อาการไอ มีเสมหะ มีน้ำมูก สามารถเกิดขึ้นในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยได้ ซึ่งจากสภาพอากาศตอนนี้ทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้ง่าย จึงควรดูแลสุขภาพให้ดี GED good life จึงขอฝาก “วิธีดูแลอาการไอมีเสมหะ เมื่ออากาศเปลี่ยน” จะมีอะไรบ้าง มาดูกันเลย!
- ไอมีเสมหะ VS ไอแห้ง (ไม่มีเสมหะ) แตกต่างกันอย่างไร?
- ไอมีเสมหะบ่อย อาจมีสาเหตุมาจาก 5 โรคนี้!
- ยาแก้ไอละลายเสมหะ คาร์โบซิสเทอีน มีสรรพคุณ และวิธีใช้อย่างไร?
อาการไอมีเสมหะ ช่วงอากาศเย็น อากาศเปลี่ยน มักเกิดจากอะไร?
อาการไอเวลาเจออากาศเย็น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1. เป็นภูมิแพ้จมูก พอเจอความเย็นเข้าไป เยื่อบุจมูกจะบวม ตัน ทำให้มูก เมือก ระเหยออกไม่ได้ เลยหยดลงไปที่หลอดลม และปอด ทำให้เกิดอาการไอได้บ่อย
2. เกิดหลังเป็นไข้หวัด โดยปกติก็จะไอมาก่อนแล้วราว 2 สัปดาห์ ตั้งแต่เริ่มเป็นหวัด แม้ว่าอาการไข้ เจ็บคอ จะหายไปแล้ว แต่บางคนยังคงมีอาการไอต่อเนื่องไปอีก 3-8 สัปดาห์
3. เป็นโรคหืด อากาศเย็น สามารถกระตุ้นให้เกิดหืดกำเริบได้ เนื่องจากความชื้นในอากาศที่น้อยลง ทำให้ความชื้นในร่างกายลดลงไปด้วย ซึ่งอาจทำให้เราแสบจมูก และคอแห้งได้เมื่อหายใจ
4. คนที่เป็นไซนัสอักเสบ เมื่อเจอกับอากาศเย็นก็สามารถทำให้เกิดอาการไอ มีเสมหะได้เช่นกัน
5. ฝุ่นPM2.5 ในช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือช่วงปลายปีถึงต้นปี มักมีฝุ่นPM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน ก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอมีเสมหะ หืด เป็นต้น
อาการร่วมที่มักพบ เมื่อไอมีเสมหะช่วงอากาศเปลี่ยน
- ไอมีเสมหะ และมีอาการเป็นไข้ เนื่องจากติดเชื้อไวรัส
- ไอมีเสมหะ และมีน้ำมูก เนื่องจากไข้หวัด หรือภูมิแพ้
- ไอมีเสมหะ และมีอาการคันคอ จากภูมิแพ้
- ไอมีเสมหะเรื้อรัง จากภูมิแพ้ หรือหลอดลมอักเสบ
- ไอมีเสมหะ ร่วมกับอาการเจ็บคอ เนื่องจากสูดดมฝุ่นพิษPM2.5 มากไป
วิธีดูแลอาการไอมีเสมหะ เมื่ออากาศเปลี่ยน?
สำหรับอาการไอและมีเสมหะ หากมีอาการเริ่มต้นจะมียาที่ช่วยบรรเทาอาการก่อน แต่หากมีอาการมาก ควรไปพบแพทย์เพื่อสาเหตุ และรักษาให้ตรงจุด
1. ใช้ยาบรรเทาอาการไอสำหรับอาการไอแบบมีเสมหะ ได้แก่
- ยาละลายเสมหะ (mucolytics) ที่ทำให้เสมหะข้นเหนียวน้อยลง ทำให้เสมหะออกมาจากร่างกาย ได้แก่ Carbocysteine, Acetylcysteine, Bromhexine, Ambroxol
- ยาขับเสมหะ (expectorants) ทำให้มีน้ำออกมาหล่อเลี้ยงทางเดินหายใจมากขึ้น ทำให้เสมหะถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น ได้แก่ Guaifenesin
2. รักษาอาการภูมิแพ้ช่วงอากาศเปลี่ยน ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายคนมีอาการไอเนื่องจากภูมิแพ้ แต่ไปกินยาฆ่าเชื้อบ้าง ยาแก้ไอบ้าง โดยไม่รักษาภูมิแพ้ให้หาย อาการไอก็ยังคงอยู่ไม่ไปไหน ฉะนั้น ถ้ารู้ตัวว่าเรามีอาการภูมิแพ้ร่วมด้วย จำเป็นต้องรักษาอาการภูมิแพ้ให้หายก่อน ด้วยการหลีกเลี่ยงอากาศเย็น นอนพักผ่อนให้มาก ๆ กินยาแก้แพ้ เป็นต้น
3. หลีกเลี่ยงฝุ่น หมั่นทำความสะอาดบ้าน และใส่หน้ากากเมื่อต้องออกไปข้างนอก เนื่องจากช่วงอากาศเย็น ปลายฝนต้นหนาว มักมีฝุ่น PM2.5 เกินเกณฑ์มาตรฐาน จึงจำเป็นต้องป้องกันตนเอง โดยการสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ และหน้ากากยังสามารถช่วยป้องกันเชื้อโรค เชื้อไวรัส ไม่ให้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจอีกด้วย
4. งดของทอด ของมัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลมไปก่อน เพราะ เป็นอาหารที่กระตุ้นอาการไอ และสำหรับใครที่สูบบุหรี่ ควรงด ละ เลิก เพราะ บุหรี่เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังอีกด้วย
5. ดื่มน้ำมาก ๆ การดื่มน้ำ เป็นวิธีละลายเสมหะที่ดีมากวิธีหนึ่ง สำหรับใครที่มีเสมหะบ่อยในช่วงอากาศเปลี่ยน ควรจิบน้ำทั้งวัน อาจเป็นน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งมะนาว จะช่วยให้ละลายเสมหะได้ดีขึ้น
6. ไปตรวจสุขภาพ กรณีที่มีอาการไอเรื้อรัง รวมกับมีไข้ (โดยเฉพาะตอนเย็น หรือหัวค่ำ) มีเลือดปน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด แนะนำให้ตรวจสุขภาพ เพราะอาจเสี่ยงเป็นวัณโรคได้
ทั้งนี้เมื่อเสมหะถูกขับออกมาจากร่างกาย อาการไอจะดีขึ้น แต่หากมีเสมหะเหลืองเขียวข้น ควรได้รับยาต้านจุลชีพร่วมด้วย หากผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือมีปัจจัยเสี่ยงเช่น การสูบบุหรี่ ที่ทำให้แนวโน้มอาการไอแบบมีเสมหะรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีอาการทันที
บทความโดย ภญ. ธร อำนวยผลวิวัฒน์
ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สุขภาพ