทั่วไป ชนิดกิน ฉีด ฝัง สามารถคุมกำเนิดได้ถึง 99%
– ไม่ควรกินยาเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่องต่อเดือน
– ยาคุมฉุกเฉินไม่ทำให้แท้ง ดังนั้นหากไข่ที่ผสมกับอสุจิได้ฝังตัวที่ผนังมดลูกไปแล้ว ยานี้จะทำอะไรไม่ได้
– ยาคุมฉุกเฉินป้องกันโรคติดต่อไม่ได้ ยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
– ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินแทนการคุมกำเนิด ควรใช้ยาคุมฉุกเฉิน เมื่อจำเป็นเท่านั้น แต่หากจะวางแผนคุมกำเนินดระยะยาว ควรใช้วิธีอื่น เช่น การกินยาคุมกำเนิดแบบปกติชนิดเม็ด การใช้ถุงยางอนามัย ฝังห่วงคุมกำเนิด ฯลฯ
– ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ซ้ำหลังจากเพิ่งทานยาคุมฉุกเฉิน ไม่มีหลักฐาน หรือ งานวิจัยใดที่บอกว่าประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉินจะอยู่ได้อีกกี่ชั่วโมงหลังกินยาคุมฉุกเฉินครบ 2 เม็ดแล้ว ฉะนั้นควรงดการมีเพศสัมพันธ์ หรือ ใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่ต้องการมีเพศสัมพันธ์
– หากมีเพศสัมพันธ์ระหว่างที่ยังทานยาคุมฉูกเฉินไม่ครบสองเม็ด ให้รับประทานยาให้ครบไม่ต้องเริ่มยาใหม่
– หากมีเพศสัมพันธ์แบบหลั่งใน หลังรับประทานยาครบทั้งสองเม็ด อาจเริ่มยาแผงใหม่ได้แต่จะเพิ่มความเสี่ยงของอาการข้างเคียงจากยาได้ (ไม่ควรกินยาเกิน 4 เม็ด หรือ 2 กล่องต่อเดือน)
อันตราย ผลข้างเคียงของ ยาคุมฉุกเฉิน
ยาคุมฉุกเฉินชื่อก็บอกเราอยู่แล้วว่า “ฉุกเฉิน” คือ ต้องเป็นการใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เพื่อป้องกันตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินพร่ำเพรื่อ หรือใช้แทนการคุมกำเนิดระยะยาว ที่สำคัญคือ การใช้ยาคุมฉุกเฉินอาจไม่ได้ประสิทธิภาพ และยังส่งผลข้างเคียงกับร่างกายได้ หากกินเป็นประจำ ทำให้มีอาการเหล่านี้
- ปวดศีรษะ
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- เลือดออกกะปริบกะปรอย
- ประจำเดือนมาผิดปกติ
- เสี่ยงการตั้งครรภ์นอกมดลูก
ยาคุมฉุกเฉิน ไม่ใช่ยาวิเศษ ที่จะรับประกันผลว่ากินแล้วจะไม่ท้องได้ 100 % เพราะโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ถึงแม้จะกินยาแล้วก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นไม่ควรหวังพึ่งแค่ยาคุมฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว หากยังไม่วางแผนตั้งครรภ์ ควรคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ เพื่อจะได้ไม่มาเสียใจทีหลัง! ว่าพลาดไปแล้ว เพราะอาจไม่มีโอกาสแก้ตัวอีก
ข้อห้าม! ผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้ไม่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉิน
- มะเร็งของอวัยวะภายในของผู้หญิง และมะเร็งเต้านม
- โรคตับเฉียบพลัน หรือตับแข็ง มะเร็งตับ
- เคย หรือเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด
- ความดันโลหิตสูง
- โรคลิ่มเลือดอุดตัน
- โรคลมชัก ที่รับประทานยากันชัก
- โรคเบาหวาน ที่มีภาวะไตทำงานผิดปกติ หรือมีภาวะหลอดเลือดผิดปกติ
- อายุมากกว่า 35 ปีสูบบุหรี่จัด อ้วน มีไขมันในเลือดสูง
- เป็นไมเกรนชนิดที่มีอาการเตือน (Migraine with aura)
ถึงแม้ยาคุมฉุกเฉินจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ มีประสิทธิภาพดี แต่ก็ควรเลือกใช้ยาคุมฉุกเฉินในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และหลังการใช้หากประจำเดือนมาไม่ปกติ ขาดประจำเดือน เลือดออกไม่หยุด หรือปวดท้องไม่ดีขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที
โทร 1663 : สายด่วนปรึกษาเอดส์ และท้องไม่พร้อม หรือ LOVECARESTATION.COM
อ้างอิง :
1. ram-hosp.co.th
2. cheewajit.com
3. thestandard.co
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี