ชาวกรดไหลย้อนเคยสังเกตกันไหมว่า เมื่อมีอาการท้องอืด แสบร้อนกลางอก ก็มักจะรู้สึกหงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ยาก ตื่นตระหนก ทำให้เกิดคำถามว่า “มันเกิดอะไรขึ้นกับเรากันแน่?” สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ อาการของกรดไหลย้อนนั้น สามารถก่อให้เกิด “โรคแพนิค” หรืออาการทางจิตได้เช่นกัน ตกใจใช่ไหมล่ะ? งั้นมาดูคำตอบกันสิว่า โรคกรดไหลย้อน กับ โรคแพนิค สัมพันธ์กันอย่างไร ควรปรับชีวิตอย่างไรดี?
- เช็กอาการ! กรดไหลย้อน 4 ระยะ มีอาการ และวิธีรักษาอย่างไร?
- การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ดีต่อลำไส้ และผู้ป่วยกรดไหลย้อนอย่างไร?
- 15 คำถามเรื่องกรดไหลย้อน สาเหตุ อาการ วิธีรักษา มีคำตอบที่ GED : Ask Expert
ทำความรู้จักกับ โรคกรดไหลย้อน กับ โรคแพนิค กันสักเล็กน้อย
• โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) – เป็นภาวะที่กรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะไหลย้อนกลับมาในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร โดยผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว และคลื่นไส้ รู้สึกจุกเสียดแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ และรู้สึกเหมือนมีอะไรติดคออยู่ตลอดเวลา มีน้ำรสเปรี้ยว หรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก
• โรคแพนิค (Panic Disorder) – หรือโรคตื่นตระหนก เป็นโรควิตกกังวลประเภทหนึ่งที่เกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Automatic Nervous System) ทำงานผิดปกติ โดยระบบประสาทนี้เป็นระบบที่ควบคุมการทำงานของร่างกายหลายส่วน จึงทำให้เกิดอาการหลายอย่างร่วมกัน เช่น หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก ท้องไส้ปั่นป่วน วิงเวียน ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันแม้ไม่มีสาเหตุ หรือมีเรื่องให้ต้องตกใจ
อาการป่วยแพนิค เนื่องจากกรดไหลย้อนเรื้อรัง
- มีอาการหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่สุด
- แน่นหน้าอก รู้สึกใจหวิว ๆ ใจไม่ดี
- กลืนอาหารลงไปแล้วเหมือนมันจุก ๆ อยู่ตรงลิ้นปี่
- น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
- บางคนตื่นกลัว (Panic attack) ชอบคิดอะไรไปเอง และเริ่มซึมเศร้า
- มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และกรดไหลย้อนมาก่อน เช่น ท้องอืด จุกแน่นและแสบร้อนบริเวณกลางอก
โรคกรดไหลย้อน กับ โรคแพนิค สัมพันธ์กันอย่างไร?
