รู้หรือไม่ อาการกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิดขึ้นได้ถึง 80% เลยทีเดียว ฉะนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ต้องเตรียมรับมือให้ดี โดยเฉพาะช่วงแพ้ท้อง… มาดูกันว่า “กรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์” จะมีสาเหตุ และวิธีรับมืออย่างไร
- โรคกรดไหลย้อน กับ โรคแพนิค สัมพันธ์กันอย่างไร ปรับชีวิตยังไงดี?
- เช็กอาการ! กรดไหลย้อน 4 ระยะ มีอาการ และวิธีรักษาอย่างไร?
- ยาลดกรด ยารักษากรดไหลย้อน คืออะไร มีกี่ชนิด ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง?
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ ส่งผลต่ออาการกรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ได้
การตั้งครรภ์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายวิภาค และสรีรวิทยาของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยระหว่างตั้งครรภ์จะมี “ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)” ส่งผลกระตุ้นการคลายตัวของหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง หรือมีการหลั่งกรดมากขึ้นในกระเพาะอาหารซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร หรือช่องปาก ส่งผลให้มีอาการระคายบริเวณลำคอ และหลอดอาหาร แม่ตั้งครรภ์อาจรู้สึกแสบในช่องอกและหลอดอาหาร หรือจุกเสียดบริเวณใต้ลิ้นปี่ รวมทั้งมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้าย ๆ กับอาการของโรคกระเพาอาหาร
ปัจจัยที่ทำให้เกิด กรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ มีอะไรบ้าง?
- อายุครรภ์
- การมีประวัติโรคกรดไหลย้อนก่อนการตั้งครรภ์
- การตั้งครรภ์หลายครั้ง
- ดัชนีมวลกายก่อนการตั้งครรภ์
- น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์
- หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุมาก
นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดโรคกรดไหลย้อน ดังนี้
- พฤติกรรมการบริโภคระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ชอบกินอาหารรสจัด รสเผ็ด อาหารประเภทไขมันสูง อาหารทอด ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- กินแล้วนอน หรือเอนกายทันทีระหว่างตั้งครรภ์
- ความเครียด
- สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดเกินไป
- การใช้ยาขยายหลอดลม ยาประจำตัว เช่น ยาลดความดัน เป็นต้น
กรดไหลย้อนมักพบได้บ่อยในไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์
หญิงตั้งครรภ์มักเริ่มมีอาการประมาณช่วงอายุครรภ์ 5 เดือน หรือไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ระยะเวลาในเกิดอาการแต่ละครั้งจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และสัมพันธ์กับมื้ออาหาร ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อย จนถึงระดับรุนแรงอาจถึงขั้นไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ซึ่งความถี่และความรุนแรงของอาการมีแนวโน้มมากขึ้นตามอายุครรภ์
6 อาการกรดไหลย้อนที่พบบ่อยในแม่ตั้งครรภ์
- เริ่มมีอาการแสบร้อนยอดอก เมื่ออายุครรภ์ 5-6 เดือน อย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์
- ลักษณะอาการปวดแสบร้อน เหมือนมีไฟเผาในหลอดอาหาร ตรงบริเวณกลางอก
- เรอเหม็นเปรี้ยว มีรสขมในปาก (sour or bitter taste) หรือจุกแน่นในลําคอ
- มีการไหลย้อนของกรดกลับเข้าไปสู่หลอดอาหาร
- อาการมักเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน โดยเฉพาะหลังอาหารมื้อเย็น
- ไอหรือเจ็บคอ
โรคกรดไหลย้อน ส่งผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่?
โดยทั่วไปแล้วอาการกรดไหลย้อนจะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์แต่อย่างใด แต่หากมีอาการผิดปกติมาก หรือกังวลใจ แม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลครรภ์ เพื่อความสบายใจ และความปลอดภัยต่อลูกในครรภ์
สามารถกิน “ยาลดกรด” ขณะตั้งครรภ์ได้หรือไม่?
ตามข้อมูลจาก หอสมุดแพทยศาสตร์แห่งชาติอเมริกา (NIH) และ ระบบดูแลสุขภาพแห่งชาติสหราชอาณาจักร (NHS) ได้ระบุว่า…
ยาลดกรด (Antacids) ที่มีส่วนผสมของตัวยา Aluminum Hydroxide, Magnesium Carbonate, Simeticone (ยกตัวอย่างแบรด์ เช่น เครมิล-Kremil) ได้รับการแนะนำให้ใช้เป็นการรักษาอันดับแรกของอาการเสียดท้องและกรดไหลย้อนในระหว่างตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร แต่ควรใช้บรรเทาอาการเมื่อมีอาการเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลครรภ์ก่อนใช้ยาลดกรด และอย่าลืมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารให้เหมาะสมระหว่างการใช้ยาลดกรด
ปรับพฤติกรรมสักนิด อาการกรดไหลย้อนดีขึ้นแน่นอน!
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทั้งด้านอารมณ์ และอาหารการกินให้เหมาะสม หรืองดพฤติกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการ จะส่งผลดีต่อหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการกรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก
- ควบคุมปริมาณอาหาร ไม่กินมากจนเกินไป และควรกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
- งด ละ เลี่ยง อาหารที่เป็นภัยต่อกรดไหลย้อน เช่น อาหารรสจัด อาหารทอด อาหารมัน และผลไม้ที่มีค่ากรดสูง
- กินอาหารมื้อเล็ก ๆ หลาย ๆ มื้อในแต่ละวัน แทนที่จะกินมื้อใหญ่ 3 มื้อ
- ไม่กินแล้วนอนทันที ควรทิ้งช่วงระยะสัก 4 ชั่วโมง จึงค่อยนอน
- ใช้หมอนหนุนบริเวณลำตัวส่วนบน ระหว่างนอนหลับ เพื่อให้หลอดอาหารอยู่สูงกว่ากระเพาะอาหาร
- ควรนอนตะแคงซ้าย เพราะการนอนตะแคงขวาจะทำให้ตำแหน่งของกระเพาะอยู่เหนือหลอดอาหาร
- ไม่วิตกกังวลเกินไป กรดไหลย้อนขณะตั้งครรภ์ สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ
- ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลครรภ์ หากสงสัยเรื่องอาการ หรือวิธีรักษา ไม่ควรหาซื้อสมุนไพรมากินเพื่อรักษาเอง
อ้างอิง : 1. National Library of Medicine 2. กลุ่มงานสูติ-นรีเวชกรรม รพ.ชัยภูมิ 3. วชิรสารการพยาบาล 4. nhs 5. webmd