ผมร่วงหลังคลอด คือปัญหาที่คุณแม่มือใหม่มักจะตกใจ และกังวลใจไม่น้อยเลยทีเดียว หวีผมทีร่วงหลุดเป็นสายฝน ท่อน้ำในห้องน้ำก็อุดตัน เพราะเส้นผมร่วงหนักไม่ไหว คิดไปไกลถึงขั้นหัวต้องล้านแน่! ยิ่งเห็นก็ยิ่งเครียด จะจัดการอย่างไรดีนะ? แล้วผมจะกลับมาสวยเหมือนเดิมไหมนะ? สารพัดคำถามในใจ สามารถหาคำตอบได้แล้วที่นี่ มาติดตามกันเลย!
ทำความเข้าใจกับ ผมร่วงหลังคลอด
คุณแม่มือใหม่หลายคนประสบปัญหาผมร่วงมากเกินไปหลังคลอด (Postpartum Hair Loss) โดยผมมักจะร่วงสูงสุดประมาณสี่เดือนหลังคลอด เมื่อถึงวันเกิดปีแรกของลูก ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีผมยาวตามปกติ หากผมของคุณไม่กลับมาเต็มตามปกติหลังจากผ่านไปหนึ่งปี คุณอาจต้องไปพบแพทย์ผิวหนัง เพราะอาจมีสิ่งอื่นทำให้ผมร่วงได้ ผู้คนสูญเสียเส้นผมด้วยเหตุผลหลายประการ และการวินิจฉัยที่ถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ผมร่วงมีผลต่อเด็กทารกหรือไม่?
ผมร่วงหลังคลอดเป็นเรื่องปกติของการตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร และจะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยของคุณแม่แน่นอน
แต่เส้นผมที่หลุดร่วงสามารถพันรอบนิ้วมือ นิ้วเท้า หรือส่วนอื่น ๆ ของร่างกายทารกได้ (แต่ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ นัก จึงไม่ต้องกังวลใจไป) ซึ่งอาจทำให้ทารกเกิดอาการปวด และเลือดไม่ค่อยหมุนเวียนได้ หากคุณแม่สังเกตเห็นจะต้องคลายผม หรือตัดผมอย่างระมัดระวัง
สาเหตุที่ทำให้ผมร่วงหลังคลอด
โดยปกติแล้วเส้นผมคนเราจะร่วงวันละประมาณ 100 เส้น แต่ไม่ได้ร่วงพร้อมกันทีเดียว ทั้งนี้ในช่วงผมร่วงหลังคลอด คุณแม่จะมีภาวะผมร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน
โดยปกติวงจรชีวิตเส้นผมของคนเรา จะมี 3 ระยะด้วยกัน คือ
1. ระยะเจริญเติบโตของเส้นผม (Anagen phase) – เส้นผมทั้งศีรษะประมาณ 85-90% จะอยู่ในระยะการเจริญเติบโตนี้ แต่ยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไร ระยะอนาเจนก็จะสั้นลง
2. ระยะหยุดการเจริญเติบโต (Catagen phase) – ระยะนี้จะเป็นช่วงสั้น ๆ เส้นผมจะเติบโตช้าลง และค่อย ๆ หยุดเติบโตไปในที่สุด แล้วเข้าสู่ช่วงเวลาหลุดร่วง ช่วงที่ทรมานใจที่สุดนั่นเอง
3. ระยะพัก (Telogen phase) – เป็นระยะสุดท้ายของเส้นผม เป็นระยะช่วงรอยต่อที่ผมกำลังจะหลุดร่วง กับระยะที่เส้นผมใหม่จะขึ้นมาแทนที่
ในระหว่างตั้งครรภ์ หากคุณแม่สังเกตจะพบว่า ผมขึ้นสวย และหนา เป็นที่พอใจมาก นั่นก็เพราะผมส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะการเจริญเติบโต (Anagen) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของฮอร์โมน (โดยเฉพาะฮอร์โมนเอสโตรเจน)
แต่หลังจากคลอด ฮอร์โมนของคุณแม่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ระดับ “ฮอร์โมนเอสโตรเจน” จะลดต่ำลง ส่งผลให้ผมในช่วงก่อนตั้งครรภ์ที่ทั้งหนา และสวยงามของคุณแม่เริ่มเข้าสู่ระยะการหลุดร่วง เนื่องจากผมร่วงจำนวนมากในคราวเดียว จึงอาจทำให้คุณแม่รู้สึกตกใจ และกังวลใจได้ แต่สุดท้ายแล้วภาวะผมร่วงนี้จะกลับคืนสู่ปกติอีกครั้ง จึงไม่ต้องกังวลใจไป
สรุปแล้ว สาเหตุที่ทำให้ผมร่วงหลังคลอดนั้น ก็มาจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ทำให้เส้นผมจำนวนมากในระยะเจริญเติบโต (anagen) เข้าสู่ระยะพัก (telogen) กะทันหัน ไม่กี่เดือนต่อมาหลังคลอด คุณแม่จึงมักพบกับภาวะผมร่วงนั่นเอง แต่สุดท้ายภาวะผมร่วงนี้จะหมดไป และเส้นผมจะกลับมาสวยเหมือนเดิมอีกครั้ง
ผมร่วงหลังคลอดจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะได้เตรียมใจทัน!?
