หัวใจวายเฉียบพลัน เป็นภาวะที่ทำให้คนเราต้องเสียชีวิตไปแบบกระทันหัน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรก ๆ ของคนไทยรองจากมะเร็ง ฉะนั้นเพื่อความไม่ประมาท… มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุของโรคนี้ และเราจะพอมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นกับเราได้หรือไม่? GED good life มีคำตอบรออยู่แล้ว มาติดตามกันต่อเลย!
ทำความรู้จักกับ “หัวใจวายเฉียบพลัน” มีสาเหตุจากอะไร?
หัวใจวายเฉียบพลัน เป็นภาษาที่คนทั่วไปเรียกกัน ส่วนทางการแพทย์จะเรียกว่า “โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือขาดเลือดเฉียบพลัน” หรือภาษาอังกฤษ “Heart Attack” – เกิดจากหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจเกิดการอุดตันกะทันหันจากคราบไขมัน และก้อนลิ่มเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย เป็นผลทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จึงเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน เสี่ยงเสียชีวิตได้แบบไม่ทันตั้งตัว
โรคหัวใจวายเฉียบพลัน มีอัตราการเสียชีวิตโดยเฉลี่ย 10% แต่ถ้ามีความดันตก ช็อค ก็จะทำให้มีอัตราการเสียชีวิตถึง 50% เลยทีเดียว
กลุ่มเสี่ยงต่อการเป็น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Heart Attack)
- เพศชายเป็นได้มากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะอายุ 35-40 ปีขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน มีไขมันสูง เป็นเบาหวาน
- พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวเป็น
- สูบบุหรี่จัด ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- อดนอน มีความเครียดสูง ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน
หัวใจวายเฉียบพลัน มีอาการสำคัญอย่างไร?
อย่างที่ทราบไปแล้วว่า โรคหัวใจมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยจึงควรรู้ถึงอาการของโรค เพื่อจะได้ประเมินตนเองว่าเข้าข่ายหรือไม่ และควรรับการรักษาโดยแพทย์อย่างทันท่วงที
- อาการเด่นสำคัญ คือ มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก อาจร้าวไปที่คอ แขน หรือขากรรไกร
- แน่นท้องเหมือนมีอะไรมากดทับ คล้ายเป็นกระเพาะอาหาร
- อ่อนเพลียง่าย เช่น ขึ้นบันไดไม่เคยต้องพัก แต่พอมีอาการต้องพักระหว่างขึ้น
- มีเหงื่อออกตามร่างกาย
- เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง หายใจถี่
- วิงเวียน หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน จุกแน่นหน้าอก
- ชีพจรเต้นเร็ว
จะเห็นได้ว่า… อาการเจ็บหน้าอกไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นภาวะที่เราควรให้ความสนใจ และพบแพทย์เพื่อตรวจหาถึงสาเหตุให้ทันท่วงที โดยผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอก หรือหายใจลำบาก ควรนอนยกหัวสูง หรือนั่ง และใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ
นักกีฬาที่ดูแข็งแรงดี แต่ทำไมถึงมีอาการหัวใจวาย / หัวใจล้มเหลว ?
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้ระบุไว้ว่า สาเหตุที่ทำให้นักกีฬาเสียชีวิต หรือ Sudden Cardiac Death (SCD) มักเกิดจากปัญหาของหัวใจ จากการรวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตของนักกีฬาอายุน้อย (<35 ปี) ในประเทศสหรัฐอเมริกามากกว่า 1,400 รายพบว่า
- 36% มีสาเหตุมาจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ
- 17% มีสาเหตุมาจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
- 4% มีสาเหตุมาจากระบบนำคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ
นอกจากนั้นก็เป็นสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้นักกีฬาเกิดอาการหน้ามืด ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอกก่อนจะเสียชีวิตลง
วิธีรักษา
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต
- การใช้ยารักษา
- การผ่าตัด เช่น การทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ
- การใส่เครื่องมือเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ
วิธีป้องกัน
โรคหัวใจ เป็นโรคที่มีสถิติผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี เราทุกคน (โดยเฉพาะเพศชายอายุ 35-40 ปีขึ้นไป) จึงควรหันมาดูแลตนเองเพื่อลดความเสี่ยงด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนี้
- กินอาหารที่มีประโยชน์ ไขมันต่ำ
- ไม่ปล่อยให้มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับงานหรือชีวิตจนเกินไป หมั่นทำจิตใจให้สงบ
- ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสุขภาพหัวใจ และสุขภาพกายแบบองค์รวม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่หักโหมจนเกินไป
- ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรต้องมาตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง
GED good life สรุปให้
- หัวใจวายเฉียบพลัน เกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันอย่างเฉียบพลัน
- เพศชายเสี่ยงเป็นโรคหัวใจวายมากกว่าเพศหญิง โดยเฉพาะในวัย 35-40 ปี ขึ้นไป
- อาการสำคัญของโรค คือ เจ็บแน่นหน้าอกมากจนทนไม่ไหว
- การรักษามีทั้งการให้ยา การผ่าตัด และปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน
- โรคความดัน เบาหวาน มีไขมันสูง ล้วนเป็นเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจวายได้
หากพบว่ามีผู้ป่วยหัวใจวาย หรือมีอาการเข่าข่ายภาวะหัวใจวาย ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือ 1669 หรือโรงพยาบาล หรือทีมกู้ภัยใกล้เคียงทันที
อ้างอิง : 1. ติดจอ ฬ.จุฬา 2. รพ. พญาไท 3. รพ. หัวใจกรุงเทพ1/2 4. รพ. นครธน