คุณแม่คนไหนเป็นบ้าง ก่อนตั้งครรภ์ก็ไม่ค่อยจะมีอาการท้องเสียเท่าไหร่ แต่พอตั้งครรภ์แล้วท้องเสียบ่อย จนอดกังวลไม่ได้ว่าจะกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่? คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลจนเกินไป… มาดูกันว่า ท้องเสียขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร มีผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่ และควรดูแลตนเองขณะที่ท้องเสียอยู่อย่างไร? มาดูคำตอบกัน
- ท้องร่วง ถ่ายจนหมดแรง ทำยังไงดี กินยาอะไรได้บ้าง?
- ท้องเสียต้องจิบเกลือแร่ ORS เท่านั้น! ห้ามกินเกลือแร่ออกกำลังกาย
- เด็กท้องเสีย มีสาเหตุจากอะไร พ่อแม่รับมือยังไงดี?
ต้องถ่ายบ่อยแค่ไหน ถึงเรียกว่าท้องเสีย?
ท้องเสีย หรือ อุจจาระร่วง (Diarrhea) หมายถึง คืออาการถ่ายอุจจาระเหลว หรือถ่ายเป็นน้ำตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ภายใน 24 ชม. โดยทั่วไปอาการท้องเสียมักเกิดขึ้น และอาจหายไปได้เองภายใน 2-3 วัน หรือด้วยการทานยาสามัญประจำบ้าน
ระยะเวลาของอาการท้องเสีย สามารถแบ่งได้ดังนี้
- ท้องเสียแบบเฉียบพลัน (Acute diarrhea) – ท้องเสียประมาณ 1-3 วัน
- ท้องเสียแบบต่อเนื่อง (Persistent diarrhea) – ท้องเสียต่อเนื่องประมาณ 2-4 สัปดาห์
- ท้องเสียแบบเรื้อรัง (Chronic diarrhea) – ท้องเสียต่อเนื่องเกิน 4 สัปดาห์ หรือเป็น ๆ หาย ๆ
ท้องเสียขณะตั้งครรภ์ เกิดจากสาเหตุอะไร?
อาการท้องเสียสำหรับคนทั่วไปมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิ ในระบบทางเดินอาหาร แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ จะมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
- พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เปลี่ยนไปขณะตั้งครรภ์ เช่น การกินอาหารขณะมีอาการแพ้ท้อง
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจรบกวนกระบวนการย่อยอาหาร
- เกิดจากสภาพจิตใจและอารมณ์ เช่น ความตื่นเต้น ความวิตกกังวล
- กินอาหารที่มีการปนเปื้อน ท้าให้ติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น กินผักสดที่ล้างไม่สะอาด อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารหมักดอง อาหารทะเลที่ไม่สด ดื่มน้้าไม่สะอาด จนเกิดอาการอาหารเป็นพิษ ท้าให้ท้องเสีย
- มีความไวต่ออาหารชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งอาจเป็นอาหารปกติที่กินบ่อย ๆ แต่เมื่อตั้งครรภ์ กลับท้าให้ท้องไส้ปั่นป่วน หรือมีอาการท้องเสียได้
แม้ว่าอาการท้องเสียจะไม่ใช่สัญญาณของการตั้งครรภ์แต่เนิ่น ๆ แต่ก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจมีอาการท้องร่วง หรือปัญหาทางเดินอาหารอื่น ๆ ในช่วงไตรมาสแรก
อาการท้องเสีย ส่งผลต่อทารกในครรภ์หรือไม่?
