อาหารเป็นพิษ (Food poisoning) เป็นโรคที่เกิดจากการบริโภคอาหาร หรือเครื่องดื่ม ที่ปนเปื้อนสารพิษและเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย สามารถพบได้ทุกช่วงเวลาของปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฤดูร้อนที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงจากการเตรียมอาหารทิ้งไว้
อาหารเป็นพิษจัดเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย แต่มักพบในเด็ก ๆ เนื่องจากกระบวนการเตรียมอาหารกลางวันของโรงเรียน และสามารถเป็นโรคติดต่อได้ ซ้ำยังเกิดการระบาดให้เห็นอยู่เป็นประจำอีกด้วย ในรายที่เป็นรุนแรงถ้าส่งรักษาไม่ทัน อาจถึงแก่ชีวิตได้
สารพิษหลายชนิดทนต่อความร้อน ถึงแม้จะปรุงอาหารให้สุกแล้ว สารพิษก็ยังคงอยู่ และก่อให้เกิดโรคได้ ระยะฟักตัวขึ้นกับชนิดของเชื้อโรค บางชนิดมีระยะฟักตัว 1-8 ชั่วโมง บางชนิด 8-16 ชั่วโมง บางชนิด 8-48 ชั่วโมง
- อาการคลื่นไส้อาเจียน เกิดจากอะไร ควรทำไงดี?
- ปวดท้องเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร อันตรายมั้ย?
- 12 ผลไม้ดี๊ดี มีไฟเบอร์สูง ฮีโร่แก้ท้องผูก ดีต่อระบบย่อยอาหาร
อาหารเป็นพิษ มีอาการอะไรบ้าง?
- ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
- อาจมีปวดกระเพาะอาหารและลำไส้อื่น ๆ ร่วมด้วย
- อาจมีไข้สูง หนาวสั่น
- ปวดเมื่อย
- อาจมีผื่นขึ้น
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
ความรุนแรงของอาการ
- ในรายที่เป็นเล็กน้อย มักจะหายได้เอง ภายใน 24-48 ชั่วโมง
- ในรายที่เป็นรุนแรง เมื่อได้รับสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือ น้ำเกลือ (ทางหลอดเลือดดำ) ก็มักจะป้องกันภาวะแทรกซ้อน และหายได้ภายใน 2-3 วัน (ไม่เกิน 1 สัปดาห์)
- ส่วนในรายที่เป็นรุนแรง และขาดการรักษาด้วยการทดแทนน้ำ และเกลือแร่ ก็อาจเกิดภาวะขาดน้ำถึงขั้นอันตรายได้ภายใน 1-2 วัน
8 ประเภทอาหาร ที่เสี่ยงต่อการเกิด อาหารเป็นพิษ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้กล่าวถึง อาหาร 8 ประเภท ที่มักทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ ไว้ดังนี้
- อาหารสด สุก ๆ ดิบ ๆ หรือผ่านความร้อนไม่เพียงพอ
- อาหารที่มีรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรือเค็มจัด
- อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง ที่พบว่ามีรอยบุบ รอยรั่ว หรือขึ้นสนิม
- อาหารที่ผลิตหรือปรุงไม่สะอาดเพียงพอ เช่น ใช้เขียงหั่นเนื้อสัตว์สดกับผักลวกร่วมกัน
- อาหารที่มีแมลงวันตอม
- อาหารที่ปรุงสุกตั้งแต่เช้า โดยไม่มีการอุ่นร้อน
- อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสมแล้วปรุงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง
- น้ำแข็งที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน
การรักษาและดูแลตัวเอง เมื่ออาหารเป็นพิษ
โดยปกติอาการดังกล่าวจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยให้รักษาตามอาการ ดังต่อไปนี้
- การป้องกันภาวะขาดน้ำ และเกลือแร่ คือสิ่งสำคัญที่สุด หมั่นจิบน้ำ หรือจิบน้ำเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ
- หากปวดท้อง หรือ คลื่นไส้ อาเจียน ไม่ควรทานอาหาร หรือดื่มน้ำ เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
- งดอาหารเผ็ด-เปรี้ยวจัด อาหารประเภทนม ผลไม้ อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารหมักดอง
- ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เนื่องจากเป็นขั้นตอนสำคัญในการขับสารพิษออกจากร่างกาย
- เมื่ออาการบรรเทาลง ช่วงแรกควรทานอาหารอ่อน ๆ หรืออาหารรสจืดประเภทน้ำเป็นหลัก
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 – 10 แก้ว หากแพทย์ไม่ได้สั่งให้จำกัดการดื่มน้ำ
- พักผ่อนให้เต็มที่ เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูจากความอ่อนเพลีย
หากมีอาการรุนแรง หรือมีอาการอาหารเป็นพิษจากสาเหตุข้างล่างนี้ ให้รีบพบแพทย์ใน 24 ชั่วโมง
- มีอาการอาหารเป็นพิษหลังกินเห็ด หรืออาหารทะเล เนื่องจากมักมีสารพิษที่รุนแรง
- คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องรุนแรง
- ท้องเสียรุนแรง แต่ดื่มน้ำไม่ได้ ไม่มีปัสสาวะ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากการขาดน้ำ
- ท้องเสียเกิน 3 วัน แม้ว่าอาการจะทุเลาลงแล้ว
- มีไข้สูงผิดปกติ
- อุจจาระเป็นเลือด
จะป้องกันอาหารเป็นพิษได้อย่างไรบ้าง?
- ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” โดยควรเลือกอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร
- ดูแลอุปกรณ์ทำอาหาร และวัตถุดิบให้สะอาดอยู่เสมอก่อนทำอาหาร
- ควรเก็บแยกอาหารสดจากอาหารอื่น ๆ ในภาชนะที่ปิดมิดชิด
- หากต้องละลายอาหารสดที่แช่แข็ง ควรละลายด้วยไมโครเวฟ เนื่องจากการตั้งทิ้งไว้ หรือ แช่น้ำ จะเป็นการเพิ่มปริมาณเชื้อโรคจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ
อ้างอิง : 1. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2. รพ.ราชวิถี