อยู่ดี ๆ ลูกก็กระตุกเกร็งไปทั้งตัว ใครที่เจอลูกมีอาการแบบนี้เป็นครั้งแรก คงเกิดอาการลนลาน ตกใจทำอะไรไม่ถูก พ่อแม่ต้องตั้งสติแล้วมาดูว่าเมื่อ ลูกชัก ต้องทำ และห้ามทำ! อะไรบ้าง
เห็นลูกมีอาการชัก อาจไม่ได้หมายถึงโรคลมชักเสมอไป โดยทั่วไป อาการชักสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท
1. อาการชัก (Seizure) เกิดจากการที่สมองมีการสร้างไฟฟ้าผิดปกติไปชั่วขณะ ทำให้มีอาการทางระบบประสาทชั่วขณะหนึ่ง อาจเป็นวินาทีหรือนาทีก็ได้ โดยอาการเหล่านี้สามารถรักษาให้หายได้หากแก้ที่สาเหตุได้ เช่น เนื้องอก โรคสมองอักเสบ การขาดวิตามิน เป็นต้น
ผู้ป่วยที่มีอาการชักไม่จำเป็นต้องเป็นโรคลมชักเสมอไป แต่อาจเป็นอาการชักเพียงครั้งแรกที่เกิดจากปัจจัยกระตุ้น
2. อาการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อ (Convulsion) ซึ่งคล้ายคลึงกับอาการชักแต่อาจไม่ใช่การชักเสมอไป เช่น อาการเกร็งที่อาจพบได้ตอนเป็นลม เป็นต้น
3. โรคลมชัก (Epilepsy) เกิดจากการที่กระแสไฟฟ้าในสมองลัดวงจรอย่างถาวร ทำให้เกิดอาการชักขึ้นมาซ้ำ ๆ โดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งใดมากระตุ้นให้เกิดอาการ
สาเหตุของอาการชักในเด็ก
- ไข้สูง
- การติดเชื้อที่ระบบประสาทส่วนกลาง
- ภยันตรายที่เกิดกับระบบประสาทกลางระหว่างการคลอด
- ภาวะสมองขาดออกซิเจน
- ความผิดปกติของสมดุลเกลือแร่
- ระดับน้ำตาลกลูโกสต่ำ
- ภยันตรายที่ศีรษะ
- เลือดออกในสมอง
- ภาวะสมองขาดเลือด
- ความผิดปกติของขบวนการสร้าง และสลายสารในร่างกาย
- ภาวะขาดไวตามิน
- โรคเนื้องอกสมอง
- ได้รับยาหรือสารพิษ
ลูกชัก มีอาการอย่างไรบ้าง ?
อาการชัก (Seizure) มีด้วยกันหลายลักษณะ สามารถแบ่งตาม International League Against Epilepsy (ILAE) classification 1981 ได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. อาการชักเฉพาะที่ (Partial Seizures) โดยกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติอาจรบกวนสมองส่วนที่ควบคุมการทำงานแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกาย ทำให้เกิดอาการต่างๆ โดยที่ยังไม่รู้ตัว เช่น อาการชา หรือกระตุกของแขนขาหรือใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งเป็นซ้ำ ๆ โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้
ถ้าผู้ป่วยยังมีสติ และสามารถตอบสนองอย่างเหมาะสมระหว่างมีอาการชัก เรียกว่า simple partial seizure (อาการชักเฉพาะที่แบบมีสติ) แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ และไม่สามารถตอบสนองอย่างเหมาะสม เรียกว่า complex partial seizure (อาการชักเฉพาะที่แบบขาดสติ)
2. อาการชักทั้งตัว (Generalized seizure) เป็นอาการชักที่เกิดจากความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าสมองพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ตั้งแต่เริ่มต้นชัก โดยอาการที่เกิดขึ้นมีหลายชนิด ได้แก่
– อาการชักเหม่อ (Absence seizure) อาการชักแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดในเด็ก การชักเป็นลักษณะเหม่อไม่รู้ตัว เป็นประมาณ 4-20 วินาที ถ้าชักนานกว่า 10 วินาที อาจมีพฤติกรรมผิดปกติโดยไม่รู้สึกตัว เช่น ตากระพริบ เลียริมฝีปากร่วมด้วย
– ชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (Generalized tonic-clonic seizure) มีอาการหมดสติร่วมกับมีอาการเกร็ง ตามด้วยกล้ามเนื้อกระตุกเป็นจังหวะ และอาจมีอาการร่วม เช่น กัดลิ้น ปัสสาวะราด หลังชักอาจมีอาการสับสน มึนงง
– ชักกระตุกทั้งตัว (Generalized clonic seizure) จะมีอาการหมดสติ ร่วมกับมีการชักที่มีกล้ามเนื้อทั้งตัวกระตุกเป็นจังหวะโดยไม่มีเกร็ง
– ชักเกร็งทั้งตัว (Generalized tonic seizure) มีอาการหมดสติ ร่วมกับมีการชักที่มีกล้ามเนื้อเกร็งทั้งตัวโดยไม่มีการกระตุก
– ชักตัวอ่อน (Atonic seizure) เป็นการชักที่มีกล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ยทั้งตัวทันที ทำให้ล้มลงแล้ว สามารถลุกขึ้นได้ทันที อาการชักมีระยะเวลาสั้นมาก ส่วนใหญ่มักจะพบในเด็กที่มีพัฒนาการช้า
– ชักสะดุ้ง (Myoclonic seizure) เป็นการชักที่มีกล้ามเนื้อกระตุกคล้ายสะดุ้ง มักกระตุกที่แขนสองข้าง อาจจะกระตุกครั้งเดียวหรือเป็นช่วงสั้น ๆ ไม่กี่ครั้งแต่ไม่เป็นจังหวะ อาการกระตุกแต่ละครั้ง นานเพียงเสี้ยววินาที
3. อาการชักที่แยกไม่ได้ (Unclassified seizure) เป็นอาการชักที่ไม่สามารถจำแนกชนิดของการชักได้
ลูกมีอาการชัก อันตรายไหม ?
เมื่อลูกมีอาการชัก หากอาการไม่รุนแรง และเกิดเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ถ้าดูแลอย่างถูกวิธีก็จะหยุดชักได้เอง
หากปล่อยไว้แล้วอาการชักไม่หาย หรือมีอาการรุนแรง มีอาการชักเกร็งนาน ๆ อาจทำให้สมองได้รับออกซิเจนน้อยลงมีผลต่อสมองในระยะยาว หากมีอาการชักเกิน 5 นาทียังไม่หาย ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์
ถ้าลูกมีอาการชักในครั้งแรก ๆ ถึงแม้จะหยุดชักแล้ว ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำ หรือตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะหากลูกมีอาการชักมากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าเป็นอาการของโรคลมชัก หรือ ความผิดปกติอื่น ๆ
ลูกชัก ต้องทำอย่างไร ?
ต้องทำ !
– จับลูกนอนในที่โล่ง ให้ลูกนอนลงในที่โล่งที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง ที่เด็กจะคว้าจับ จนเป็นอันตรายได้
– จัดท่านอนตะแคง คลายเสื้อผ้า ยกคาง และตะแคงหน้าเล็กน้อย เพื่อเปิดระบบหายใจ
– ระวังอย่าให้คนมุง หากอยู่นอกบ้าน พยายามกันคนที่มามุง ระวังไม่ให้คนมาล้วง หรือ เอาสิ่งของเข้าปากลูก
– เช็ดเศษอาหารน้ำลาย ถามีเศษอาหาร น้ําลายหรือน้ํามูก ที่ใบหนาใหเช็ดออกโดยไมตองพยายามงัด หรือเปดปาก
– เช็ดตัว หากชักเพราะมีไข้ หากลูกมีไข้ ควรให้ยาลดไข้ และพยายามเช็ดตัวให้ไข้ลด โดยเช็ดทั่วทั้งตัว เช็ดแบบเปิดรูขุมขน ตามข้อพับแขนขา เพื่อป้องกันการชักเพราะไข้สูง
– ถ่ายคลิปวิดีโอไว้ เพื่อเป็นแนวทางในการปรึกษาคุณหมอ
– รอจนลูกหยุดชัก อาการชักมักจะหยุดได้ภายใน 2-3 นาที ยกเว้นบางรายที่รุนแรงมากเกิน 5 นาที และหลังจากหยุดชักแล้วให้รีบพาลูกไปส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ห้ามทำ !
– ห้ามเอาอะไรใส่เข้าปากตอนชัก ห้ามเอาช้อน วัสดุของแข็ง หรือแม้แต่นิ้วใส่เข้าปากลูกขณะกำลังชัก เพราะอาจเกิดอันตราย เช่น ฟันหัก นิ้วโดนกัดเป็นแผล หรือ สิ่งของหลุดเข้าหลอดลมได้
– ห้ามป้อนยา หรืออาหารใด ๆ เพราะอาจจะทำให้สำลักได้
– ไม่ต้องทำ CPR ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการ CPR หรือ นวดหน้าอก ผายปอด เป่าปาก เมื่อมีอาการชัก
– ห้ามกดแขนหรือขาเพื่อให้อยู่นิ่ง โดยในขณะที่มีอาการหากกระตุกชักเกร็ง หากพยายามกดแขนขาลูก อาจทำให้เกิดกระดูกหัก หรือ ข้อเลื่อนได้ โดยเฉพาะในเด็ก ๆ ที่ร่างกายยังไม่สมบูรณ์
อ้างอิง
Neurothai.org, Bumrungrad.com, thaichildhealth.com
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี