หน้าฝนนี้ อาจทำให้เด็ก ๆ ป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่าย การเช็ดตัวลดไข้ในเด็กที่อายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรใส่ใจ ทำให้ถูกวิธีเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกาย และป้องกันโอกาสชักจากภาวะไข้สูงได้ วันนี้ Ged Good Life จึงขอแนะนำ วิธีเช็ดตัวลดไข้เด็กที่ถูกต้อง ว่าควรทำอย่างไร? และ 6 ข้อห้าม ในการเช็ดตัวลูกน้อย… อย่ารอช้า มาเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันเลย!
ถึงแม้ว่าไข้ส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตราย แต่อาการไข้สูงอาจมีผลเสียในเด็กที่มีอาการขาดน้ำ (เช่น ท้องเดิน อาเจียน ดื่มน้ำไม่ได้) เนื่องจากทำให้ขาดน้ำมากขึ้น จากการที่ดื่มน้ำได้น้อยลง หรือเสียน้ำไปทางลมหายใจ เด็กที่มีภาวะหอบร่วมกับไข้สูง อาจทำให้ความต้องการออกซิเจนสูงขึ้น ทำให้หอบมากขึ้น
ส่วนเด็กที่เป็นโรคหัวใจมีอัตราการเต้นหัวใจที่เร็วอยู่แล้ว ไข้อาจทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น และโรคโลหิตจาง ติดเชื้อในกระแสโลหิต ช็อก ไข้อาจทำให้การปรับตัวของร่างกายเสียสมดุลได้ ดังนั้นการลดไข้ในเด็กที่มีภาวะดังกล่าวจึงเป็นสิ่งจำเป็น และควรทำอย่างถูกวิธี
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมเพื่อใช้เช็ดตัวลดไข้เด็ก
1. เตรียมอ่างใส่น้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิห้อง (ทดสอบว่าน้ำไม่ร้อนเกินไปโดยการใช้หลังมือแตะ) ไม่ควรใช้น้ำเย็น
2. ผ้าขนหนูสะอาดผืนเล็ก 2-4 ผืน
3. ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน
วิธีเช็ดตัวลดไข้เด็กที่ถูกต้อง
1. เตรียมสถานที่ ที่จะเช็ดตัวเด็ก และควรปิดแอร์
2. ถอดเสื้อผ้าผู้ป่วย
3. ปูผ้าเช็ดตัวรองส่วนที่เช็ด เพื่อป้องกันน้ำเปียกที่นอน
4. ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดน้ำให้หมาดพอควร เริ่มเช็ดบริเวณใบหน้า และพักไว้ที่หน้าผาก ซอกคอ ทำซ้ำ 3-4 ครั้ง
5. เช็ดบริเวณหน้าอกและลำตัว
6. เช็ดแขนด้านไกลตัว จากปลายแขนเข้าหาต้นแขน และรักแร้เป็นการเช็ดในลักษณะย้อนรูขุมขน เพื่อระบายความร้อนทำซ้ำ 3-4 ครั้ง และพักผ้าไว้บริเวณข้อพับแขน และรักแร้
7. เช็ดแขนด้านใกล้ตัว โดยทำเช่นเดียวกัน
8. เช็ดขาด้านไกลตัว จากปลายขาเข้าหาต้นขา และขาหนีบ 3-4 ครั้ง และพักผ้าบริเวณใต้เข่า ขาหนีบ
9. เช็ดขาด้านใกล้ตัว โดยทำเช่นเดียวกัน
10. นอนตะแคงเช็ดบริเวณหลัง ตั้งแต่ก้นกบขึ้นบริเวณคอทำซ้ำ 3-4 ครั้ง
11. เช็ดตัวให้แห้ง แล้วใส่เสื้อผ้าผู้ป่วยให้เรียบร้อย
ข้อควรรู้
1. ถ้าเช็ดตัวได้ดี ถูกวิธี ไข้จะลดลงภายใน 15 นาที แต่ถ้าเด็กมีการสั่น แสดงว่าสมองสั่งให้ร่างกายปรับให้ไข้ขึ้น ให้หยุดเช็ดไว้ก่อน เพราะการสั่นทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายมากขึ้น และไข้จะกลับสูงขึ้นกว่าเดิม อีกสิ่งสำคัญคือ เด็กควรได้รับน้ำ และอาหารให้เพียงพอ
2. พ่อแม่บางคน แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ยังมีความเข้าใจผิดว่า เด็กมีไข้เมื่อวัดอุณหภูมิร่างกายได้ 37 องศาเซลเซียส ที่ถูกแล้วการจะถือว่าเป็นไข้ก็ต่อเมื่อวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 38 องศาขึ้นไป อุณหภูมิที่ถือว่าสูงมากจนอาจเกิดอันตรายได้คือ 41.1 องศาขึ้นไป ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อย
ข้อควรระวัง!
ควรสังเกตอาการที่แสดงว่าเด็กกำลังป่วยด้วยโรคร้ายแรง เช่น ซึม ไม่ลุกเดิน ไม่กิน ไม่ดื่ม อาเจียนมากกว่า 3 ครั้งใน 6 ชั่วโมง ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัย และถูกต้องต่อไป…
ข้อห้ามในการเช็ดตัวลูกน้อย
1. ถ้าเด็กกำลังนอนหลับพักได้ ไม่ควรปลุกเด็กขึ้นมาเช็ดตัวตลอดเวลาจนเด็กไม่ได้ผักผ่อน
2. เด็กเป็นไข้วิ่งเล่นได้ ไม่ซึม ก็ไม่ต้องพยายามลดไข้จนเด็กตัวเย็นตลอดเวลา
3. ไม่ควรเช็ดตัวติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไปจนเด็กรู้สึกหนาว
4. ไม่ใช้น้ำเย็นเช็ดตัวลดไข้ เพราะจะทำให้หลอดเลือดหดตัว และระบายความร้อนออกทางผิวหนังได้น้อย
5. ไม่เปิดแอร์ หรือพัดลมขณะเช็ดตัวลดไข้ เพราะจะทำให้ลูกหนาวสั่น เช็ดตัวลดไข้ไม่ได้ผลดี
6. ไม่ใช้แป้งฝุ่นทาหน้า ลำตัว แขนขา หลังเช็ดตัวลดไข้ เพราะแป้งจะไปอุดรูขุมขน ทำให้ระบายความร้อนออกได้น้อย
อ้างอิง : 1. โรงพยาบาลวิภาวดี 2. โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต