เชื้อโรค สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ แต่เชื่อหรือไม่ว่า นอกจากเงาที่ตามตัวเราแล้ว ก็มีเชื้อโรคนี้แหละที่ตามติดเราไปทุกที่! ฉะนั้น เรามาทำความรู้จักเชื้อโรคต่าง ๆ ทั้ง 5 ชนิดกันเลยดีกว่า จะได้รู้ว่า สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่เป็นอันตรายของชีวิตเรานี้ มีที่มาที่ไปยังไง พร้อมวิธีป้องกันตนเองจากเชื้อโรคเหล่านี้ มาติดตามกันเลย!
- หวัดจากเชื้อ ไวรัส VS แบคทีเรีย แตกต่างกันยังไง? แบบไหนรุนแรงกว่ากัน!
- สยองสุดๆ! พยาธิในอาหาร 5 ชนิด ที่แฝงอยู่ในจานโปรดของคุณ
- ย้อนอดีตโรคระบาด สะท้านโลก! สุดสยอง ตายกว่า100ล้านศพ!!
5 เชื้อโรค สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ที่อาจฆ่าเราได้!
เชื้อโรคต่าง ๆ เป็นปัจจัยของการเกิดโรคระบาด อย่างในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า “เชื้อโควิด-19” ที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย ฉะนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจเชื้อโรคต่าง ๆ ไว้ เพื่อจะได้รู้จัก และป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้องนั่นเอง โดยเชื้อโรคที่มักก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ มีดังนี้
1. เชื้อไวรัส
ไวรัส (Virus) – เป็นชื่อมาจากภาษาละติน แปลว่า “พิษ” เป็นสิ่งมีชีวิตขนาด 20-40 นาโนเมตร ที่เล็กจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า (ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์อิเลคตรอน ที่มีกำลังขยายสูงถึงหลายแสนเท่า) ไวรัสไม่จัดเป็นเซลล์ โครงสร้างมีเพียงโปรตีนซึ่งเป็นปลอกหุ้มสารพันธุกรรมของตัวเองไว้
นักชีววิทยาบางส่วนถือว่าไวรัสเป็นสิ่งมีชีวิต เพราะมีสารพันธุกรรม สามารถสืบพันธุ์ และวิวัฒนาการผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติได้ แม้ว่าจะขาดคุณสมบัติสำคัญ เช่น โครงสร้างของเซลล์ซึ่งโดยทั่วไปถือเป็นเกณฑ์ที่จำเป็นในการนิยามสิ่งมีชีวิต เนื่องจากไวรัสมีคุณสมบัติของสิ่งมีชีวิตไม่ครบถ้วน จึงมีการขนานนาว่าเป็น “สิ่งมีชีวิตที่เกือบไม่มีชีวิต”
ลักษณะเด่นของไวรัส
ไวรัสต้องอาศัยในสิ่งมีชีวิตเท่านั้น ไม่สามารถอยู่อย่างอิสระในสิ่งแวดล้อมได้นาน เพราะจะขาดอาหาร และไม่สามารถแบ่งตัว เพราะการเพิ่มจำนวนของไวรัสสารพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่มันอาศัยด้วย หากไวรัสอยู่นอกสิ่งมีชีวิต ไวรัสจะตายภายในเวลาอันสั้น เช่น HIV (ไวรัสตระกูล เรโทรไวรัส) ทำให้เกิดโรคเอดส์ หากติดอยู่ที่ใบมีด ก็มีชีวิตอยู่ได้ไม่กี่วัน
โรคที่เกิดจากไวรัส
เอดส์ ซาร์ส เมอร์ส อีโบลา พิษสุนัขบ้า อีสุกอีใส หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ไข้เลือดออก ตับอักเสบ ตาแดง โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน ฝีดาษ คางทูม หูด เริม โรคมือเท้าปาก ไข้เหลือง สมองอักเสบนิปาห์ เท้าและปากในวัว โควิด-19 เป็นต้น
ไวรัสสามารถก่อโรคได้ในสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ตั้งแต่พืช สัตว์ ไปจนถึงจุลินทรีย์ โดยโรคที่เกิดจากไวรัสส่วนใหญ่ไม่มียารักษาให้หายขาด เพราะไวรัสจะอาศัยอยู่ในเซลล์ จึงฆ่าได้ยาก อีกทั้งยาปฏิชีวนะก็ไม่สามารถฆ่าไวรัสได้เช่นกัน จึงต้องรักษาตามอาการ
2. เชื้อแบคทีเรีย
แบคทีเรีย หรือบัคเตรี (Bacteria) – เป็นอีกสิ่งมีชีวิตที่เล็กจนไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีขนาด 2000 นาโนเมตร (ขนาดใหญ่กว่าไวรัส 1,000 เท่า) มีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่าไวรัส สามารถอยู่อย่างอิสระในสิ่งแวดล้อมได้นานเป็นปี ในมนุษย์และสัตว์ส่วนมากมีแบคทีเรียอาศัยอยู่ในท่อทางเดินอาหาร และผิวหนังเป็นจำนวนมาก แบคทีเรียส่วนใหญ่ที่อยู่ในร่างกายถูกทำให้ไร้พิษภัยโดยผลของระบบภูมิคุ้มกัน
