กรดไหลย้อน แม้จะไม่ใช่โรคที่อันตรายถึงชีวิต แต่คนที่ป่วยเป็นโรคนี้ บอกเป็นคำเดียวกันว่า “แทบตาย” เพราะมันทรมานจริง ๆ !! และถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา ไม่ปรับพฤติกรรมให้ดีขึ้น ก็อาจเป็นเรื้อรังได้อีกด้วย! บทความนี้ จะพาทุกคนไปดูกันว่า “กรดไหลย้อน เป็นนานแค่ไหนถึงเรียก เรื้อรัง?” และการเลือกใช้ยารักษาอย่างถูกต้อง
- กรดไหลย้อนตอนกลางคืน แน่นหน้าอกจนนอนไม่หลับ ทำไงดี?
- กรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ ควรดูแลอย่างไร?
- 6 ผลไม้สำหรับผู้ป่วยกรดไหลย้อน มีค่ากรดต่ำ ปรับสมดุลได้ดี มีอะไรบ้าง?
กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease (GERD) หมายถึง ภาวะที่มีสารไหลย้อนขึ้นมา โดยอาจเป็นกรดอ่อน ด่าง หรือแก๊สได้ ทำให้เกิดอาการ คือ แสบร้อนยอดอก (retrosternal burning หรือ heartburn) และเรอเปรี้ยว ทั้งนี้ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการกลืนลำบาก ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตได้
กรดไหลย้อนแบ่งตามความรุนแรง ได้ดังนี้
– อาการน้อย (mild symptoms) ต้องเกิดอาการขึ้นอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ เมื่อเกิดอาการแสบร้อนกลางอกจะหายไปในไม่กี่นาที ในบางคนที่แสบร้อนมาก ๆ อาจใช้เวลา 1-2 ชม. หรือจนกว่าอาหารจะย่อย
– อาการปานกลางถึงรุนแรง (moderate/severesymptoms) เกิดอาการมากกว่า 1 วันต่อสัปดาห์
กรดไหลย้อน เป็นนานแค่ไหนถึงเรียก เรื้อรัง?
ตามการรักษา แพทย์จะใช้ยายับยั้งการหลั่งกรดที่เป็นต้นเหตุ 4-8 สัปดาห์ หากใช้ยาตามระเวลากำหนดแล้วไม่หาย จะเรียกได้ว่า “เป็นเรื้อรัง” ผู้ป่วยกรดไหลย้อนเรื้อรัง จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน และการใช้ยารักษา เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากกรดไหลย้อนเรื้อรัง
โดยปกติแล้วหลอดอาหารไม่สามารถทนทานต่อกรดได้มากนัก หากอักเสบบ่อย อาจทำให้เซลล์ต่าง ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปก็ได้ และก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้
- หลอดอาหารอักเสบ
- หลอดอาหารตีบ
- มะเร็งหลอดอาหาร
อย่างไรก็ตาม ภาวะเหล่านี้มีโอกาสเกิดได้น้อย แต่ไม่ควรปล่อยให้เรื้อรัง เพราะจะนำพาไปสู่โรคร้ายแรงอื่น ๆ จนอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น เป็นมะเร็งหลอดอาหาร เป็นต้น
ผู้ป่วยที่เสี่ยงเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง
- ผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานเยอะ
- ผู้สูงวัย และผู้ที่มีโรคประจำตัว
- ผู้ที่มีความเครียดเป็นประจำ ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่หนัก
- ผู้ป่วยกรดไหลย้อน ที่รักษาอาการของโรคอย่างไม่ถูกต้อง
การใช้ยาลดกรด บรรเทาอาการกรดไหลย้อน
ขนาดมาตรฐานของยาลดการหลั่งกรด (standard dose proton pump inhibitors) คือ
- Omeprazole 20 mg/day
- Esomeprazole 40 mg/day
- Lansoprazole 30 mg/day
- Pantoprazole 40 mg/day
- Rabeprazole 20 mg/day
- Dexlansoprazole 30 mg/day (กรณี non-erosive reflux disease)
- Dexlansoprazole 60 mg/day (กรณี erosive esophagitis)
นอกจากนี้จะมียายับยั้งการหลั่งกรดชนิดออกฤทธิ์เร็ว ได้แก่ กลุ่มยาลดกรดที่บรรเทาอาการแสบร้อนได้ทันที เช่น ยาลดกรดชนิดน้ำ หรือ ยาลดกรดสูตรผสมชนิดเม็ด ไม่ต้องเคี้ยว (สะดวกกว่าแบบเคี้ยว) คือ อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide, AlOH3) แมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium carbonate, MgCO3) และ ไซเม็ททิโคน (simethicone) เสริมประสิทธิภาพในการขับลม ท้องอืด แน่นท้อง
การใช้ยาลดกรด ชนิดเม็ด
การกินยาลดกรด (Antacid) มักแนะนำให้กินยาหลังอาหาร เนื่องจากการออกฤทธิ์ของตัวยา คือการสะเทิน หรือทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะหลั่งออกมามากหลังจากการกินอาหารเข้าไปกระตุ้น
ยาลดกรดชนิดเม็ด (ยาเม็ด-Tablet) / (ยาเคี้ยว-Chewable tablet)
วิธีใช้: เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน* และดื่มน้ำตามมาก ๆ กินหลังอาหาร 1 ชั่วโมง วันละ 3-4 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการ และซ้ำได้ทุก 2-4 ชั่วโมง
ขนาดใช้: ผู้ใหญ่ กินครั้งละ 1-2 เม็ด เด็กอายุ 4-7 ปี กินครั้งละ 1 เม็ด
คำเตือน: เช่นเดียวกับยาลดกรดชนิดน้ำ
อ่านเพิ่มเติม -> ยาลดกรด คืออะไร มีกี่ชนิด ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง?
สุดท้ายนี้ หากใครไม่อยากเป็นกรดไหลย้อนเรื้อรัง จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การกินให้ตรงเวลา ไม่กินแล้วนอน ไม่เครียดเกินไป ไม่อ้วนเกินเกณฑ์ นับเป็นวิธีการรักษาโรคกรดไหลย้อนที่ตรงจุดที่สุด
บทความโดย ภญ. ธร อำนวยผลวิวัฒน์
ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์สุขภาพ