“งูสวัด” ถึงชื่อโรคเป็นงู แต่ไม่ได้เกิดจากงูแต่อย่างใด และยังมีความเชื่อมาแต่โบราณว่า “หากงูสวัดพันรอบตัว รอบเอว จะทำให้ถึงแก่ความตายได้!” เรื่องนี้จะเป็นจริงหรือไม่? แล้วโรคงูสวัดมีสาเหตุ อาการ วิธีรักษาอย่างไร ใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้? GED good life จะพาไปไขข้อสงสัยให้ได้รู้กัน มาติดตามกันเลย!
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ทำความรู้จักกับ งูสวัด เกิดจากอะไร?
งูสวัด (Herpes zoster หรือ shingles) เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่เรียกว่า “Varicella Zoster Virus – VZV” ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคสุกใส
หลังจากที่ผู้ป่วยหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อไวรัสนี้จะยังคงฝังตัวอยู่บริเวณปมประสาท จนเมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง โรคงูสวัดก็จะเริ่มแสดงอาการออกมา โดยจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นกระจุก ร่วมกับอาการปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท
ในคนส่วนมาก งูสวัดเกิดครั้งเดียวในชีวิต มีเพียงส่วนน้อยที่มีความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกัน จึงจะเป็นซ้ำได้
อนึ่ง ไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) หรือ “ไวรัสเฮอร์ปีส์ – Herpes” เป็นไวรัสชนิดหนึ่งในกลุ่มไวรัสเริม แต่ต่างสายพันธ์กัน โดยเริมเกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ชนิดที่ 1 หรือ 2 ส่วน งูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ชนิดที่ 3
ป่วยอีสุกอีใสมาก่อน เสี่ยงเป็นงูสวัด อายุมากขึ้นก็มีโอกาสเป็นได้มาก!
โรคงูสวัดสามารถเกิดได้ในทุกเพศ ทุกวัย (พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง) ในเด็กและทารกพบได้น้อย และมักมีอาการไม่รุนแรง ที่สำคัญคือ ทุกคนที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคงูสวัด ยิ่งอายุมากขึ้นก็มีโอกาสเป็นได้มาก เนื่องจากภูมิต้านทานของร่างกายที่ลดลง โดยอุบัติการณ์การเกิดงูสวัดจะพบประมาณร้อยละ 30 ในคนทั่วไป และจะเพิ่มถึงร้อยละ 50 ในผู้ที่มีอายุถึง 85 ปี
กลุ่มเสี่ยงป่วยงูสวัด
- ผู้สูงวัยที่อายุ 50-60 ปีขึ้นไป
- ผู้ที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย เครียดเป็นประจำ
- ผู้ป่วยที่ใช้ยา สเตียรอยด์ ยาบรรเทาอาการอักเสบ เพราะทำให้ภูมิคุ้มกันตกลง
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคเอชไอวี เป็นต้น
งูสวัด สามารถติดต่อกันได้ไหม?
งูสวัดเป็นโรคติดต่อทางการสัมผัส เนื่องจากในแผลที่มีตุ่มน้ำใสนั้น ยังสามารถพบเชื้อไวรัส varicella zoster จึงสามารถแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้นจึงควรแยกผู้ป่วยโรคงูสวัดออกจากผู้ที่ไม่เคยเป็นโรค โดยเฉพาะ กลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่กำลังตั้งครรภ์
งูสวัด มักเกิดขึ้นส่วนใดของร่างกาย?
งูสวัดมักเกิดบริเวณผิวหนังตามร่างกาย และแสดงอาการออกมาในลักษณะของผื่นหรือตุ่ม จะขึ้นบริเวณแนวบั้นเอว หรือแนวชายโครง บางคนอาจขึ้นที่ใบหน้า แขน หรือขา แต่จะมีลักษณะการขึ้นที่คล้ายกัน คือ ขึ้นเพียงซีกหนึ่งซีกใดของร่างกายเท่านั้น
งูสวัดพันรอบตัวทำให้เสียชีวิตได้จริงตามความเชื่อหรือไม่?
งูสวัดพันรอบเอวทำให้เสียชีวิตได้ คือ ความเชื่อที่ถูกเล่าต่อกันมาจนกลายเป็นเรื่องที่ฟังแล้วน่าหวาดกลัว ขนลุกไม่น้อย แต่ในความจริงทั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ชี้แจงว่า
เรื่องนี้เป็นเพียงความเชื่อ ไม่เป็นความจริง และไม่เคยพบงูสวัดชนิดที่เป็น 2 ด้าน หรือพันรอบเอว และไม่เคยพบคนตายจากงูสวัดเลย
อย่างไรก็ตาม… ถ้าเกิดในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ หรือภาวะภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำมาก ๆ อาจจะมีอาการกำเริบ และเกิดการลุกลามได้มากกว่าปกติ หรืออาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเป็นสาเหตุที่ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
อาการของโรคงูสวัด ที่ควรสังเกตให้เป็น
สัญญาณของอาการงูสวัด มักจะเริ่มต้นขึ้นจากบริเวณเล็ก ๆ ของร่างกายฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก่อนจะเริ่มลุกลามไปยังบริเวณอื่นในฝั่งร่างกายเดียวกัน โดยข้อสังเกตของโรคนี้คือ มักขึ้นตามแนวเส้นประสาทบนใบหน้า
อาการของโรคงูสวัด แบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ภูมิต้านทานของร่างกายลดต่ำลง ทำให้เชื้อไวรัสเริ่มเพิ่มจำนวน เกิดการติดเชื้อที่ระบบประสาท จึงมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ ในระดับเส้นประสาท
ระยะที่ 2 หลังจากที่ปวดแสบร้อนได้ประมาณ 2-3 วัน จะเข้าสู่ระยะที่ 2 เริ่มมีผื่นแดง ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ (รูปร่างคล้ายหยดน้ำกลิ้งบนใบบัว) เรียงกันเป็นกลุ่ม ๆ เป็นแนวยาว ๆ ตามเส้นประสาทของร่างกาย เป็นหย่อม ๆ เช่น ตามความยาวของแขน หรือตามความยาวของขา หรือรอบเอว รอบหลัง หรือศีรษะ เป็นต้น ตุ่มน้ำใสเต่ง ๆ ของงูสวัดนี้จะแตกออกเป็นแผล ต่อมาก็จะตกสะเก็ด และหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์
ระยะที่ 3 เมื่อตุ่มแตก และแผลหายดีแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ ตามรอยแนวของโรคที่เกิดขึ้น ในบางคนอาจเกิดได้อีกเป็นเดือน หรือหลาย ๆ เดือน โดยเฉพาะผู้สูงอายุบางคนอาจมีอาการปวดแสบร้อนลึก ๆ หลังจากที่แผลหายดีแล้วเป็นปี ๆ
อาการแทรกซ้อนของงูสวัด
พญ. มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า โรคงูสวัดมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงแตกต่างกันไป โดยมีความสัมพันธ์กับอายุของผู้ป่วยคือ ผู้ป่วยยิ่งอายุมากขึ้นโดยเฉพาะอายุมากกว่า 60 ปี ยิ่งเสี่ยงต่อการปวดรุนแรง ส่วนอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ของผู้ป่วยงูสวัด มีดังนี้
- ปวดเส้นประสาท ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งก่อน และระหว่างที่ยังมีผื่น หรือหลังจากผื่นหายแล้ว
- อาการปวดมักรุนแรง และมีหลายลักษณะ เช่น ปวดแสบร้อน ปวดเหมือนเข็มแทง ปวดเหมือนถูกมีดกรีด เป็นต้น
เมื่อเป็นงูสวัด จะหายได้ในกี่วัน?
งูสวัด ไม่ถือเป็นโรคที่ร้ายแรง และจะหายได้เองหากร่างกายแข็งแรงดี ภายใน 1-2 สัปดาห์ ส่วนผู้ที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และในผู้สูงวัย ควรเข้ารับการรักษาโดยแพทย์ ยิ่งรับการรักษาได้เร็ว ก็ยิ่งมีโอกาสหายไว และโรคจะไม่ลุกลามไปไกล
วิธีรักษา
การรักษาจะบรรเทาตามอาการ ซึ่งมีทั้งยากินแก้ปวด ยาลดไขบรรเทาหวัด แก้ติดเชื้อแบคทีเรียกรณีเป็นหนองลุกลาม และยาทาแก้ผดผื่น ฉะนั้นเมื่อป่วยเป็นโรคนี้จำเป็นต้องพบแพทย์ หรือเภสัชกรเพื่อให้แน่ใจว่าอาการที่เป็นอยู่ คืออาการของงูสวัด เพื่อจะได้รับยารักษาอย่างเหมาะสม และถูกต้อง
อาการปวดแสบปวดร้อน ในรายผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ควรได้รับยาต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีทั้งยากิน หรือยาฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายทั่วตัว และอาจมีการติดเชื้อของอวัยวะภายในร่วมด้วยไดเช่น ปอดบวม สมองอักเสบ เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์ ซึ่งจะให้กินยาต้านไวรัส และยาหยอดตาที่เข้ายาต้านไวรัส เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด เรื่องจำเป็นที่ควรฉีด!
นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า งูสวัด เป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานในผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงอื่น ๆ ให้สูงขึ้น เหมือนกับภูมิต้านทานที่สูงขึ้นภายหลังการป่วยเป็นโรคงูสวัด ทั้งนี้มีการวิจัยประสิทธิภาพของวัคซีนโรคงูสวัดในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่ามีประสิทธิภาพลดการป่วยเป็นงูสวัดร้อยละ 51.3 และลดอุบัติการณ์ของอาการปวดหลังจากผื่นงูสวัดหายแล้วร้อยละ 66.5
ไม่อยากเป็นงูสวัด ควรป้องกันตนเองอย่างไร?
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสตั้งแต่ก่อนเป็น และฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
- ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ไม่โหมงานหนักจนไม่ได้นอนหลับพักผ่อน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผื่น และตุ่มโรคของผู้ป่วยงูสวัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส หรือไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
อ้างอิง : 1. รพ. บำรุงราษฎร์ 2. รพ. กรุงเทพ 3. รพ. วิภาวดี 4. สสส. 5. รพ. เปาโล 6. antifakenewscenter 7. หมอชาวบ้าน 8. wongkarnpat