ใครที่เป็นกรดไหลย้อนอยู่ คงรู้ดีว่า มันทรมาน และทำให้เสียสุขภาพจิตขนาดไหน แถมโรคนี้ยังเล่นงานเราได้ตลอดเวลา ไม่เว้นแม้แต่ตอนกลางคืนขณะหลับ! ยิ่งใครที่มีอาการนอนหลับยากอยู่แล้ว ยิ่งทรมานขึ้นไปใหญ่! วันนี้ GED good life จึงขออาสาพาไปเคลียร์ปัญหากวนใจ “กรดไหลย้อนตอนกลางคืน” ถึงสาเหตุ อาการ และวิธีดูแลรักษาให้หายดีกัน
- 15 คำถามเรื่องกรดไหลย้อน
- 6 ผลไม้สำหรับผู้ป่วยกรดไหลย้อน มีค่ากรดต่ำ ปรับสมดุลได้ดี
- 8 ต้นเหตุโรคกรดไหลย้อน รู้เท่าทัน ป้องกันได้!
กรดไหลย้อนตอนกลางคืน เกิดจากอะไร?
กรดไหลย้อนตอนกลางคืน เกิดจากภาวะที่กรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนกลับขึ้นไปทางหลอดอาหารขณะนอนหลับ ทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางอก รู้สึกเหมือนมีกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอหรือปาก ไอเรื้อรัง เจ็บคอ เสียงแหบ กลืนอาหารลำบาก หรือปวดท้อง
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนตอนกลางคืน มีดังนี้
- ท่าทางการนอน การนอนราบหัวต่ำ จะทำให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะหลังจากกินอาหารไม่เกิน 3 ชั่วโมง แล้วเข้านอน
- กินแล้วนอนทันที เป็นข้อที่ทุกคนน่าจะรู้ แต่ก็ยังทำจนเป็นนิสัยจนเกิดกรดไหลย้อนกลางดึกเป็นประจำ
- อาหารและเครื่องดื่ม เช่น อาหารไขมันสูง อาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หากกินหรือดื่มเป็นประจำ ก็จะกระตุ้นให้เกิดกรดไหลย้อนขณะหลับได้
- ยาบางชนิด ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ ยาขยายหลอดลม ยารักษาโรคซึมเศร้า อาจทำให้กรดไหลย้อนกำเริบ
- ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ พบมากในผู้ชาย เป็นภาวะที่ระบบทางเดินหายใจส่วนต้นมีการตีบแคบลง มีผลต่อกรดในกระเพาะอาหาร และยังก่อให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาอีกด้วย
แพทย์เผย! เป็นกรดไหลย้อนไม่ควรนอนตะแคงขวา
รศ.นพ. ณัฐพงษ์ เจียมจริยธรรม หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านความผิดปกติจากการนอนหลับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า
คนที่เป็นกรดไหลย้อนไม่ควรนอนตะแคงขวา เพราะกระเพาะจะถูกยกขึ้น กรดที่อยู่ในกระเพาะก็มีโอกาสไหลลงข้างล่างมากขึ้น ฉะนั้นในผู้ที่เป็นกรดไหลย้อนควรนอนตะแคงซ้ายจะดีกว่า
นอกจากคุณหมอจะแนะนำให้นอนตะแคงซ้ายแล้ว ยังมีงานวิจัย พบว่า การนอนตะแคงซ้ายเป็นท่านอนที่ดีที่สุดสำหรับโรคกรดไหลย้อน เพราะเมื่อเรานอนตะแคงซ้าย ทรงกระเพาะจะย้อยลง น้ำย่อยที่อยู่ในกระเพาะก็จะอยู่ต่ำกว่าระดับที่สามารถจะไหลย้อนขึ้นไปบริเวณหลอดอาหารได้
อยากหายต้องทำตาม! 5 กฎเหล็กลดกรดไหลย้อน
การปรับพฤติกรรมอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน แต่ถ้าอยากหายก็จำเป็นต้องปรับ! เพื่อไม่ให้กรดไหลย้อนมารังควาญเราระหว่างนอนหลับได้
- งดอาหารมื้อดึก หรือกินมื้อเย็นก่อนเข้านอนอย่างน้อย 3-4 ชั่วโมง งดพวกอาหารรสจัด อาหารเผ็ด เป็นต้น
- งด ละ เลิก เครื่องดื่มชา กาแฟ น้ำอัดลม แอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ เพราะมีผลต่อกรดไหลย้อนโดยตรง
- นอนหัวสูงเข้าไว้ นอนยกศีรษะสูงอย่างน้อย 10-15 เซนติเมตร และไม่นอนตะแคงขวา
- ลดน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม นอกจากจะช่วยให้กรดไหลย้อนดีขึ้น ยังส่วนให้ สุขภาพองค์รวม ดีขึ้นอีกด้วย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักผลไม้ เนื้อไม่ติดมัน ธัญพืชไม่ขัดสี (Whole grains) เป็นต้น
“ยาลดกรด” ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนกลางอกจากกรดไหลย้อน
นอกจากการปรับพฤติกรรมแล้ว การใช้ยาลดกรดเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ใครที่เป็นกรดไหลย้อนควรมียาลดกรดติดตัวไว้ เมื่อมีอาการจะได้ใช้รักษาทันท่วงที
ยาลดกรด (Antacids) มักประกอบด้วย 2 ตัวยา ได้แก่
- อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide, AlOH3)
- แมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium carbonate, MgCO3)
2 ตัวยานี้ ช่วยในการสะเทินกรดด่างในกระเพาะอาหาร เมื่อเกิดการย้อนกลับของอาหารในหลอดอาหาร ช่วยให้ผนังของหลอดอาหารสัมผัสกับกรดในกระเพาะอาหารลดลง ข้อดีอีกประการหนึ่งของยานี้คือออกฤทธิ์บรรเทาอาการได้ภายใน 5 นาที
นอกจากตัวยาที่มีฤทธิ์ในการลดกรดแล้ว ยาที่วางขายในท้องตลาดมักผสมตัวยาชนิดอื่นเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษา และบรรเทาอาการอันเนื่องมาจากกรดอีกด้วย ยาดังกล่าวได้แก่
- ไซเม็ททิโคน (simethicone)
ไซเม็ททิโคนเป็นสารลดแรงตึงผิวที่ทำให้ฟอง และแก๊สในกระเพาะอาหารสามารถระบายออกจากอาหารที่กำลังถูกย่อยได้ เสริมประสิทธิภาพในการขับลม ท้องอืด แน่นท้อง โดยยาประเภทนี้มีให้เลือกทั้ง ชนิดเม็ด และชนิดน้ำ ผลิตภัณฑ์ยาลดกรดที่มีตัวยาไซเม็ททิโคน เช่น เครมิล ชนิดเม็ด (Kremil Tablets) ซองเขียว
อ่านเพิ่มเติม -> ยาลดกรด ยารักษากรดไหลย้อน คืออะไร มีกี่ชนิด ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง?
เมื่อไหร่ควรเข้าพบแพทย์?
หากเป็นกรดไหลย้อนแล้ว อาการไม่ดีขึ้นหลังปรับพฤติกรรม หรือทานยาเบื้องต้น ยังคงมีอาการกรดไหลย้อนอยู่ กลืนเจ็บ กลืนลำบาก อาเจียนบ่อย อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ น้ำหนักลดผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
อ้างอิง : 1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2. healthline 3. ThaiPBS 4. สภากาชาดไทย