“ยุง” วายร้ายตัวจิ๋ว ที่กัดเราเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้เราล้มป่วย และถึงแก่ชีวิตได้! โดยเฉพาะในหน้าฝนนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะเป็นฤดูที่ยุงชุมในหลายพื้นที่ บทความนี้ GED good life จะพาไปทำความรู้จักกับยุงให้มากขึ้น ว่ามีกี่ประเภท และ 5 โรคที่เกิดจากยุงกัด ทำป่วยมีไข้สูงเฉียบพลัน พร้อมบอกอาการของแต่ละโรคให้สังเกตกัน
- ไข้สูง ต้องกี่องศาขึ้นไป มีสาเหตุ อาการ และวิธีรักษาอย่างไร?
- ไข้เลือดออก ภัยร้ายถึงตาย รู้เท่าทันก่อนสาย!
- ยาแก้หวัดสูตรผสม พาราเซตามอล+คลอร์เฟนิรามีน จบปัญหามีไข้ และภูมิแพ้ ในเม็ดเดียว!
รู้จักกับ “ยุง” แมลงตัวจิ๋ว แต่ร้ายสุดในโลก!
ยุง (Mosquitoes) – เป็นแมลงดูดกินเลือด (blood-sucking insect) สามารถพบได้ทั่วโลก แต่พบมากในเขตร้อน และเขตอบอุ่น มีขนาดลำตัวยาว 4-6 มิลลิเมตร ยุงมี 6 ขา ลำตัวเป็นปล้อง ปัจจุบันพบว่าในโลกนี้มียุงประมาณ 4,000 สายพันธุ์ ส่วนในประเทศไทยมียุงประมาณ 450 สายพันธุ์
วงจรชีวิตของยุงประกอบด้วยระยะไข่, ลูกน้ำ, ตัวโม่ง, และตัวเต็มวัย การดํารงชีพของยุงต้องอาศัยน้ำเป็นแหล่งเติบโตของไข่ ลูกน้ำ และตัวโม่ง สําหรับตัวเต็มวัยนั้น แม้ไม่ต้องอาศัยอยู่ในน้ำ แต่ก็ต้องอยู่ในสภาวะที่มีความชื้น จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมยุงถึงระบาดมากในหน้าฝน
ยุงที่ดูดเลือดมนุษย์คือ ยุงตัวเมียเท่านั้น และยุงตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้มากกว่า 100 ฟอง และหลังวางไข่แล้วก็สามารถกลับมาดูดเลือดเราเพื่อแพร่พันธุ์ได้อีกราว 1 เดือน ดังนั้นการกำจัดแหล่งน้ำขังเป็นเรื่องสำคัญต่อการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
ยุงตัวผู้มีอายุขัยประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนยุงตัวเมีย จะมีอายุขัยประมาณ 1-5 เดือน ช่วงฤดูร้อนยุงอายุสั้นแต่เชื้อโรคในตัวยุงจะเจริญเติบโตเร็วกว่าในฤดูหนาว ทำให้ยุงสามารถนำเชื้อโรคมาสู่คนได้ตลอดทั้งปี
รู้หรือไม่?! สัตว์ที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปมากที่สุดในโลก กลับไม่ใช่ฉลาม สิงโต หรือเสือ แต่เป็น “ยุง” ที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลก! (world’s most deadly animal) โดยคร่าชีวิตมนุษย์ไปถึง 725,000 – 1,000,000 คนต่อปี และเป็นพาหะที่ทำให้มนุษย์ป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรียกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก!
คนกลุ่มไหน มักเสี่ยงโดนยุงกัดบ่อย?
ข้อมูลจาก healthline ระบุว่ายุงสามารถรับรู้สัญญาณหลายอย่างที่บ่งบอกว่ามีคนอยู่ใกล้ ๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์, กลิ่นตัว, อุณหภูมิร่างกาย โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะโดนยุงกัดบ่อย ก็มักสัมพันธ์กับ 3 เหตุผลนี้
- คนหายใจแรง เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมากับลมหายใจเป็นตัวดึงดูดยุง
- คนตัวใหญ่ อ้วน เพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่าคนตัวเล็ก
- คนใส่เสื้อผ้าสีเข้ม เพราะเสื้อสีเข้มเป็นสีที่บรรดายุงสามารถมองเห็นได้ดีที่สุด
- หญิงตั้งครรภ์ เพราะมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าคนทั่วไป
- คนดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น
- กัดเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะกลิ่นและลักษณะผิวหนัง
6 โรคที่เกิดจากยุงกัด ทำป่วยมีไข้สูงเฉียบพลันได้
1. โรคไข้เลือดออก (Dengue fever)
ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจาก เชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) โดยมี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค จากการดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี แล้วไปกัดคนอื่น ๆ ต่อ ทำให้เป็นไข้เลือดออกตามไปด้วย โรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจทำให้เกิดภาวะช็อกซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
อาการของโรคไข้เลือดออก
- ไข้สูงลอย 2-7 วัน
- เบื่ออาหาร
- อาจมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามผิวหนัง
- หน้าแดง ตัวแดง
- ปวดหัว อาเจียน
อ่านเพิ่มเติม -> “ไข้เลือดออก” ภัยร้ายถึงตาย รู้เท่าทันก่อนสาย!
2. ชิคุนกุนยา (Chikungunya)
คือโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มี “ยุงลายบ้าน” และ “ยุงลายสวน” เป็นพาหะนำโรค เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก แต่อาการจะรุนแรงน้อยกว่า
อาการของโรคชิคุนกุนยา
- มีไข้สูงเฉียบพลัน
- มีอาการปวดข้อ
- มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย
- ปวดศีรษะ ปวดตา
- ไอ
- คลื่นไส้ อาเจียน
อ่านเพิ่มเติม -> ชิคุนกุนยา คือโรคอะไร มีอาการ วิธีรักษาอย่างไร
3. ไข้ซิก้า (Zika Fever)
เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา มี “ยุงลาย” เป็นพาหะนำโรค โรคนี้ถ่ายทอดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์หรือระหว่างการคลอดได้ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกา
อาการของไข้ซิก้า
- มักเป็นไข้ต่ำ ๆ
- มีผื่นแดงตามบริเวณลำตัว และแขนขา
- เยื่อบุตาอักเสบ (ตาแดงแต่ไม่มีขี้ตา)
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
- อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
อ่านเพิ่มเติม -> ไวรัสซิกา ป้องกันได้ด้วยหลัก 5อ.
4. ไข้มาลาเรีย (Malaria)
มีชื่อเรียกอื่นว่า ไข้จับสั่น หรือไข้ป่า มาลาเรียเป็นโรคในเขตร้อน เกิดจากเชื้อโปรโตซัวพลาสโมเดียม ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่อาศัยในเลือด มี “ยุงก้นปล่อง” เป็นพาหะนำโรค ในประเทศไทยแหล่งระบาดของมาลาเรียอยู่ตามจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำ ลำธาร อันเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ของยุงก้นปล่อง
อาการของไข้มาลาเรีย
- มีไข้สูง หนาวสั่น
- เบื่ออาหาร
- ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว บางรายมีการปวดท้อง ท้องเสียได้
5. ไข้สมองอักเสบ (Japanese encephalitis : JE)
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเจอีที่สมอง มี “ยุงรำคาญ” เป็นพาหะนำโรค ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการทำนาร่วมกับการเลี้ยงหมู พบผู้ป่วยมากในจังหวัดแม่ฮ่องสอน มุกดาหาร กำแพงเพชร สมุทรสาคร และน่าน
อาการของไข้สมองอักเสบ
- ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมี หรือไม่มีอาการป่วยก็ได้
- มีไข้สูง
- อาเจียน
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- มีอาการทางสมอง
6. โรคเท้าช้าง (Lympphatic filariasis)
เป็นโรคที่เกิดจากหนอนพยาธิตัวกลมฟิลาเรีย มีลักษณะคล้ายเส้นด้ายอาศัยอยู่ในระบบน้ำเหลืองของคน มี “ยุงเสือ” และ “ยุงรำคาญ” เป็นพาหะนำโรค ในประเทศไทยมีโรคเท้าช้าง 2 ชนิด ชนิดแรกเกิดจากเชื้อ Brugia malayi ชนิดที่สองเกิดจากเชื้อ Wuchereria bancrofti
อาการของโรคเท้าช้าง
- มีไข้
- แขน-ขาโต
- เกิดอาการบวมโตของอวัยวะสืบพันธุ์
- หากเป็นนานหลายปีจะทำให้อวัยวะนั้นบวมโตอย่างถาวร
สรุปมาให้ ยุงแต่ละประเภท นำพาโรคอะไรมาให้บ้าง?
- ยุงลาย – เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก, ชิคุนกุนยา, ไข้เหลือง, ไข้ซิก้า
- ยุงก้นปล่อง – เป็นพาหะนำโรคไข้มาลาเรีย
- ยุงรำคาญ – เป็นพาหะนำโรคฟิลาเรีย, ไข้สมองอักเสบ, ไข้เวสต์ไนล์
- ยุงเสือ – เป็นพาหะนำโรคฟิลาเรีย หรือโรคเท้าช้าง
เมื่อรู้ถึงอันตรายของยุงแต่ละประเภทกันไปแล้ว หน้าฝนนี้ GED good life ก็ขอฝากให้ทุกคนป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด ด้วยการกางมุ้งทุกครั้งที่เข้านอน ป้องกันไม่ให้มีแหล่งน้ำขังในบ้าน และไม่ให้ยุงเข้ามาในห้องนอน หรือทาสารป้องกันยุงที่ผิวหนัง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยห่างไกลจากยุง และโรคร้ายที่มากับยุงได้แล้ว
อ้างอิง : 1. wikipedia 2. กระทรวงสาธารณสุข 3. รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน 1/2/3 4. healthline