สาเหตุที่ 2 โรคนี้สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนั้น ก็เพราะว่า กระเพาะ ลำไส้ และสมอง เชื่อมโยงกัน ถ้ากระเพาะป่วยก็ชวนสมองป่วยไปด้วยกัน ลำไส้เชื่อมโยงถึงไขสันหลังและสมอง เป็นระบบประสาทส่วนกลางที่เชื่อมโยงถึงกัน จึงมีประโยคที่ว่า “อารมณ์แจ่มใสเพราะสุขภาพลำไส้ดี”
NIH หรือ national library of medicine (หอสมุดแห่งชาติด้านการแพทย์) ประเทศอเมริกา ได้เผยว่า โรคกรดไหลย้อนสามารถนำไปสู่ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าไดั และในทางกลับกัน ความผิดปกติทางจิตใจก็สามารถนำไปสู่อาการกรดไหลย้อนได้เช่นกัน และยังมีผลวิจัยอีกว่า ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคกรดไหลย้อนมากกว่าผู้ที่ไม่มีภาวะซึมเศร้าถึง 1.7 เท่า
ฉะนั้นถ้าเราสังเกตอาการที่เกี่ยวกับช่องท้องของเราให้ดี เช่น วันไหนที่เรามีอาการท้องอืด ก็จะคิดอะไรไม่ค่อยออก ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ รู้สึกหงุดหงิด ซึ่งส่งผลระยะยาวต่อโรคที่เกี่ยวกับจิตเวช (Mental disorders) ได้อย่างไม่รู้ตัว เช่น โรคซึมเศร้า โรคแพนิค เป็นต้น
9 วิธีรับมือ โรคกรดไหลย้อน และ โรคแพนิค
ระบบภูมิคุ้มกัน และระบบประสาท มีความสัมพันธ์กับระบบทางเดินอาหารอย่างมาก การดูแลสุขภาพองค์รวม (โดยเฉพาะอาหารการกิน) จึงเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มด้วยการฟื้นฟูการทำงานของระบบทางเดินอาหาร การฟื้นฟูอวัยวะที่เสื่อม หรือมีการอักเสบให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1. รับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดจากสารปนเปื้อน ช่วยป้องกันความเสียหายของเซลล์เยื่อบุผิว
2. ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ง่ายขึ้น ย่อยดีขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่ย่อยยาก และอาหารปนเปื้อนทั้งจากสารเคมี หรือเชื้อโรค อาหารที่มีแป้ง
3. รับประทานอาหารตามช่วงเวลา และความต้องการของร่างกาย เพื่อไม่ให้ทางเดินอาหารทำงานหนักเกินไป
4. ไม่กินแล้วนอนเลย เราควรเลี่ยงการกินอาหารก่อนนอนสัก 4 ชั่วโมง เพื่อให้ระบบย่อยอาหารได้ทำการย่อยอาหารก่อน ถ้าเรานอนทันทีหลังกิน ก็จะเกิดกรดไหลย้อนขึ้นมาได้
5. การดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว การสวนล้างลำไส้ การอดเพื่อล้างพิษ การรับประทานผักอย่างเพียงพอ ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารได้กำจัดของเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6. เลี่ยงอาหารที่ทำให้เราแพ้ เพราะ การแพ้อาหารอาจเป็นสาเหตุสำคัญของระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดการย่อยไม่ดี ไม่สบายท้อง
7. จัดระเบียบวางแผนการใช้ชีวิตใหม่ ถ้ารู้ตัวว่าทำงานหนัก เรียนหนักเกินไป จนทำให้รู้สึกเครียดติดต่อกัน ต้องปรับปรุงใหม่ พักกายพักใจบ้าง ด้วยการทำสมาธิสัก 5-10 นาที ก่อนเข้านอน
8. ออกกำลังกายบ้าง เพราะการออกกำลังกายช่วยกระตุ้นให้ดื่มน้ำมากขึ้น ร่างกายจึงขับสารพิษออกได้ง่าย และการออกกำลังกายยังช่วยกระตุ้นให้สมองหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข เช่น โดพามีน (Dopamine)
9. อย่าไปกลัว อย่าไปคิดอะไรเอง เพราะโรคแพนิคยิ่งเรากลัว ยิ่งคิดไปเอง ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นทำให้ภาวะแพนิคกำเริบได้บ่อย ต้องอย่าไปคิดถึงอาการของโรค พยายามไม่คิดมาก และควรปรับปรุงพฤติกรรมการกินตามที่กล่าวไปข้างต้น
ควรไปหาหมอด้านไหนก่อน ระหว่าง หมอโรคกระเพาะกับหมอจิตเวช?
ก่อนจะเดินทางไปพบแพทย์ แนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตที่เบอร์ 1323 (ปรึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง) เพื่อรับคำแนะนำเบื้องต้นก่อน หรืออาจเริ่มต้นด้วยการไปพบแพทย์ทางเดินอาหาร เพื่อรับคำวินิจฉัย และการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อย่าลืมว่า เมื่อไหร่ที่อาการกรดไหลย้อนดีขึ้น สุขภาพจิตก็จะดีตาม
อ้างอิง : 1. goodlifeupdate 2. sikarin 3. พท.ว.ภ.อุไรศรี 4. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค 5. NIH 6. หมอเฉพาะทางบาทเดียว 7. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม