หากใครที่อยู่ในช่วงวัย 60 ขึ้นไป คงทราบดีว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐที่แท้จริง เพราะยิ่งสูงวัยเท่าไหร่ ยิ่งมีโรครุมเร้าเท่านั้น! ในวันนี้ Ged Good Life จะพาไปทำความรู้จักกับ “9 โรคฮิตผู้สูงวัย 60+” พร้อมวิธีสังเกต และป้องกันโรค… เพราะเราอยากให้ผู้สูงวัย ห่างไกลโรคร้ายกันทุกคน
9 โรคยอดฮิตผู้สูงวัย 60+ : พร้อมแนะสังเกตอาการ และวิธีป้องกัน
อันดับ 1 โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
เบาหวาน เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ เป็นแล้วไม่หายขาด เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ จึงทำให้ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ยิ่งอายุมากขึ้นยังอาจทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือทำให้ฮอร์โมนอินซูลินออกฤทธิ์ได้น้อยลงเช่นกัน
อาการที่สังเกตได้
กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย และน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่มีสาเหตุ นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ตาพร่ามัว ตาบอด ชาปลายมือปลายเท้า ไตเสื่อม เป็นต้น
วิธีป้องกันเบาหวาน
ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด, รับประทานอาหารที่เหมาะสม, หลีกเลี่ยงการรับประทานของหวาน อาหารเค็ม และอาหารที่มีไขมันสูง, หมั่นออกกำลังกาย เช่น การแกว่งแขน เดิน วิ่งเหยาะ ๆ เป็นต้น
อันดับ 2 โรคหลอดเลือดสมอง (stroke)
โรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะที่สมองขาดเลือดอย่างเฉียบพลัน ทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนของสมองได้ ซึ่งผู้สูงอายุจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเนื่องจากอายุที่มากขึ้น และการเสื่อมสภาพของอวัยวะในร่างกาย เช่น ผนังหลอดเลือดเสื่อม หรือมีโรคประจำตัวอยู่เดิม เช่น เบาหวาน ความดัน ภาวะอ้วน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดได้
อาการที่สังเกตได้
อาการชา แขน-ขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง สับสน ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด มีปัญหาในด้านการเดิน เดินเซ มึนงง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว ตาพร่ามัว หรือมองเห็นไม่ชัด
วิธีป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
งดอาหารที่มีไขมันสูง, งดสูบบุหรี่-สุรา, ตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ, ผ่อนคลายความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
อันดับ 3 โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)
มักพบในผู้หญิงสูงอายุมากกว่าชายถึง 2 เท่า เกิดการใช้ข้อเข่ามานาน การรับน้ำหนักตัวที่มากเกินไป อาการที่พบคือ การเจ็บปวดของข้อ และข้อบวม อาการข้อขัด หรือรูปร่างขาโก่งผิดปกติ เหยียดขาได้ไม่สุด โดยเฉพาะคนที่เล่นกีฬาหนัก ๆ หรือคนที่มีน้ำหนักตัวมากอาจเป็นตัวส่งเสริมให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น
อาการที่สังเกตได้
การเจ็บปวดของข้อ และข้อบวม อาการข้อขัด หรือรูปร่างขาโก่งผิดปกติ เหยียดขาได้ไม่สุด โดยเฉพาะคนที่เล่นกีฬาหนัก ๆ หรือคนที่มีน้ำหนักตัวมากอาจเป็นตัวส่งเสริมให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น
วิธีป้องกันโรคข้อเสื่อม
ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม, ลดกิจกรรมที่ทำให้การเสื่อมของเข่าเกิดได้ง่ายขึ้น เช่น การขึ้นบันได ออกกำลังกายด้วยการเดิน การปั่นจักรยาน การเดินในน้ำ หรือการว่ายน้ำ
อันดับ 4 โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease หรือ COPD)
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในเพศชาย ซึ่งสาเหตุที่สำคัญที่สุดคือ การสูบบุหรี่ โดยโรคนี้ประกอบไปด้วยโรค 2 ชนิดย่อย คือ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง
อาการที่สังเกตได้
มีอาการไอ และมีเสมหะเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี๊ด ๆ
