กินข้าวแล้วเหนื่อย ใครไม่เคยเป็นคงรู้สึกแปลก ๆ ว่าแค่กินข้าวจะเหนื่อยได้อย่างไร? แต่ถ้าใครที่เคยมีอาการแบบนี้ หรือประสบพบเจออยู่เป็นประจำ ก็คงรู้ดีว่ามันทรมานขนาดไหน บางคนเหนื่อยถึงขั้นต้องฟุบบนโต๊ะกินข้าวทุกครั้งที่กินข้าวเสร็จเลยทีเดียว! อาการแบบนี้เสี่ยงเป็นโรคอันตรายหรือเปล่า? วันนี้ GED good life จะพาไปค้นหาคำตอบกัน
กินข้าวแล้วเหนื่อย อาจเป็นสัญญาณของโรคร้าย!
1. ภูมิแพ้จมูก (Allergic Rhinitis) จมูกตันหายใจลำบาก หายใจไม่ออก
ไม่ใช่เพียงแค่ภูมิแพ้จมูก แต่รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่ทำให้จมูกบวม เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก หรือภูมิแพ้ตามฤดูต่าง ๆ เป็นต้น จมูกบวมนั้นเปรียบเหมือนมีคนเอามือมาบีบจมูก ทำให้ไม่สามารถหายใจได้สะดวก หายใจติดขัด ทำให้ระหว่างกินข้าวอาจต้องใช้ปากในการหายใจแทนจมูก จึงทำให้รู้สึกเหนื่อย หอบ ได้ง่ายหลังกินข้าวเสร็จ
2. แพ้อาหาร (Food allergy) หรือมีภาวะแพ้รุนแรง (Anaphylaxis)
ภาวะแพ้อาหาร แพ้มาก ๆ มักเกิดแบบเฉียบพลัน เช่น เด็กแพ้ถั่ว กินไปสักพักจะรู้สึกเหนื่อย แน่นอก ส่วนคนที่แพ้อาหารหนัก อาจต้องรีบเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างทันที หากคุณมีอาการแพ้อาหารประเภทไหน ควรหลีกเลี่ยงอาหารนั้น ๆ จะเป็นการรักษา และป้องกันได้ดีที่สุด อาหารที่คนไทยมักแพ้ ได้แก่ ไข่ นม ถั่วลิสง อาหารทะเล เป็นต้น
3. กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease หรือ GERD)
อาการรู้สึกเหนื่อยหลังกินข้าวอิ่ม อาจมีสาเหตุมาจากโรคกรดไหลย้อน ทำให้รู้สึกจุกคอ แสบอก หายใจลำบากมากขึ้น หรือในผู้สูงอายุบางท่าน ลำไส้เลื่อน ทำให้กระเพาะมาอยู่ในช่วงอก เวลากินข้าวเสร็จก็จะมีอาการแน่นอก หายใจลำบากได้ทันที ภาวะกรดไหลย้อนยังเจอได้กับชาวออฟฟิศอีกด้วย หากผู้ป่วยกลุ่มนี้กินข้าวเสร็จแล้วอยากนอน แนะนำให้เอนหลังได้ 30 องศา ไม่ควรต่ำกว่านั้น
ดูเพิ่มเติม -> 6 อาหารต้องห้าม! เมื่อป่วยเป็นกรดไหลย้อน
4. แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
หากใครมีอาการกินข้าวอิ่มแล้วรู้สึกใจสั่น จุกแน่นที่หน้าอก และหายใจไม่เต็มปวด รู้สึกเหนื่อย ๆ เรอบ่อย นอกจากจะเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อนแล้ว ยังอาจพิจารณาได้ว่าเป็น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ หรือมีแผลในกระเพาะอาหาร ได้อีกด้วย
5. โรคถุงลมโป่งพอง (Pulmonary Emphysema)
ส่วนใหญ่อาการของโรคถุงลมโป่งพอง จะปรากฏเมื่ออายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยจะเริ่มมีอาการไอ และมีเสมหะตอนเช้า โรคนี้แม้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ กินข้าว หรือแม้แต่อยู่เฉย ๆ ก็ทำให้มีอาการเหนื่อยได้แล้ว และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีหายใจเสียงดังวี๊ด หรือรู้สึกเจ็บหน้าอกร่วมด้วย
6. หัวใจกำเริบ (Heart attack)
หากคุณมีอาการหัวใจเต้นเร็ว และแรง รู้สึกวูบ ๆ เหนื่อยหลังจากที่ทานข้าวเสร็จ อาจเชื่อมโยงกับโรคหัวใจได้ แนะนำให้พบแพทย์ช่วยหาสาเหตุ อาจด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจในเบื้องต้น ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันคือ การสูบบุหรี่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง
7. โรคแพนิก (Panic disorder)
โรคแพนิก มีส่วนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา แม้หลังกินข้าว หรือนั่งอยู่เฉย ๆ ก็ตาม ถ้าหากคุณอยู่ในช่วงเวลาของชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียด และกดดันอยู่ตลอดเวลา และเริ่มมีอาการมือเท้าสั่น ใจสั่น หายใจติดขัด แน่นหน้าอก รู้สึกโคลงเคลง หรือเป็นลม ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจดูว่าใช่โรคแพนิกหรือไม่
วิธีปรับพฤติกรรมเพื่อบรรเทา หรือรักษาอาการเหนื่อยหลังกินข้าว
1. ไม่เครียด และไม่หักโหมทำงานหนักจนเกินไป ฝึกทำสมาธิก่อนนอนและหลังตื่นนอนสัก 5 นาที
2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และนอนให้เป็นเวลา ไม่นอนดึกเกินไป
3. กินอาหารให้ตรงเวลา และไม่กินจนอิ่มเกินไป ไม่กินแล้วนอนทันที นั่งหัวสูงไว้ก่อน
4. หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารมัน อาหารที่มีผงชูรสเยอะ
5. ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป เช่น โยคะ จ๊อกกิ้ง ว่ายน้ำ เป็นต้น แต่หากวันไหนที่ค่าฝุ่น PM2.5 สูง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง
6. หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ เช่น แพ้กุ้ง ปู ก็เลี่ยงไปกินอย่างอื่นแทน เพื่อไม่ให้อาการแพ้กำเริบ
7. หากคุณมีโรดกรดไหลย้อน ให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมกระตุ้นกรดไหลย้อน
8. หากคุณยังสูบบุหรี่ ติดแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดใดใด ให้งด ละ เลิกโดยเร็ว เพราะเป็นต้นเหตุของหลายโรคที่สัมพันธ์กับอาการเหนื่อยหลังกินข้าวเสร็จด้วย และยังอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
อ้างอิง : 1. โรคปอดและทางเดินหายใจ หมอวินัยโบเวจา 2. pobpad 3. โรงพยาบาลมนารมย์ 4. healthline