การหายใจ (breathing/respiration) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตของคนเรามากที่สุด เพราะมนุษย์ทุกคนต้องหายใจเพื่อมีชีวิตอยู่ หากเราไม่หายใจ หรือขาดอากาศหายใจก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่ถึง 10 นาที ฉะนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติเรื่องระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจเข้าแล้วเจ็บหน้าอก อย่าปล่อยทิ้งไว้ อาจเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงได้!
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- โรคกรดไหลย้อน และ โรคหอบหืด สัมพันธ์กันอย่างไร? พร้อมแนะ! วิธีปรับพฤติกรรมบรรเทาโรค
- เป็นหอบหืด ต้องใช้ยาพ่นไปตลอดจริงหรือ? และเรื่องควรรู้เมื่อป่วยหอบหืด
ทำความรู้จักกับ “ระบบหายใจ” สักเล็กน้อย
ระบบหายใจ (Respiratory system) – เป็นระบบที่นำอากาศซึ่งมีออกซิเจนเข้าสู่ปอด จากการหายใจเข้า เพื่อให้ร่างกายนำออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการเผาผลาญพลังงาน (Metabolism) ในขณะเดียวกันยังเป็นการรับเอาคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นของเสียจากกระบวนการดังกล่าว ส่งออกนอกร่างกาย จากการหายใจออก โดยกระบวนการแลกเปลี่ยนก๊าซจะเกิดขึ้นที่ ถุงลมปอด (Pulmonary alveoli)
ระบบทางเดินหายใจของคน ประกอบไปด้วย
1. ระบบทางเดินหายใจส่วนบน (upper respiratory tract, URI) : ประกอบด้วยอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการหายใจเหนือกล่องเสียงขึ้นไป ได้แก่
- รูจมูก (Nostril)
- โพรงจมูก (Nasal cavity)
- คอหอย (Pharynx)
2. ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง (lower respiratory tract, LRI) : อยู่ถัดจากทางเดินหายใจส่วนบน มีหน้าที่ลำเลียงอากาศเข้าสู่ปอด ประกอบด้วย
- กล่องเสียง (larynx)
- หลอดลม (trachea)
- ขั้วปอด (Bronchus)
- ปอด (lung) และแขนงขั้วปอด (bronchiole)
- ถุงลมเล็ก ๆ ในปอด (alveolus หรือ air sac)
การหายใจเข้าและหายใจออก
- เมื่อเราหายใจเข้า ทรวงอกจะขยายตัว ขณะที่กะบังลมหดตัวลง
- เมื่อเราหายใจออก กะบังลมจะคลายตัวกลับที่เดิม และทรวงอกแคบลง
หายใจเข้าแล้วเจ็บหน้าอก เกิดจากอะไร เสี่ยงโรคหัวใจหรือเปล่า?
โดยทั่วไปเวลาคนเราหายใจเข้า ปอดจะเกิดการขยายตัว เส้นประสาทที่รับรู้อาการเจ็บปวดในปอดส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณเยื่อหุ้มปอดด้านนอก ดังนั้น หากว่ามีอะไรทำให้เกิดอาการอักเสบของเยื่อหุ้มปอด ก็จะทำให้มีอาการเจ็บเมื่อหายใจได้ นอกเหนือจากเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจที่อยู่บริเวณทรวงอกหากอักเสบขึ้นมา ก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บจี๊ดเวลาหายใจเข้าได้
ภาวะที่ทำให้หายใจลำบาก หายใจเข้าแล้วเจ็บหน้าอก อาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรง โดยสาเหตุหลัก ๆ มักมีดังนี้
1. การบาดเจ็บและความผิดปกติของปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, โรคหอบหืด, การสูดดมสารเคมี หรือควันเป็นประจำ, ซี่โครงหัก, หลอดเลือดบริเวณปอดเกิดการอุดกั้น, ปอดบวม, เยื่อหุ้มปอดอักเสบ
2. ติดโควิด-19 และจะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ สูญเสียการรับรู้กลิ่นและรส ร่วมด้วย
3. กลุ่มเกี่ยวกับโรคหัวใจ เช่น เยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจวาย หัวใจล้มเหลว
4. โรคกระดูกซี่โครงอ่อนอักเสบ ลักษณะอาการคือ เจ็บเวลาหายใจเข้าลึก ๆ หรือเมื่อเอี้ยวตัว บางรายอาจเจ็บมากจนไม่กล้าหายใจเข้า เพราะเมื่อหายใจเข้าแล้วจะเจ็บทุกครั้งตามการขยับของซี่โครง
5. โรคกรดไหลย้อน โรคนี้ยังเชื่อมโยงกับสภาวะหลายอย่างที่อาจทำให้หายใจลำบาก เช่น โรคหอบหืด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
6. โรคแพนิค อาการของโรคพานิคมักจะคล้ายกับโรคหัวใจ หรือความผิดปกติของการหายใจ มักมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น หายใจถี่ ตัวสั่น เหงื่อออก
7. โรคหายใจเกิน เกิดจากผู้ป่วยมีการหายใจเร็วผิดปกติซึ่งสัมพันธ์กับภาวะอารมณ์ แล้วยิ่งผู้ป่วยฝืนหายใจเร็วขึ้น จะยิ่งทำให้อาการแย่ลง ภาวะนี้มักจะพบในกลุ่มวัยรุ่นที่อยู่ในอารมณ์เครียด กดดัน
นพ. ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด วิกฤตบำบัด และการปลูกถ่ายปอด ได้กล่าวว่า “อาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยเลย ส่วนมากมักจะไม่อันตราย อย่างไรก็ตามหากมีอาการอื่น ๆ เช่น เหนื่อยหอบ เหงื่อแตก ใจสั่น หน้ามืด หรือมีโรคประจำตัวอยู่ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อให้แน่ใจก่อนว่าไม่มีโรคที่อันตราย เช่น ปอดรั่ว ลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดปอด โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เส้นเลือดใหญ่มีการฉีก หรือหลอดอาหารฉีก เป็นต้น”
หายใจเข้าแล้วเจ็บหน้าอก เสี่ยงโรคหัวใจหรือเปล่า?
โรคหัวใจถือเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยสูงเป็นอันดับต้น ๆ แต่การหายใจเข้าแล้วเจ็บหน้าอก อาจไม่ได้หมายถึงอาการของโรคหัวใจเสมอไป ตามที่ระบุไว้ข้างต้น… อาการเจ็บอกขณะหายใจ เกิดได้จากหลายโรคเลยทีเดียว
แต่ที่น่ากลัวที่สุด คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart Attack หรือ Acute myocardial infarction) หากมีอาการเจ็บแน่นอกติดต่อกันมากกว่า 20 นาทีขึ้นไป มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตได้ระยะเวลาต่อมา ควรพบแพทย์ทันที
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
หากคุณพบอาการเหล่านี้ ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก ควรโทรเรียกบริการฉุกเฉิน หรือไปพบแพทย์ด่วนที่สุด เพราะอาจบ่งบอกถึงอาการหัวใจวายได้
- อาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด
- มีไข้ ใจสั่น
- เจ็บแน่นหน้าอกมาก
- เหงื่อออก
- หายใจถี่ หายใจหอบเหนื่อย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- วิตกกังวลอย่างมาก
- ไอมาก หรือไอเป็นเลือด
- เหงื่อออกเย็น
- ปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น ปวดท้อง
อาการเจ็บหน้าอกขณะหายใจ อาจเป็นผลจากปัญหาเฉียบพลัน หรือระยะสั้น หรืออาจเป็นอาการของภาวะเรื้อรัง รวมถึงโรคหัวใจ การติดต่อแพทย์เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้คุณได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
อ้างอิง : 1. มหาวิทยาลัยมหิดล 2. ระบบร่างกายมนุษย์ 3. doctor tany 4. นพ.วินัย โบเวจา 5. samitivejhospitals 6. medicalnewstoday