วิธีป้องกันโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับผู้ที่สูบบุหรี่, ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ เช่น PM2.5 ควันธูป ควันรถยนต์ และสารเคมี, และหมั่นตรวจสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
อันดับ 5 โรคต้อกระจก (Cataract)
โรคต้อกระจก เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยอาจเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ร้อยละ 95 เป็นต้อกระจกที่มีสาเหตุมาจากความเสื่อมตามอายุ เมื่ออายุมากขึ้นเลนส์แก้วตาจะแข็ง และขุ่นตัว สายตาจึงมัวลง
อาการที่สังเกตได้
สายตามัว หรือเห็นภาพซ้อน เห็นสีผิดไปจากเดิม ตาสู้แสงไม่ได้ จะมัวเหมือนมีฝ้า หรือหมอกมาบัง
วิธีป้องกันโรคต้อกระจก
ระวังไม่ใช้สายตามากเกินไป, ไม่มองแสงจ้าเป็นเวลานาน, นอนพักผ่อนให้เพียงพอ, หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่จะกระทบกับดวงตา
อันดับ 7 หูหนวก (deaf / Hearing loss)
ผู้สูงอายุจำนวนมากมักมีอาการหูหนวก หูตึง โดยเมื่อเป็นหูตึงมาก ๆ มักจะเป็นอาการหูหนวก อาการหูตึงจะเริ่มขึ้นทีละน้อยตามวัยที่สูงอายุขึ้น จึงสังเกตอาการได้ยาก ถ้าพบว่าการได้ยินเสียงเสียไปจากปกติควรปรึกษาแพทย์ โดยทั่วไปสาเหตุที่พบบ่อยคือ มีขี้หูมาก และอุดแน่นจนเกินไป เพียงแค่แคะขี้หูออก ก็จะช่วยให้ได้ยินได้ดีขึ้น
อาการที่สังเกตได้
แสดงอาการว่าไม่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ได้ยินไม่ชัด ได้ยินไม่ครบทั้งประโยค ต้องเข้าไปพูดใกล้ ๆ หรือพูดเสียงดังกว่าปกติ ผู้สูงอายุถึงจะได้ยิน
วิธีป้องกันหูหนวก
หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเสียงดังมาก ๆ, ไม่ฟังเพลงด้วยหูฟังนานเกินไป และไม่เปิดเสียงดัง, หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู
อันดับ 8 โรคมะเร็ง (Cancer)
รศ.นพ.โกสินทร์ วิระษร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ” โรคมะเร็งที่พบได้บ่อยในผู้สูงวัย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งทั้ง 4 โรคมะเร็งนี้ก็เป็นโรคมะเร็งที่อยากให้ผู้สูงวัยช่วยกันเฝ้าระวัง และสังเกตอาการของตนเอง”
อาการที่สังเกตได้
เมื่อใดก็ตามที่มีอาการปวด โดยที่ไม่เคยรู้สึกปวดมาก่อน ปวดรุนแรงมาก จนนอนหลับไม่หลับ ไม่ว่าจะตำแหน่งไหน ขอให้ระมัดระวังว่าอาจจะมีโรคมะเร็งที่ซ่อนอยู่
วิธีป้องกันโรคมะเร็ง
รศ.นพ.โกสินทร์ กล่าวว่า อยากให้งดการสูบบุหรี่ เลิกการดื่มสุรา สองสิ่งนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากในการที่จะเกิดโรคมะเร็ง และอยากจะให้ผู้สูงวัยหันมาออกกำลังกาย เพราะการที่เราอยากออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะทำให้ลดการเกิดเป็นโรคมะเร็งได้
อันดับ 9 โรคสมองเสื่อม / ภาวะสมองเสื่อม (Dementia)
เป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุทำให้ผู้ที่เป็นมีอาการหลงลืม การใช้ภาษาผิดปกติ และพฤติกรรมรวมถึงอารมณ์เปลี่ยนไป “โรคอัลไซเมอร์” เป็นโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงวัย ในปัจจุบันยังไม่ยารักษาให้หายขาด แต่ยาบางตัวอาจช่วยลดอาการของผู้ป่วยได้
อาการที่สังเกตได้
อาการเริ่มแรกมักเป็นการลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ ๆ ไม่นาน ในขณะที่ความจำเรื่องเก่า ๆ ในอดีตจะยังดีอยู่ ผู้ป่วยอาจถามซ้ำเรื่องที่เพิ่งบอกไป หรือพูดซ้ำเรื่องที่เพิ่งเล่าให้ฟัง นอกจากนั้นยังอาจมีอาการอื่นๆเช่น วางของแล้วลืม , ทำอะไรที่เคยทำประจำไม่ได้ , สับสนเรื่องวัน เวลา สถานที่
วิธีป้องกันโรคสมองเสื่อม
หลีกเลี่ยงยา หรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง, ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง, พยายามฝึกให้สมองได้คิดบ่อย ๆ, ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
อ้างอิง : 1. มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ 2. naturebiotec 3. กรมกิจการผู้สูงอายุ 4. สสส. 5. คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล