ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า “หมาล่า” กำลังเป็นเมนูยอดฮิตที่คนไทยนิยมกินกันสุด ๆ ณ เวลานี้ โดยเฉพาะ ชาบูหมาล่า หมาล่าสายพาน เป็นต้น เดินไปไหนก็ต้องเจอ แถมคนแน่นสะด้วย! วันนี้ GED good life จึงขอแนะนำ “3 วิธีกินหมาล่า” อย่างถูกต้อง ท้องไส้ไม่แปรปรวน ไม่เกิดกรดไหลย้อน จะมีวิธีอะไรบ้าง มาดูกัน!
- ป่วยกรดไหลย้อน สามารถกินเผ็ดได้มั้ย? พร้อมแนะ! ยาลดกรด บรรเทากรดไหลย้อน
- การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ดีต่อลำไส้ และผู้ป่วยกรดไหลย้อนอย่างไร?
- 20 ข้อดีของพริก ทั้งซี๊ดดด! ทั้งดีต่อสุขภาพ!
รู้จักกับ “หมาล่า” เมนูรสเผ็ดจนลิ้นชา มาจากไหน ทำจากอะไร?
คำว่า “หมาล่า” หรือ “หม่าล่า” (麻辣) มาจากการอักษรจีนสองตัว คือ “หมา (麻)” แปลว่าชา กับ “ล่า (辣)” แปลว่าเผ็ด ซึ่งสื่อถึงความรู้สึกเผ็ด และ ชาในปากหลังจากรับประทานเข้าไป
ซึ่งทั้งสองรสนี้มาจากเครื่องเทศ “ฮวาเจียว – 花椒” หรือ “พริกไทยเสฉวน” เป็นพืชท้องถิ่นของ มณฑลเสฉวน ประเทศจีน มีลักษณะคล้ายพริกไทยดำ และเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับรสหมาล่า ที่ทำให้เกิดความอร่อยและเผ็ดจนลิ้นชานั่นเอง
โดยเมนูหมาล่าที่คนไทยรู้จัก และกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในตอนนี้ คือ หมาล่าเสียบไม้ ชาบูหมาล่า และล่าสุดที่ฮิตสุด ๆ คือ หมาล่าสายพาน ที่สามารถหากินได้เกือบทุกหัวถนนในกรุงเทพมหานคร ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีรสชาติ และราคาที่แตกต่างกันออกไป
สรุปได้ว่า “หมาล่า” ไม่ใช่ชื่อพริกแต่อย่างใด แต่เป็นคำเรียกที่สื่อถึงความเผ็ดชา เกิดจากเครื่องเทศหลายอย่างผสมกัน และรสชาติเผ็ดชาที่โดดเด่นนั้นเกิดจากส่วนผสมที่ชื่อว่า “ฮวาเจียว” นั่นเอง
รสหมาล่า มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร?
- ช่วยระบบการย่อยอาหาร
- ช่วยให้ความอบอุ่นกับร่างกาย
- กระตุ้นความอยากอาหาร
- มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระสูง ต้านอักเสบ
อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถคาดหวังคุณประโยชน์จากรสหมาล่าได้อย่างชัดเจนนัก แต่พอจะหวังในเรื่องของรสชาติที่ถูกปาก ชาลิ้นเป็นเอกลักษณ์ และการกระตุ้นความอยากอาหารได้ในระดับนึง
3 วิธีกินหมาล่า ให้ถูกต้อง ไม่ทำร้ายกระเพาะ ไม่เป็นกรดไหลย้อน!
1. ไม่ซดน้ำซุปหมาล่า
เพราะในน้ำซุปหม่าล่ามีความมันสูง รวมถึงใส่เครื่องปรุงเครื่องเทศต่าง ๆ ลงไปเยอะ โซเดียมก็ค่อนข้างเยอะตามมาด้วย โดยเฉพาะความเผ็ดและความมัน อาจทำให้กระเพาะอาหารระคายเคือง ลำไส้แปรปรวน ท้องเสีย และอาจทำให้เกิด ภาวะกรดไหลย้อนกำเริบจากความเผ็ดได้
2. ไม่กินเผ็ดจนเกินไป
ด้วยความที่หม่าล่า เป็นอาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อนเป็นหลักอยู่แล้ว แต่หลายคนก็นิยมเติมความเผ็ดเพิ่มเข้าไปอีก (โดยเฉพาะกับเมนู หมาล่าเสียบไม้) “สารแคปไซซิน” ในพริก ที่เราเติมเพิ่มเข้าไปนั้น อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย คลื่นไส้ และอาเจียน ซึ่งในกรณีที่เกิดการอาเจียน กรดที่ไหลย้อนกลับมาจากกระเพาะอาหารอาจทำให้หลอดอาหารระคายเคืองได้
ถ้าหากรู้สึกว่าน้ำซุปหมาล่าเผ็ดเกินไป (เช่นเมนู ชาบูหมาล่า) แนะนำให้ใส่น้ำซุปใส หรือน้ำเปล่าเติมเข้าไป เพื่อลดความเผ็ดร้อนจากรสหมาล่านั่นเอง
3. เคี้ยวให้ละเอียด ไม่กินเร็วเกินไป
ค่อย ๆ กิน ไม่ต้องรีบร้อน เนื้อต่าง ๆ ที่ใส่เข้าไปในหม้อหมาล่า พยายามเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน เพราะถือว่าเป็นด่านแรกที่จะทำให้อาหารมีความละเอียดขึ้น ทำให้กระเพาะไม่ต้องทำงานหนักเกินไป ช่วยให้สารอาหารถูกดูดซึมเข้าสู่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ง่ายขึ้น และยังทำให้มีระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีเป็นปกติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพที่ดี
แต่ถ้าหากเราเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดพอ กระเพาะของเราจะต้องรับภาระในการย่อยอาหารมากขึ้น ยิ่งอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ กระเพาะจะต้องหลั่งกรด และมีการบีบตัวที่มากขึ้นกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืดท้องเฟ้อ ตามมา
อ่านเพิ่มเติม -> การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ดีต่อลำไส้ และผู้ป่วยกรดไหลย้อนอย่างไร?
2 กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวังในการกินหมาล่า
ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ ชี้แจงว่า 2 กลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ จากรสหมาล่า ได้แก่
- กลุ่มผู้สูงวัย เพราะ มีความทนต่อรสชาติเผ็ดร้อนได้น้อย
- กลุ่มที่มีปัญหาโรคกระเพาะ โรคความดันโลหิตสูง (โรคกลุ่ม NCDs) เพราะ ความเผ็ดมีผลต่อกระเพาะอาหาร และการได้โซเดียมมากเกินไป เป็นสาเหตุทำให้ระดับความดันโลหิตเพิ่มขึ้นได้
วิธีเลือกเนื้อสัตว์กินกับหมาล่า
- เลือกเนื้อสัตว์ที่ติดมันน้อย หรือไม่ติดมัน
- เลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เบคอน แฮม ไส้กรอก เพราะมีไขมันอิ่มตัวเยอะ
- ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ที่ไหม้เกรียมเกินไป
- หากแพ้อาหารทะเล ไม่ควรเลือกกินกุ้ง หอย ปู เพราะอาจทำให้แพ้ได้
- ควรกินผักควบคู่ไปกับเนื้อสัตว์ด้วย เช่นกินเนื้อสัตว์ 1 ไม้ ก็ควรกินผัก 1-2 ไม้ด้วย