ใครไอมีเสมหะบ่อย ต้องไม่พลาด! เพราะบทความนี้ GedGoodLife จะพาไปทำความรู้จักกับ “ยาแก้ไอละลายเสมหะ คาร์โบซิสเทอีน” ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการละลายเสมหะได้ดี มีราคาไม่แพง และผลข้างเคียงน้อย แต่ยาชนิดนี้จะมีวิธีใช้อย่างไรให้ถูกต้อง มาติดตามกัน
- อาการไอในเด็ก มักเกิดจากสาเหตุใด ไอแบบไหนอันตราย? พร้อมวิธีเลือกซื้อยาแก้ไอเด็ก
- เมื่อมีอาการไอ ควรเลือกใช้ยาแก้ไอยังไงดี ?
- ไอมีเสมหะ กระแอมบ่อย เสลดเยอะ เกิดจากสาเหตุใด เสี่ยงโรคร้ายแรงไหม?
ทำความรู้จักกับ “คาร์โบซิสเทอีน” มีสรรพคุณอะไรบ้าง?
คาร์โบซิสเทอีน (Carbocisteine) ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ยาแก้ไอละลายเสมหะ” บรรเทาอาการไอจากการมีเสมหะมาก เป็นยาที่ออกฤทธิ์เข้าไปย่อยโปรตีน มีผลทำลายการรวมตัวกันของโปรตีนที่จับตัวเป็นก้อนเสมหะเหนียวข้น รวมถึงลดแรงตึงผิวของเสมหะ ทำให้เสมหะใสขึ้น เหนียวข้นน้อยลง จนกลไกของร่างกายสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น
สรรพคุณของยาคาร์โบซิสเทอีน
- บรรเทาอาการไอมีเสมหะ และลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปอด
- ลดการเหนียวข้นของเสมหะ ทำให้เสมหะถูกขับออกได้ง่ายขึ้น
- บรรเทาอาการไอ เนื่องจากหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- บรรเทาอาการไอ ที่เกิดจากโพรงจมูกอักเสบ
สังเกตสีของเสมหะอยู่เสมอ เพื่อการเลือกใช้ยาที่ถูกต้อง
ไอมีเสมหะ หรือมีเสลด เป็นอาการไอที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัด เกิดจากไวรัส ภูมิแพ้ น้ำมูกลงคอ โดยอาการไอมีเสมหะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. ไอมีเสมหะใส ไม่มีสี หรือมีสีขาวขุ่น – สาเหตุอาจเกิดจากไวรัส หรือภูมิแพ้ กรณีนี้ควรให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาละลายเสมหะ หรือยาขับเสมหะ โดยไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ เพราะว่าไม่มีการติดเชื้อของแบคทีเรีย
2. ไอมีเสมหะข้นสีเขียว หรือสีเหลือง – แสดงว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินหายใจ แพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาละลาย หรือขับเสมหะ
อ่านบทความเพิ่มเติม -> สีเสมหะ บอกโรคอะไรเราได้บ้าง?
ขนาด และวิธีใช้ยาแก้ไอคาร์โบซิสเทอีน
ตัวยามีอยู่หลายแบบ เช่น ยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนตะกอน ยาเม็ด หรือแคปซูล โดยปริมาณ และระยะเวลาในการใช้ จะขึ้นอยู่กับอาการ ความรุนแรงของโรค
ชนิดแคปซูล : คาร์โบซิสเทอีน 500 มก.
- ผู้ใหญ่ และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป : ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง
ชนิดน้ำ : คาร์โบซิสเทอีน 200 มก. / 5 มล.
- เด็ก 2 – 5 ปี : 2.5 มล. หรือ ½ ช้อนชา วันละ 3-4 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง
- เด็ก 5 – 12 ปี : 5 มล. หรือ 1 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง
ชนิดน้ำ : คาร์โบซิสเทอีน 500 มก. / 5 มล.
- เด็ก 5 – 12 ปี : ครั้งละ ½ ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง
- ผู้ใหญ่ : 1½ ช้อนชา : วันละ 3 ครั้ง หลังจากนั้นให้ 1 ช้อนชา วันละ 3 ครั้ง จนอาการดีขึ้น
ข้อแนะนำอื่น ๆ ในการใช้ยาแก้ไอ
- การกินยาเม็ด หรือแคปซูล ให้กลืนยาทั้งเม็ด หรือแคปซูลพร้อมน้ำ โดยไม่ต้องเคี้ยวยา
- ยาชนิดเม็ด ควรกลืนไปทั้งเม็ดแล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ
- การกินยาน้ำ สำหรับยาน้ำแก้ไอชนิดแขวนตะกอน ต้องเขย่าขวดก่อนกินทุกครั้ง เพื่อให้ตัวยากระจายทั่วขวด จึงจะทำให้ขนาดยาที่ใช้ในแต่ละครั้งมีตัวยาเท่า ๆ กัน
- ปิดฝาให้สนิทเมื่อไม่ได้ใช้ยา ในอากาศจะมีก๊าซต่าง ๆ ที่สามารถเร่งให้ยาเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น ดังนั้น จึงควรเก็บยาในภาชนะที่สามารถปิดได้สนิทมิดชิด
- ไม่ควรรับประทานยาที่หมดอายุ นอกจากจะไม่ช่วยให้อาการไอหายไป ยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้
- การเก็บยาควรเก็บไว้ในอุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ห่างจากความร้อน ความชื้น แสงแดด และพ้นจากมือเด็ก
หากลืมกินยา ควรทำอย่างไร?
ในกรณีที่ลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด สามารถรับประทานยาได้ทันที แต่หากใกล้ถึงเวลาให้ข้ามไปรับประทานยาในรอบถัดไป ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า และเมื่อมีอาการผิดปกติ หรือรุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์
ยาแก้ไอละลายเสมหะ คาร์โบซิสเทอีน ใช้ลดอาการไอจากโรคโควิด-19 ได้ไหม?
อาการไอมีเสมหะ ที่เกิดจากโรคโควิด-19 สามารถใช้ยาแก้ไอละลายเสมหะที่มีส่วนผสมของคาร์โบซิสเทอีนได้ และเป็นยาพื้นฐานที่ควรมีติดบ้านไว้
คำเตือน
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวัง และปฏิบัติตามคำแนะนำ ต่อไปนี้
- หากเคยมีประวัติการแพ้ยา ควรแจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรให้ทราบ รวมทั้งโรคประจำตัว เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ยา
- หญิงที่วางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
- การใช้ยาสำหรับผู้ที่เป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา
- ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หลังรับประทานยาจึงควรหลีกเลี่ยงการขับยาพาหนะ หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย
- การดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงที่รับประทานยานี้อาจทำให้อาการแย่ลง
- ห้ามใช้ในผู้ที่มีแผลในเยื่อบุทางเดินอาหาร หรือมีภาวะภูมิไวเกินต่อคาร์โบซิสเตอีน
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจใช้ยานี้ได้ แต่ควรได้รับอนุญาตจากแพทย์ก่อน
สิ่งสำคัญสุดท้าย คือ เมื่อมีอาการไอควรหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร จะได้แก้ไขได้ถูกจุด โดยเฉพาะอาการไอเรื้อรัง ที่ไม่หายสักที ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และการรักษาต่อไป ส่วนการกินยาแก้ไอ เป็นการบรรเทาอาการไอ ผู้ป่วยจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตร่วมด้วย เพื่อจะได้หายขาดจากอาการไอนั่นเอง
อ้างอิง : 1. pobpad 2. หมอชาวบ้าน 3. gedgoodlife