มะเร็งปอด ถือเป็นโรคร้ายที่คนทั่วโลกต่างหวาดกลัว และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยทั้งเพศชาย และเพศหญิงเลยทีเดียว! แต่อย่างไรก็ตาม มะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบเร็ว และรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ฉะนั้น เราจำเป็นต้องสังเกต “อาการเตือนมะเร็งปอด” ให้เป็น เพื่อจะได้รู้แต่เนิ่น ๆ และสามารถรักษาได้ทันเวลา!
- PM2.5 ทำให้เกิด มะเร็งปอด ได้อย่างไร? พร้อมชี้! 8 อาการเตือนมะเร็งปอด
- จัดอันดับ 5 มะเร็งยอดฮิต ที่คนไทยเป็นมากที่สุด!
- โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ TOP3 โรคมะเร็งคนไทยเป็นมากสุด!
ทำความรู้จักกับ มะเร็งปอด มีสาเหตุจากอะไร?
มะเร็งปอด (Lung Cancer) – เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ในเนื้อเยื่อปอดที่ผิดปกติอย่างรวดเร็ว และไม่สามารถควบคุมได้ สามารถลุกลามสู่อวัยวะข้างเคียง และกระจายตัวไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ มะเร็งปอดมักปรากฏอาการเมื่อเนื้อร้ายลุกลามเป็นวงกว้างในระยะที่ 3-4
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด ดังนี้
- การสูบบุหรี่ รวมถึงยามวนต่าง ๆ เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของโรคมะเร็งปอด (รวมถึงผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง)
- ได้รับแร่ใยหิน (แอสเบสตอส) เป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่นการก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค ฉนวนกันความร้อน
- มลภาวะเป็นพิษ เช่น PM 2.5 สารเบนซิน ฟอร์มาลดีฮายด์ เป็นต้น
แพทย์เผย! อาการไอนานเกิน 2 สัปดาห์ คือ สัญญาณแรกของโรคมะเร็งปอด
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เผยอาการที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นโรคมะเร็งปอด ได้แก่
- ไอเรื้อรังติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์
- ไอเป็นเลือด หรือ ไอมีเสมหะปนเลือด
- เจ็บหน้าอก
- น้ำหนักลด
- เหนื่อยง่าย
- อ่อนเพลีย
- เบื่ออาหาร
- บางรายอาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือมีปอดติดเชื้อซ้ำซาก
ซึ่งจริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ไม่ได้เป็นอาการที่เฉพาะเจาะจงกับมะเร็งปอดอาจพบในโรคอื่นได้ เช่น วัณโรคปอด ดังนั้นหากคุณมีอาการไอเรื้อรัง มีเลือดปน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยโรค และวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง
อ่านเพิ่มเติม -> ไอเรื้อรัง เป็นเพราะอะไร เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง?
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ถือเป็นเรื่องสำคัญ
“ตรวจเจอเร็ว รักษาได้ทัน ลดอัตราการเสียชีวิตได้” ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง ทำให้ตรวจพบโรคในระยะแรก ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น การตรวจด้วยเครื่อง CT scan (Low dose CT) สามารถตรวจพบโรคมะเร็งปอดในระยะแรกได้เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งด้วย X-Ray ปอดธรรมดา
หากคุณมีความเสี่ยงเหล่านี้ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
- ผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป และสูบบุหรี่จัด
- ถึงแม้จะเลิกสูบบุหรี่แล้ว แต่ยังหยุดสูบไม่ถึง 15 ปี
- คนในครอบครัวสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ (ควันบุหรี่มือสอง)
- ทำงานใกล้ชิดสารเคมี หรือสารก่อมะเร็ง
- อยู่ใกล้สถานที่ที่มีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำ หรือสถานที่ที่มีฝุ่นพิษ PM2.5 สูง
- สัมผัสฝุ่นควัน หรือมลพิษทางอากาศเป็นระยะเวลานาน
การรักษามะเร็งปอด
การรักษามะเร็งปอดมีเป้าหมายเพื่อที่จะกำจัดมะเร็งในร่างกาย หรือชะลอการเติบโตของมะเร็ง ทั้งนี้การรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็งปอด บริเวณปอดที่เป็น ระยะของมะเร็ง และปัจจัยอื่น ๆ วิธีรักษาจะมีอยู่ด้วยกัน 3 วิธี ดังนี้
- การผ่าตัด (Surgery) – ใช้สำหรับรักษามะเร็งในระยะแรกที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปไกล
- การรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy) – เป็นการให้ยาที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็งโดยการฉีด
- การฉายแสง (Radiation Therapy) – เป็นการรักษาเฉพาะที่ เช่นเดียวกับการผ่าตัด
มะเร็งปอด ป้องกันได้ เริ่มจากไม่สูบบุหรี่!
รู้หรือไม่?! บุหรี่ เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดสูงถึงร้อยละ 80-90% การสูบบุหรี่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของเซลล์หลอดลม ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ ผู้ที่สูบบุหรี่จัดมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 10 เท่า ส่วนผู้ที่ต้องดมควันบุหรี่เป็นประจำ ก็มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปอย่างน้อย 2 เท่า
ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่ควรหลีกเลี่ยง และควรปฎิบัติเพื่อห่างไกลมะเร็งปอด ได้แก่
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง โดยเฉพาะ ฝุ่นPM2.5
- สวมใส่หน้ากากอนามัย หรืออุปกรณ์ป้องกันฝุ่นเมื่อต้องเผชิญฝุ่นมาก
- หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงมะเร็งปอด ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
- เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เช่น นอนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
อ้างอิง : 1. Hfocus 2. bangkokpattayahospital 3. siphhospital 4. mccormickhospital