ลักษณะเด่นของแบคทีเรีย
แบคทีเรียสามารถอยู่นอกร่างกายได้ถ้ามีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม (ในขณะที่ไวรัสไม่สามารถทนอยู่นอกร่างกายได้) ทนต่อความร้อน และทนต่อการขาดอาหาร สามารถอยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง เช่นช่องระบายความร้อนด้วยน้ำ และในกระเพาะอาหารของสัตว์ และมนุษย์ แบคทีเรียมีทั้งก่อประโยชน์ และโทษให้ร่างกายมนุษย์
โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย
โรคต่อมทอนซิลอักเสบ คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก สิว หนอง ซิฟิลิส หนองใน ท้องเสีย อหิวาตกโรค กาฬโรคที่เกิดจากหมัดหนู โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ เรื้อนชนิดเปียก บิดชนิดไม่มีตัว ไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้กระต่าย และแอนแทรกซ์ เป็นต้น
โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย มักจะรุนแรงกว่าโรคที่เกิดจากไวรัส แต่มียารักษา และบางโรคก็มีวัคซีนป้องกันด้วย
3. เชื้อรา
ราหรือเชื้อรา (Mold หรือ Mould) คือ จุลินทรีย์ในกลุ่มฟังไจ (Fungi) – เชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า รูปร่างส่วนใหญ่เป็นเส้นใย และมักสร้างสปอร์ (Spore) ได้ สามารถมีชีวิตได้หลายร้อยปี เพราะสปอร์ของราทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีมาก ราที่สามารถเติบโตในรูปแบบของสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวจะเรียกว่า ยีสต์
ราขยายพันธุ์เก่งมาก ราธรรมดา ๆ ที่ขึ้นบนขนมปัง มีลักษณะเป็นจุดสีดำเล็ก ๆ ซึ่งก็คืออับสปอร์ จุดสีดำแค่หนึ่งจุดมีสปอร์มากกว่า 50,000 สปอร์ ขนมปังขึ้นราแค่ส่วนปลาย แม้ตัดบริเวณนั้นทิ้งไปแล้ว ก็ไม่สามารถกินส่วนที่เหลือได้ เพราะ ใยราที่เรามองไม่เห็น ได้แผ่ไปทั่วขนมปัง และสร้างสารพิษแล้ว! กินเข้าไปจะทำให้ท้องเสีย และถ้ามีอาการแพ้ สามารถทำให้เสียชีวิตได้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม อาหารบางประเภทที่ขึ้นราแล้วสามารถบริโภคได้ก็มีอยู่ เช่น บลูชีส แกมมงแบร์ (เนยแข็งฝรั่งเศส) ซีอิ๊วของญี่ปุ่นที่หมักด้วยเชื้อรา ซึ่งราเหล่านี้ไม่ใช่สายพันธุ์ที่สร้างสารพิษนั่นเอง
ลักษณะเด่นของเชื้อรา
รามีคุณสมบัติที่ไม่เหมือนสัตว์ และมนุษย์ซึ่งจะกินก่อนแล้วค่อยดูดซึมสารอาหาร แต่รามักจะใช้วิธีกลับกัน เมื่อโมเลกุลของสิ่งมีชีวิตมีขนาดใหญ่ หรือซับซ้อนเกินกว่าจะกินเข้าไปได้ ราจะค่อย ๆ ปล่อยน้ำย่อยออกมาเพื่อย่อยโมเลกุลให้มีขนาดเล็กลงแล้วก็ดูดซึมสารอาหารเข้าไป
ราสามารถผลิตสารพิษเรียกว่า สารพิษจากรา (mycotoxin) ซึ่งอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสัตว์ สารพิษดังกล่าวอาจมีผลต่อเราหากหายใจเข้าไป, กลืน, หรือสัมผัสกับผิวหนังโดยตรง แต่ราก็ไม่ได้เป็นอันตรายเสมอไป เพราะราบางชนิดมีประโยชน์มาก
โรคที่เกิดจากเชื้อรา
โรคเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น โรคกลากเกลื้อน โรคน้ำกัดเท้า หรือ ฮ่องกงฟุต โรคที่เกิดจากสารพิษของเชื้อรา จากอาหารที่เน่าเสีย เป็นต้น
4. โพรโทซัว
โพรโทซัว (Protozoa) – เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น อะมีบา พลาสโมเดียม เลชมาเนีย สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งน้ำจืด และน้ำเค็ม รวมทั้งบริเวณที่ชื้นแฉะ ยังพบว่าอาศัยอยู่ในร่างกายของสัตว์บกอีกหลายชนิด มีทั้งที่เป็นโทษ และมีประโยชน์