อาการผมร่วงหลังคลอด จะไม่เกิดขึ้นทันทีหลังจากคลอดลูก มักจะเกิดขึ้นหลังจากคลอดลูกไปแล้วประมาณ 2-3 เดือน แต่ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะคุณแม่หลังคลอดคนอื่น ๆ ก็มีอาการแบบนี้เช่นเดียวกัน และอย่าลืมว่าอาการผิดปกติอื่น ๆ หลังคลอด ยังน่ากลัวกว่าอาการผมร่วง เช่น ซึมเศร้าหลังคลอด เป็นต้น เป็นอาการที่คุณแม่มักจะกังวลใจเป็นที่สุด และเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่จะผ่านไปได้โดยง่าย
ผมร่วงหลังคลอด จะกินระยะเวลานานแค่ไหน?
แม้ว่าการสูญเสียเส้นผมอาจเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล แต่ข่าวดีก็คือ การหลุดร่วงของเส้นผมหลังคลอดนั้นเกิดขึ้นได้เพียงชั่วคราว ไม่เกิน 6 เดือนเท่านั้น ผมของคุณแม่ก็ควรกลับมาสู่สภาวะปกติ เมื่อลูกอายุครบหนึ่งขวบพอดี
ส่วนสัญญาณหลักที่ทำให้รู้ว่าเรากำลังอยู่ในภาวะผมร่วงหลังคลอดนั้น ก็คือ เห็นผมหลุดร่วงได้มากกว่าปกติ จากการแปรงผม หวีผม บนหมอน หรือพื้นห้องอาบน้ำ และเวลาใส่เสื้อผ้าสีขาว (หรือสีเสื้อที่ตัดกับเส้นผมที่ย้อมมา) จะเห็นเส้นผมหลุดร่วงติดเสื้อผ้ามากกว่าสีอื่น ๆ
เสริมธาตุเหล็ก บำรุงเส้นผม
คุณแม่ที่มีอาการผมร่วงมานานกว่า 1 ปี อาจต้องได้รับการตรวจประเมิน หรือตรวจเลือดดูระดับธาตุเหล็ก หากมีระดับต่ำ คุณหมอจะพิจารณาให้ธาตุเหล็ก โดยเกลือที่นิยมใช้ได้แก่ เฟอร์รัสฟูมาเรท (ferrous fumarate) ธาตุเหล็กอาจอยู่ในรูปแบบของวิตามินรวมและเกลือแร่ หรือ ยาเสริมธาตุเหล็กเดี่ยว ๆ
การให้ยาที่มีส่วนประกอบของเหล็กควรให้ก่อนอาหาร เพราะถูกดูดซึมได้ดีขณะท้องว่าง แต่ถ้ามีการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหารมาก เช่น คลื่นไส้ ก็อาจให้พร้อมอาหา รหรือหลังอาหารได้
วิธีดูแลเส้นผมหลังคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรนำไปใช้
ถึงแม้ว่าภาวะผมร่วงหลังคลอดจะไม่สามารถป้องกัน เพราะถือว่าเป็นธรรมชาติของฮอร์โมนในตัวคุณแม่ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย GED good life จึงขอแนะนำวิธีดูแลเส้นผมหลังคลอด ให้คุณแม่ได้นำไปปฏิบัติกัน ดังนี้
1. เสริมวิตามิน – แม้ว่าคุณแม่หลังคลอด ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่วิตามินอาจช่วยเป็นอาหารเสริมได้หากการรับประทานอาหารของคุณแม่ไม่สมดุล เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี คุณหมอมักแนะนำให้ทาน วิตามินรวม และเกลือแร่ขณะตั้งครรภ์ ต่อหลังจากที่ทารกเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณกำลังให้นมบุตร โดยใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
2. ใช้แชมพู และครีมนวดประเภทเพิ่มวอลลุ่ม (volumizing shampoo) – แชมพูเหล่านี้มักจะมีส่วนผสมเช่นโปรตีนที่เคลือบผม ทำให้เส้นผมดูเต็มขึ้น
3. เปลี่ยนทรงผม – ด้วยการตัดให้สั้นลง เพื่อความเบาสบายศีรษะ แลดูทะมัดทะแมงมากขึ้น และแจ้งให้ช่างตัดผมพิถีพิถันในการตัดผมให้เส้นผมดูแน่นฟู ไม่บางเกินไป
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ – อาหารที่แนะนำเพื่อปรับปรุงสุขภาพผม ได้แก่ ผักใบเขียวเข้มมีธาตุเหล็ก และวิตามินซี มันเทศ และแครอทมีเบตาแคโรทีน ไข่มีวิตามินดี และปลามีโอเมก้า 3 และ แมกนีเซียม
5. ไม่ใช้ความร้อนกับเส้นผม – ไม่ควรใช้ไดร์เป่าผม หนีบผม หรือดัดผม ด้วยความร้อน เพราะจะยิ่งทำให้เส้นผมบางลงกว่าเดิม จนคุณแม่อาจสูญเสียความมั่นใจได้ ควรปล่อยให้ผมแห้งเองตามธรรมชาติ หรือใช้ผ้าช่วยซับน้ำให้ผมแห้งเร็วขึ้นแทน
6. ไม่หวีผมแรงเกินไป – การหวีผมแรงเกินไปอาจทำให้ผมของคุณร่วงเป็นกอใหญ่ได้ ดังนั้นควรหวีอย่างอ่อนโยน และอย่าหวีมากกว่าวันละครั้ง
7. หวีผมอย่างเบามือ – เพราะการหวีผมอย่างรุนแรง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมขาดหลุดร่วงได้ และอาจทำให้อาการผมร่วงแย่ลงไปอีก ดังนั้น ควรหวีผมอย่างเบามือ และหวีผมวันละครั้งก็พอ
อ้างอิง : 1. lancastergeneralhealth 2. clevelandclinic 3. healthline 4. synphaet 5. wongkarnpat
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่