เจ็บตาไม่หายสักที โดนฝุ่น โดนอากาศข้างนอกมาทีไรก็มักมีอาการ คันตา แสบตา น้ำตาไหล ตาแดงบวมไปหมด แบบนี้อาจเสี่ยงเป็น “ภูมิแพ้ขึ้นตา” ซึ่งหากปล่อยไว้ไม่รักษาให้ถูกจุด ก็อาจทำให้เกิดความพิการทางสายตาได้เลยทีเดียว! แล้วเราจะดูแลรักษาโรคนี้ได้อย่างไร GED good life มีคำตอบมาให้แล้ว มาติดตามกันเลย!
- เช็กให้ชัวร์! ตาแดงจากโควิด VS ภูมิแพ้ขึ้นตา ต่างกันยังไง รักษายังไงดี?
- วิธีดูแลดวงตา ไม่ให้เสื่อมก่อนวัย พร้อมอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพตา
- ระวัง! 8 โรคแทรกซ้อนจากภูมิแพ้อากาศ อันตรายของคนเป็นภูมิแพ้
รู้จักกับ ภูมิแพ้ขึ้นตา โรคที่พบบ่อยในทุกเพศทุกวัย!
ภูมิแพ้ขึ้นตา หรือ โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic Conjunctivitis) คือ ภาวะที่มีอาการอักเสบแดงของเยื่อบุตาด้านนอกของตาขาว ที่เกิดจากร่างกายมีการตอบสนองไวต่อสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น มลภาวะในอากาศ PM2.5 ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ใบไม้ ขนสัตว์ มาสัมผัสกับเยื่อบุตา แล้วกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้
ภูมิแพ้ตาเกิดร่วมกับภูมิแพ้อื่น ๆ ได้
เห็นชื่อโรคเป็นภูมิแพ้ตา แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเกิดขึ้นเฉพาะแค่ที่ตาเท่านั้น เพราะ โรคนี้สามารถเกิดร่วมกับผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอจามเรื้อรัง น้ำมูกไหล ผิวหนังอักเสบ หรือคันที่ผิวหนังร่วมด้วย ผู้ป่วยบางรายมีอาการเพียงบางตำแหน่งของร่างกาย ในขณะที่บางรายเป็นทุกส่วนร่วมกัน
เกร็ดความรู้ : เยื่อบุตา (conjunctiva) เป็นเยื่อบางใส ที่คลุมส่วนของตาขาว ยกเว้นบริเวณตาดำหรือกระจกตา ทำหน้าที่หล่อลื่นตาโดยการผลิตเมือกและน้ำตา และยังมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้จุลชีพหรือเชื้อโรคผ่านเข้าสู่ดวงตา และคนที่เป็นภูมิแพ้จะมีการอักเสบของเยื่อบุตามากกว่าคนปกติ
สาเหตุ และอาการแพ้
ภูมิแพ้ขึ้นตา สามารถแยกสาเหตุ และอาการแพ้ ได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
กลุ่มที่ 1 : อักเสบเฉพาะที่เยื่อบุตา ไม่กระทบต่อกระจกตา (แบบเฉียบพลัน) ถือเป็นโรคภูมิแพ้ทางตาที่พบได้บ่อยที่สุด จะมีทั้งเป็นตามฤดูกาล หรือเป็นแบบต่อเนื่อง มักจะมีอาการภูมิแพ้ของเยื่อบุโพรงจมูกร่วมด้วย
สาเหตุ
- มักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น แพ้ขนสัตว์ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ (ภูมิแพ้ตามฤดูกาล) รา หรือสปอร์ของรา
อาการแพ้ที่พบ
- มีอาการคันตา ตาบวม
- ตาแดง
- น้ำตาไหล
- สู้แสงไม่ได้
กลุ่มที่ 2 : มีการอักเสบของเยื่อบุตาเรื้อรัง และกระทบที่กระจกตา (แบบเรื้อรัง) เป็นกลุ่มที่ต้องระวังกว่ากลุ่มที่ 1 เพราะ กลุ่มนี้มีอาการกระทบที่กระจกตาร่วมด้วย
สาเหตุ
- มักพบในผู้ใส่คอนแทคเลนส์ เยื่อบุตาสัมผัสกับยา หรือเครื่องสำอางที่แพ้ หรือในผู้ป่วยที่เป็นผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หรือหอบหืดมาก่อนแล้ว
อาการแพ้ที่พบ
- มีอาการคันตามาก รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา
- น้ำตาไหล ขี้ตาเหนียว
- ตาแดง ตามัว สู้แสงไม่ได้
- ผิวหนังบริเวณเปลือกตาจะเป็นขุย แดง บวม
- มีเมือก และตุ่มที่เยื่อบุตาด้านบนข้างในของเปลือกตา (มักพบในผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์)
ภูมิแพ้ขึ้นตาทำให้ตาบอด ได้หรือไม่?