เป็นคำถามที่คุณแม่ตั้งครรภ์กังวลมากที่สุด! ซึ่งคำตอบก็เป็นที่โล่งใจได้ว่า อาการท้องเสียโดยทั่วไปไม่เป็นอันตรายต่อคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์ เพราะ อาการท้องเสียเป็นกลไกของร่างกายที่จะขับของเสียออกมา ซึ่งปกติแล้วอาการเหล่านี้มักจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง หรือเรื้อรังไม่เกิน 3 วัน
อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรดูแลตัวเองไม่ให้ท้องเสียบ่อยระหว่างตั้งครรภ์ เพราะระหว่างที่ท้องเสียอาจไม่สามารถทานยาบำรุงครรภ์ได้ตามปกติ และขณะที่ท้องเสีย คุณแม่ต้องระวังเรื่องภาวะร่างกายขาดน้ำ และถ้าถ่ายผิดปกติมาก เช่น มีมูกปนมากับของเสีย อาเจียนรุนแรง มีไข้ และมีอาการนานกว่า 48 ชั่วโมง ควรพบแพทย์โดยด่วน
อาหารที่ควรระวัง! มักทำให้คุณแม่ท้องเสีย
การบริโภคอาหารขณะตั้งครรภ์อยู่เป็นเรื่องสำคัญ และควรใส่ใจ โดยอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ไม่ควรรับประทานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่
- น้ำปั่นข้างทาง เพราะ น้ำแข็งที่ใช้มักเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อ อี.โคไล สาเหตุของท้องเสีย
- ปลาดิบ อาจจะเป็นในรูปแบบซาซิมิ ซูชิ ซึ่งอาจนำเชื้อโรค และพยาธิตัวกลมเข้าสู่ร่างกาย
- หอย โดยเฉพาะหอยนางรม หอยแมลงภู่ดองน้ำปลา และหอยแครงลวกไม่สุกอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ และเกิดอาหารเป็นพิษได้
- ส้มตำปูปลาร้า ควรหลีกเลี่ยงการใส่ ปูดิบ ปลาร้าดิบลงไป เพราะอาจทำให้ท้องร่วง ท้องเสีย หรือได้รับเชื้อพยาธิได้
- อาหารที่แพ้ เช่น อาหารทะเล กุ้ง ปู นมวัว หรืออาหารอื่น ๆ ที่แม่ตั้งครรภ์ทานแล้วแพ้ ก็ไม่ควรทานขณะตั้งครรภ์
ท้องเสียขณะตั้งครรภ์ ทานยาอะไรได้บ้าง?
หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการท้องเสียบ่อย สิ่งแรกที่ควรทำก่อนจะเลือกซื้อยามาทานเอง คือ ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลครรภ์ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำเรื่องการใช้ยารักษาท้องเสียอย่างเหมาะสม ข้อสำคัญไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะใช้เองก่อนไปพบแพทย์
ส่วนยาที่สามารถใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องเสียสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ มีดังต่อไปนี้
1. ยาผงถ่าน หรือยาคาร์บอน (Activated Charcoal) – ช่วยลดอาการแน่นท้อง และทำให้อุจจาระเหลวน้อยลง
วิธีใช้
- กิน 2 เม็ดทันทีที่มีอาการ
- กินซ้ำได้ทุก 3-4 ชั่วโมง ตามความรุนแรงของอาการ
- หากถ่ายบ่อย หรือถ่ายเป็นน้ำให้กินยาให้ถี่ขึ้น
- ไม่ควรใช้เกิน 16 เม็ดต่อวัน
ข้อควรระวัง : คาร์บอนไม่ได้ดูดซับเฉพาะสารพิษ แต่ยังดูดซับทุกอย่างที่ดูดซับได้ เช่น อาหาร หรือยาบางชนิด คาร์บอนก็ดูดซับตัวยาเข้าไปด้วย จึงต้องระมัดระวังการใช้ยา
2. ผงเกลือแร่โออาร์เอส (ORS) – ช่วยทดแทนการเสียน้ำจากอาการท้องเสีย หรืออาเจียน
วิธีใช้
- ชง 1 ซอง ผสมน้ำสะอาดตามปริมาณที่ระบุไว้ที่ชองยา
- ดื่มจนหมด หรือค่อย ๆ จิบถ้ามีอาการคลื่นใส้
ข้อควรรู้ : เมื่อท้องเสีย ห้ามใช้เกลือแร่สำหรับผู้ออกกำลังกาย เพราะ จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการท้องเสียได้ เนื่องจากเครื่องดื่มชนิดนี้จะมีปริมาณน้ำตาลและเกลือแร่บางชนิดที่สูงกว่า ทำให้ร่างกายดึงน้ำเข้ามาในทางเดินอาหารส่งผลให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้น กระตุ้นการถ่ายเหลวมากขึ้น
GED good life สรุปให้
- อาการท้องเสียทั่วไปขณะตั้งครรภ์ถือเป็นเรื่องปกติ อาจเกิดขึ้นไม่เกิน 3 วันก็หายไป และไม่มีผลต่อเด็กในครรภ์
- แต่ถ้าหากมีอาการท้องเสียร่วมกับอาการมีไข้ อ่อนเพลีย ร่างกายขาดน้ำ มีมูกปนมากับของเสีย อาเจียนรุนแรง ควรพบแพทย์โดยด่วน
- การรับประทานยาในขณะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ และควรทานยาแค่ที่จำเป็นในปริมาณที่น้อยที่สุด เพราะยาอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ได้
- เมื่อท้องเสีย ไม่ควรปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำนาน ควรจิบเกลือแร่ ORS เพื่อช่วยทดแทนการเสียน้ำไป
อ้างอิง : 1. รพ. เมดพาร์ค 2. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย 3. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 4. สภากาชาดไทย 5. hfocus 6. รพ.ศิครินทร์ 7. รพ. พญาไท