ไข้สูง หน้าผากแดง ตัวร้อนจัด คืออาการที่ต้องระวัง! โดยเฉพาะในเด็กเล็กหากปล่อยให้มีไข้สูงนาน อาจเสี่ยงชักได้ มาดูกันว่า ไข้สูงมีสาเหตุจากอะไร ต้องกี่องศาถึงจะเรียกว่ามีไข้สูง และควรรักษายังไงดี? ใครที่มีไข้สูงเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นนานก็ไม่หายสักที ควรรีบพบแพทย์ก่อนมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ
- โรคไข้หวัด สาเหตุ อาการ วิธีรักษา และข้อควรรู้เรื่องหวัดกับ หมออ้อม
- เป็นหวัดมีไข้ ควรกินยาอะไรดี? และข้อควรรู้เรื่อง ยาแก้ไข้หวัดสูตรผสม
- ยาลดไข้ บรรเทาหวัดสูตรผสม มีสรรพคุณ และวิธีใช้อย่างไร?
ไข้ คืออะไร?
ไข้ (Fever) คือ อุณหภูมิของร่างกายที่สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส* คนเราจะมีไข้ก็ต่อเมื่อร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เช่น ติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ร่างกายเกิดการอักเสบ เป็นโรคต่าง ๆ เป็นต้น ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ อาจมาจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย หรือเกิดขึ้นภายในร่างกายเอง
* ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่เมื่อวัดทางปากด้วยเทอร์โมมิเตอร์ แล้วมีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้
** 37.5 องศาเซลเซียส (°C) = 99.5 องศาฟาเรนไฮต์ (°F)
แต่ละวัยควรมีอุณหภูมิปกติอยู่ที่เท่าไหร่?
- ทารก และเด็ก ควรมีอุณหภูมิปกติอยู่ที่ 36.6 – 37.2 องศาเซลเซียส
- ผู้ใหญ่ ควรมีอุณหภูมิปกติอยู่ที่ 36.1 – 37.2 องศาเซลเซียส
- ผู้สูงอายุ ที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป จะมีอุณหภูมิร่างกายปกติต่ำกว่า 36.2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าคนทั่วไป
ข้อควรรู้ : อุณหภูมิร่างกายปกติคนเรานั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแต่ละช่วงของวัน โดยเฉพาะในช่วง 15.00 – 17.00 น. อุณหภูมิมักจะสูงสุด และจะค่อย ๆ ลดลงจนต่ำสุดในเวลา 23.00 – 01.00 น. นอกจากนั้น อุณหภูมิตอนเช้าจะต่ำกว่าอุณหภูมิตอนบ่าย หรือเย็น อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ หรือการออกกำลังกาย และระดับของฮอร์โมนในร่างกายอีกด้วย
ไข้แต่ละระดับมีอุณหภูมิเท่าไหร่ และไข้สูงต้องกี่องศาขึ้นไป?
- ไข้ต่ำ (Low Grade Fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 37.5 – 38.4 องศาเซลเซียส
- ไข้ปานกลาง (Medium Grade Fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 38.5 – 39.4 องศาเซลเซียส
- ไข้สูง (High Grade Fever) มีอุณหภูมิระหว่าง 39.5 – 40.4 องศาเซลเซียส
- ไข้สูงมาก (Hyperpyrexia) มีอุณหภูมิมากกว่า 40.5 องศาเซลเซียส
ฉะนั้น ถ้าวัดไข้แล้วได้อุณหภูมิตั้งแต่ 39.5 °C ถือว่ามี ไข้สูง แต่ถ้าเกิน 40.5 องศาเซลเซียส จะถือว่ามีไข้สูงอย่างรุนแรงหรือ Hyperpyrexia ซึ่งเป็นภาวะที่จัดว่าเป็นอันตรายที่สุด มักเกิดจากการติดเชื้อโรครุนแรงในกระแสโลหิต หรือเกิดจากภาวะเลือดออกในสมอง
ลักษณะของไข้สูง แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
ประเภทที่ 1 ไข้สูงลอย (Continuous fever) หมายถึง อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่อุณหภูมิที่สูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวันมีความแตกต่างกันไม่เกิน 1 องศาเซลเซียส มักพบในภาวะที่มีสารก่อไข้ (เช่น แบคทีเรีย สารพิษ) อยู่ในกระแสโลหิตแทบตลอดเวลา
ประเภทที่ 2 ไข้สูงลอย ขึ้น-ลง (Remittent fever) หมายถึง อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติตลอดเวลา โดยที่อุณหภูมิที่สูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวันมีความแตกต่างกันมากกว่า 1 องศาเซลเซียส แต่น้อยกว่า 1.4 องศาเซลเซียส พบได้ในภาวะติดเชื้อระบบการหายใจจากเชื้อไวรัส เช่น โรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก เป็นต้น
ประเภทที่ 3 ไข้สูงเป็นครั้งคราว (Intermittent fever) หมายถึง อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าปกติ โดยที่อุณหภูมิที่สูงสุดและต่ำสุดในแต่ละวัน มีความแตกต่างกันมากกว่า 1 องศาเซลเซียส แต่น้อยกว่า 1.4 องศาเซลเซียส โดยมีในช่วงของวันที่อุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์ปกติ มักพบในภาวะที่มีการติดเชื้อเฉพาะ ชนิดมีหนอง โรควัณโรค การได้ยาลดไข้เป็นระยะ โรคมาลาเรีย
สาเหตุ หรือโรคที่ทำให้เกิดไข้
- การติดเชื้อที่มีการอักเสบ
- การที่ร่างกายทำปฏิกิริยากับสิ่งแปลกปลอม เช่น หลังการฉีดวัคซีน
- ร่างกายขาดน้ำ เช่น อุจจาระร่วง อุณหภูมิภายนอกร่างกายสูงมาก ๆ
- ได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผล
- โรคมะเร็งมักจะมีไข้เกิดขึ้นร่วมด้วยเสมอ
- โรคติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และริกเกตเซีย เช่น ไทฟอยด์ ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก เป็นต้น
- เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองแตก การผ่าตัด
อาการของไข้สูง มีอะไรบ้าง?
- เหงื่อออก (Sweating)
- หนาวสั่น (Chills)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- ปวดหัว ปวดตามตัว (Headache/body aches)
- เกิดผื่น (Rash)
- ขาดความอยากอาหาร (Lack of appetite)
- อ่อนเพลียมาก (Weakness)
- คลื่นไส้ อาเจียน (Nausea vomiting)
อาการที่ควรเข้าพบแพทย์
- กินยาลดไข้หวัด แล้วไม่หายใน 3 วัน
- มีปัญหาด้านการหายใจ หายใจลำบาก หายใจติดขัด
- มีอาการสับสน กระวนกระวาย
- มีอาการชัก
- ขาดสติ
- ปวดบิดเกร็งขณะปัสสาวะ
- คอแข็ง
- ปวดรุนแรง โดยเฉพาะศีรษะ หน้าอก ท้อง
- มีผื่นขึ้นตามตัว
อาการชักจากไข้สูง มักเกิดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 6 ปี มักจะเกิดขึ้นในวันแรกของการมีไข้ และมักจะหยุดชักได้เองหลังชักเพียงไม่กี่นาที โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นใดตามมา
วิธีรับมือง่าย ๆ เมื่อมีอาการไข้สูง
- กินยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาลดไข้สูตรผสม (หากไม่เคยใช้ยาลดไข้ อาจปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา)
- เช็ดตัวลดไข้ ด้วยน้ำอุ่นเป็นวิธีที่ปลอดภัย สามารถช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ดี
- ดื่มน้ำมากขึ้นกว่าปกติ เพราะร่างกายจะเกิดภาวะขาดน้ำจากอาการไข้ และน้ำยังช่วยกำจัดความร้อนได้ด้วยครับ
- นอนพักผ่อนให้มาก ๆ เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรค และเพื่อลดการใช้พลังงานในช่วงที่มีไข้
อ้างอิง : 1. มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องไข้ 2. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 3. bangkokbiznews 4. หมอชาวบ้าน 5. UPMC HealthBeat 6. buoyhealth.com 7. samitivejhospitals