การเกิดภูมิแพ้ที่กระจกตา ถ้าเป็นไม่มากก็ไม่เกิดอันตรายอะไร แต่ถ้ามีอาการแพ้เรื้อรัง ปล่อยไว้ไม่รักษา ไม่ไปพบแพทย์ จนถึงขั้นเป็นแผลเรื้อรังที่กระจกตา อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน รักษาได้ยาก และอาจเสี่ยงเป็นโรคต้อหินมากขึ้น และร้ายแรงสุดคือ สูญเสียการมองเห็นได้
ภูมิแพ้ขึ้นตา มีวิธีรักษาอย่างไร และสามารถหายขาดได้หรือไม่?
การรักษาภูมิแพ้ขึ้นตา มีทั้งแบบใช้ยา และไม่ต้องใช้ยา แต่สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาและป้องกันภูมิแพ้ขึ้นตา คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่เราแพ้ ถ้าหากเราหลีกเลี่ยงได้ อาการแพ้ก็จะไม่มารังควาญเราอีก แต่ถ้าหากเราไม่หลีกเลี่ยงต่อให้รักษาด้วยยา หรือไปพบแพทย์มาแล้ว สุดท้ายก็จะไม่หาย และก่อให้เกิดอาการเรื้อรังอีกด้วย!
วิธีรักษาอาการแพ้ด้วยยา
- หากมีอาการคันที่ผิวหนัง คันตา ไอ จาม เนื่องจากภูมิแพ้ สามารถกิน “ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง” เพื่อบรรเทาอาการ
- การใช้ยาหลอดยา ซึ่งมีให้เลือกหลายประเภท ควรใช้ตามคำแนะนำจากแพทย์ หรือ เภสัชกรเท่านั้น
* ยากลุ่มสเตียรอยด์ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทําให้เกิดโรคต้อหิน ซึ่งทําให้ตาบอดได้
วิธีรักษาแบบไม่ใช้ยา
- หลีกเลี่ยงสารที่แพ้ เช่น ละอองเกสรพืช อากาศ ไรฝุ่น เป็นต้น ผ้าปูที่นอนควรใช้แบบกันไรฝุ่นได้ด้วย
- ใช้น้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ ล้างตาเพื่อเอาสารที่แพ้ออกทันที
ใครที่เป็นภูมิแพ้เกี่ยวกับจมูก หรือหอบหืดด้วย ก็ควรรักษาไปด้วยพร้อม ๆ กัน เพราะจะทำให้ได้ผลการรักษาดีขึ้น
วิธีดูแลตนเอง ห่างไกลจากภูมิแพ้ขึ้นตา
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ หรือสารเคมี สิ่งแปลกปลอมที่รู้ว่าแพ้ และทำให้เกิดภูมิแพ้
- รักษาความสะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากใช้คอนแทคเลนส์เป็นประจำ ล้างมื่อทุกครั้งก่อนถอด หรือใส่คอนแทคเลนส์
- ไม่ใส่คอนแทคเลนส์ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์นานเกิน 12 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความแข็งแรง
- ควรรับประทานผัก ผลไม้ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อเสริมภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย และทำให้ภาวะภูมิแพ้ดีขึ้นในระยะยาว