โรคฝีดาษลิง แค่ได้ยินก็รู้สึกกลัว! โดยล่าสุดประเทศไทยพบคนไทยติดโรคฝีดาษลิงแล้วด้วย จึงทำให้ประชาชนรู้สึกตื่นตระหนกกับโรคนี้เป็นอย่างมาก วันนี้ Ged Good Life จึงขอพาทุกคนไปเคลียร์ให้ชัด ในทุกประเด็นที่เกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง มาติดตามกันเลย!
- 14 โรคติดต่ออันตราย! ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
- มั่วเซ็กซ์ ติดกาม เสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อะไรบ้าง?
- 12 โรคสัตว์สู่คน ไม่อยากป่วย ต้องระวังให้ดี!
ทำความรู้จักกับ “โรคฝีดาษลิง”
โรคฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานร (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Orthopoxvirus (ถูกค้นพบเมื่อปี ค.ศ. 1958) ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกันกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (small pox) โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก เช่น แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง ไลบีเรีย ไนจีเรีย
อันที่จริงโรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ แต่ครั้งนี้ที่ต้องมีการเตือนประชาชนให้ดูแลป้องกันตนเอง เนื่องจากพบผู้ป่วยแล้วในหลายประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศไทย ทั้งนี้ ประเทศอเมริกาได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขแล้วด้วย
พาะหะของโรค การติดเชื้อ และการแพร่ระบาด
พาหะของโรคฝีดาษลิง – สัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เป็นหลัก โดยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง ซึ่งไปรับเชื้อมาโดยบังเอิญ จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “ฝีดาษลิง”
การติดต่อจากสัตว์สู่คน – เกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งหรือแผล หรือการกินสัตว์ที่ปรุงไม่สุก โดยปัจจุบันพบเฉพาะในสัตว์ที่มาจากทวีปแอฟริกา ยังไม่พบในประเทศไทย สำหรับกลุ่มคนที่ล่าสัตว์ และนำเนื้อมาชำแหละ ก็มีความเสี่ยงได้เช่นกัน ทั้งนี้การแพร่กระจายเชื้อผ่านอากาศ (Airborne) สามารถเกิดขึ้นได้แต่น้อยมาก
การติดต่อจากคนสู่คน – เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับ ผื่น แผล หรือสารคัดหลั่งทางเดินหายใจของผู้ป่วย หรือหลังสัมผัสกับวัตถุปนเปื้อนติดเชื้อ เช่น เสื้อผ้า หรือเครื่องนอนของคนป่วย ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม ก็ทำให้ผู้สัมผัสติดเชื้อโรคฝีดาษลิงได้เช่นกัน
กลุ่มเสี่ยงโรคฝีดาษลิง
- กลุ่มชายรักชายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด โดยมีจุดสัมผัสเสี่ยงสูงของโรคนี้ จะอยู่ที่ตุ่มฝี ตุ่มหนอง และที่ผิวหนัง
- เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ
โรคฝีดาษลิง ติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่?
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผย งานวิจัยทางการแพทย์ล่าสุดจากทีมนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเบลเยียม บ่งชี้ว่า ไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่ติดต่อจากการร่วมเพศทางทวารหนักได้โดยบางรายไม่แสดงอาการ ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงจากผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย อาจจะไม่มีตุ่มแผลปรากฏตามตัว และใบหน้าให้เห็น
โดยได้ศึกษาจากชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ที่มารับการตรวจกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 จำนวน 225 ราย ตรวจพบเชื้อฝีดาษลิง 4 ราย หนึ่งรายแสดงอาการ ส่วนอีกสามรายไม่แสดงอาการ คิดเป็นร้อยละ 1.3
นพ. เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผอ. WHO กล่าวว่า ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายควรพิจารณา จำกัด หรือลดคู่นอนของตน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง และลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว
โรคฝีดาษลิง ติดต่อกันง่ายไหม?
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรง หรือติดต่อกันได้ง่าย จากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วย 2 รายแรก เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อยู่ด้วยกันเป็นสัปดาห์ ยังไม่มีใครติดเชื้อ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีระบบคัดกรองที่ท่าอากาศยาน แต่โรคนี้มีระยะฟักตัวได้นานถึง 3 สัปดาห์ ทำให้ช่วงเข้ามาในประเทศไทยยังไม่มีอาการแสดง
ในฝั่ง ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์ไว้ที่เฟซบุ๊กส่วนตัวของท่านเช่นกันว่า โรคฝีดาษลิงนั้นมีทั้งการแพร่คล้ายแบบโควิด แต่ “ยากกว่ามาก ๆ” ซึ่งต้องสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดมากแบบผิวแนบผิว หน้าแนบชิดตัว ถึงจะติดโรคฝีดาษลิงได้
หมอธีระวัฒน์ย้ำว่า อย่าตกใจ ตื่นตระหนก เพราะไม่ติดจากการพูดจาปกติ ต้องสัมผัสที่ต้องใกล้ชิด
อาการ และความรุนแรงของ โรคฝีดาษลิง
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคที่อาการไม่รุนแรง หายเองได้ แต่จะมีอาการรุนแรงได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และเด็กเล็ก โดยมีอัตราการตายต่ำกว่าร้อยละ 5 เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน อาการป่วยจะเกิดขึ้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้ โดยมีอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
อาการที่เด่นชัด
- ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการไข้ และผื่น จะเริ่มจากตุ่มแดง ประมาณ 5-7 วัน หลังรับเชื้อ (ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศ และรอบทวารหนัก แขนหรือขา)
- ตุ่มจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแห้งเป็นสะเก็ด ตุ่มมีจำนวนมากน้อยตามความรุนแรงของโรค
อาการอื่น ๆ
- ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
- หนาวสั่น อ่อนเพลีย
- ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
- เจ็บคอ
วิธีรักษาโรคฝีดาษลิง : ข้อมูลจากกรมการแพทย์
การรักษา
- การรักษาตามอาการ แบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วย เช่น ลดไข้ ลดอาการไม่สบายจากตุ่มหนอง และดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
- การรักษาจำเพาะ ยาต้านไวรัสจำเพาะเป็นยาที่ใช้ในการรักษาอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยใน ต่างประเทศ ทั้งนี้ ยาที่มีรายงานให้รายผู้ป่วยที่อาการรุนแรง คือ tecovirimat (TPOXX)
ข้อมูลเกี่ยวกับยา Tecovirimat: TPOXX C19H15F3N2O3
- เป็นยาที่มีทั้งในรูปแบบรับประทาน และให้ทางหลอดเลือดดำ (oral and I.V.) ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ไวรัสในกลุ่ม orthopoxviruses: variola (smallpox), monkeypox, cowpox, vaccinia complications
- Tecovirimat ออกฤทธิ์ในการยับยั้งการแทรกของไวรัสเข้าไปในเซลล์
- มีรายงานใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา และประเทศกลุ่มยุโรป
วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
- หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่ และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่มั่วสุมทางเพศ โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย*
- กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรอง และเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
*WHO ระบุ แม้ว่าโรคฝีดาษลิงจะแพร่กระจายในหมู่ชายรักชาย ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคติดต่อเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย ทุกคนไม่ว่าเพศใด อายุใด มีโอกาสติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงได้เช่นกัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
อ้างอิง : 1. กรมควบคุมโรค 2. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3. ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ 4. กรมการแพทย์ 5. gov.uk