สาว ๆ ส่วนใหญ่ คงเติบโตขึ้นมาพร้อมกับว่าได้ยินคำว่า “ไข้ทับระดู” กันอยู่บ้าง โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยมีประจำเดือน พอมีอาการอ่อนเพลีย เหมือนจะป่วยช่วงมีประจำเดือน เจ้าโรคไข้ทับระดูก็โผล่มาให้ได้ยินกันเป็นประจำ แล้วโรคนี้เกิดจากอะไรกันแน่ ทำไมถึงเกิดแต่กับผู้หญิง จะดูแลรักษา หรือ ป้องกันได้อย่างไร
ไข้ทับระดู (Period Flu) หมายถึง การมีไข้ขณะมีประจำเดือน เพราะคำว่า ระดู หมายถึง เลือดประจำเดือน โดยผู้หญิงในช่วงที่มีประจำเดือน ร่างกายมักจะอ่อนแอลง ภูมิต้านทานการติดเชื้อลดลง โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อจึงง่ายกว่าปกติ
ไข้ทับระดูในอดีต อาจจะดูเป็นโรคน่ากลัวสำหรับผู้หญิง เป็นแล้วอาจจะเสียชีวิตได้ เพราะเทคโนโลยีการแพทย์ต่าง ๆ ก็ไม่ทันสมัยเหมือนสมัยนี้ เวลาเจ็บป่วย เป็นไข้ หรือติดเชื้อ ก็อาจจะรุนแรง จนเสียชีวิตได้นั่นเอง
สาเหตุของไข้ทับระดู
– ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เนื่องจากขณะมีประจำเดือนร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง เช่น เอสโตเจนและโปรเจสเตอโรน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ระบบร่างกายเสียสมดุล
– มีภูมิต้านทานลดน้อยลง เป็นช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ ภูมิต้านทานการติดเชื้อลดลง จึงมีโอกาสที่จะเกิดเจ็บป่วย เป็นไข้ หรือติดเชื้อง่ายกว่าปกติ
– รักษาความสะอาดไม่ดี ช่วงมีประจำเดือน มีโอกาสติดเชื้อในมดลูก และปีกมดลูกได้มากกว่าปกติอีกด้วย โดยเฉพาะหากรักษาความสะอาดอวัยวะเพศ ช่องคลอดไม่ดี
ไข้ทับระดู สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่
1. ไข้ทับระดู ที่ไม่มีสภาวะอื่นแอบแฝง
– มีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป ไม่รุนแรง
– มีไข้
– ปวดหัว ตัวร้อน
– อ่อนเพลีย
การรักษา
- กินยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดลดไข้ หากมีอาการไข้หวัด
- นอนหลับพักผ่อนมาก ๆ ไม่หักโหม ออกแรง
- เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ หรือ เมื่อเริ่มรู้สึกเปียกชื้น
- รักษาความสะอาดอวัยวะเพศ ช่องคลอด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ
2. ไข้ทับระดู ที่มีสภาวะโรคแอบแฝง
- มีอาการไข้ขึ้นสูง หนาวสั่น ปวดหลัง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ปวดท้องน้อย อาจเป็นได้ทั้ง 1 หรือ 2 ข้าง
- มีตกขาวปนหนองออกมา ระหว่างมีประจำเดือน
- เจ็บลึก ๆ ขณะมีเพศสัมพันธ์
- เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- ประจำเดือนอาจมากผิดปกติ และมีกลิ่นเหม็น
หากมีอาการจะรุนแรงของไข้ทับระดู อาจเป็นสัญญาณของโรคที่แอบแฝง เช่น “ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ” (Pelvic inflammatory disease/ PID) คือ ภาวะที่มีการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงส่วนบน คือ บริเวณมดลูก (endometritis) ท่อนำไข่ (salpingitis) รังไข่ (oophoritis) และเยื่อบุช่องท้องในอุ้งเชิงกราน (pelvic peritonitis)
การรักษา
- หากมีอาการไข้สูง หรือ มีความผิดปกติบริเวณอวัยวะเพศ ช่องคลอด ควรไปให้หมอตรวจ
- ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบจากการติดเชื้อ สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
- งดมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะรักษาหายขาด
- พาคู่นอนไปรักษาด้วย เมื่อหายขาดแล้วจะได้ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
ไขข้อสงสัย ไข้ทับระดู
ถาม : ไข้ทับระดู ฉีดยาได้ไหม ?
ตอบ : ฉีดได้ เมื่อเป็นไข้ทับระดู หากกินยาลดไข้ แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการไข้สูงมาก อาเจียนมาก คุณหมออาจจะฉีดยาให้ ซึ่งเป็นไข้ทับระดู สามารถฉีดยาได้ตามปกติ หากไม่ได้มีอาการแพ้ยาชนิดที่ฉีด ก็ไม่มีอันตราย
ถาม : ไข้ทับระดูห้ามกินอะไร ?
ตอบ : อาหารบางชนิด มีความเชื่อว่าควรเลี่ยงระหว่างมีประจำเดือน หรือ เป็นไข้ทับระดู เช่น น้ำเย็นจัด น้ำแข็ง อาหารฤทธิ์เย็น อาหารรสจัด เผ็ดจัด เค็มจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน เนื้อแดง
ถาม : ไข้ทับระดูสระผมได้ไหม ?
ตอบ : สามารถสระผมได้ตามปกติ แต่ควรรีบเช็ดผม เป่าผมให้แห้ง ทำร่างกายให้อบอุ่น
เมื่อเป็นไข้ทับระดู ควรดูแลตัวเองอย่างไร?
- ดูแลความสะอาดจุดซ่อนเร้น ใช้น้ำเปล่าทำความสะอาดก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างทำความสะอาด เพราะอาจทำลายเชื้อแบคทีเรียชนิดดีในช่องคลอด
- พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้อย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง เพราะการอดนอน หรือ นอนน้อย ทำให้ภูมิต้านทานร่างกายลดลง อ่อนเพลีย และมีโอกาสเจ็บป่วย ติดเชื้อได้ง่าย
- เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์เป็นประจำ อาหารที่มีประโยชน์ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายได้ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผัก ผลไม้ วิตามินสูง
- งดเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์ เลี่ยงคาเฟอีน งดสูบบุหรี่
- รักษาความสะอาดมากขึ้นเมื่อมีประจำเดือน เปลี่ยนผ้าอนามัยไม่ต่ำกว่า 2 ชิ้นในหนึ่งวัน หรือ เมื่อรู้สึกเปียกชื้น เพื่อรักษาความสะอาด
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงมีประจำเดือน เพราะมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อร้ายสูง เนื่องจากเวลาที่มีประจำเดือน ปากมดลูกจะเปิด เลือดจึงเป็นอาหารชั้นดีหล่อเลี้ยงแบคทีเรียให้เจริญเติบโต เมื่อเกิดการติดเชื้อจึงทำให้โรคค่อนข้างรุนแรง เกิดเป็นไข้ทับระดูขึ้น
- ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบแก้ปวด กระเป๋าน้ำร้อน สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง และปวดกล้ามเนื้อได้ โดยวางกระเป๋าน้ำร้อน บริเวณหน้าท้องส่วนล่าง ประมาณ 15 นาที เมื่อมีอาการปวด หรือ ทำได้เรื่อย ๆ ได้ตลอดทั้งวัน
- กินแคลเซียมเสริม แคลเซียมอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดท้อง ปวดประจำเดือนได้