โพรโทซัวมีการจัดจำแนกอยู่หลายประเภท แต่ที่เราคุ้น ๆ หูกัน ก็จะมี “อะมีบา” พบได้ในแหล่งน้ำทั่ว ๆ ไป (ยกเว้นน้ำกร่อย หรือทะเล) ติดต่อสู่คนได้โดยการสำลักน้ำ หรือหายใจเอาฝุ่น ที่มีเชื้อเข้าไป
ลักษณะเด่นของโพรโทซัว
- มีระบบต่าง ๆ ภายในตัวเองอย่างสมบูรณ์ เช่น การสืบพันธุ์ การย่อยอาหาร การหายใจ และการขับถ่าย
- สามารถดำรงชีวิตเหมือนสัตว์ชั้นสูงได้ มันอาจอยู่อย่างอิสระ หรืออยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่น
โรคที่เกิดจากโพรโทซัว
โรคท้องร่วง โรคมาลาเรีย (มียุงเป็นพาหะ) โรคบิด ลำไส้อักเสบ เนื้อสมอง และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
หากไม่อยากติดเชื้อโรคโพรโทซัวประเภท อะมีบา ควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ หรือเล่นน้ำในแหล่งน้ำขัง สระว่ายน้ำควรกรองน้ำให้สะอาด และตรวจสอบ อย่าให้มีรอยแตกร้าว
5. พยาธิ
พยาธิคือสิ่งมีชีวิตที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะกลม และมีความยาวมาก อาจยาวได้ถึงหลาบสิบเมตรเลยทีเดียว อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ และสัตว์ สามารถเพิ่มจำนวน และเป็นอันตรายต่อร่างกาย ส่งผลกระทบต่อการเกิดโรคต่าง ๆ หลายชนิด
พยาธิมีอยู่หลายชนิดด้วยกัน เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิตัวตืดชนิดต่าง ๆ พยาธิใบไม้ตับ พยาธิใบไม้ลำไส้บางชนิด พยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ปอด และพยาธิหอยโข่ง พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย เป็นต้น
พยาธิเข้าสู่ร่างกายเราได้ 2 ช่องทาง
- ทางปาก จากการกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของไข่พยาธิ หรือ ตัวพยาธิ
- ทางผิวหนัง เกิดจากการเข้าทางแผล หรือ สัตว์อื่นที่เป็นพาหะ เช่น ยุงกัด เป็นต้น
ลักษณะเด่นของพยาธิ
มีลำตัวยาวได้หลายสิบเมตร อาศัยอยู่ในร่างกายสัตว์ และคน ครั้งหนึ่งเคยมีข่าวฮือฮา ทีมนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ตรวจพบ ‘พยาธิตัวตืด’ ยาวถึง 18 เมตร และยาวที่สุดในไทย ครั้งแรกในรอบ 50 ปี จากผู้ป่วยชายอายุ 67 ปีชาว จ.หนองคาย ซึ่งมีพฤติกรรมชอบรับประทานเนื้อวัวดิบ ลาบ ก้อย ซอยห่าง สะสมมายาวนานกว่า 47 ปี
โรคที่เกิดจากพยาธิ
ปวดท้องเรื้อรัง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ปวดศีรษะ สมองอักเสบ เจ็บบวมตามผิวหนัง ไอเป็นเลือด ลำไส้อักเสบเป็นแผล แพ้และมีผื่นคันหรือเป็นแนวแดง ๆ เลือดออกในสมอง เป็นอัมพาต และเสียชีวิตได้
หากไม่อยากเป็นโรคเกี่ยวกับพยาธิ ควรงดกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ กินเฉพาะอาหารที่ปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด ป้องกันตนเองจากการกัดของแมลงพาหะ เก็บอาหารให้ปลอดจากแมลงและสัตว์พาหะนำโรค
7 วิธีป้องกันตนเองจากเชื้อโรคร้ายต่าง ๆ
1. ไม่คลุกคลีกับสิ่งสกปรก และไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่อ
2. ไม่กินอาหารดิบ ๆ สุก ๆ หรือที่หมดอายุไปแล้ว ควรกินอาหารที่สะอาด ถูกหลักอนามัย ปรุงสุกแล้วเท่านั้น
3. สวมใส่หน้ากากอนามัย และพกเจลแอลกอฮอล์เสมอในช่วงที่มีโควิดระบาด หรือต้องออกไปในสถานที่แออัด
4. หมั่นล้างมือให้สะอาด เพราะ เชื้อโรคมักอาศัยอยู่ตามสิ่งของที่เราจับ
5. เมื่อเดินลุยน้ำขัง น้ำสกปรกมา ควรรีบล้างเท้าให้สะอาด
6. ติดตั้งเครื่องกรองอากาศไว้ในบ้าน เพื่อช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์
7. ออกกำลังกาย ให้สุขภาพแข็งแรง และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
อ้างอิง : 1. th.wikipedia 1/2 /3/4/ 3. foodnetworksolution 4. bangkokbiznews 5. โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล