“โรคขี้เต็มท้อง” แค่ได้ยินชื่อก็ขมคอแล้ววว!! เป็นโรคที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ณ ขณะนี้ เมื่อนักร้องสาวจากเวทีประกวดดังอย่าง “ตุ๊กตา จมาพร” ได้พบอาการป่วยทั่วไปบริเวณช่องท้อง จึงเข้าพบแพทย์ ได้รับคำวินิจฉัยว่าตัวเองเป็นโรคขี้เต็มท้อง ทั้งที่คุณตุ๊กตาเองเป็นคนสุขภาพดี ขับถ่ายปกติเป็นประจำ
ฉะนั้นวันนี้ GedGoodLife จะพาไปสืบจากไส้ ให้หมดพุง! ว่าโรคขี้เต็มท้อง มีสาเหตุ อาการ วิธีป้องกันยังไงบ้าง ใครที่มีอาการผิดปกติบ่อย ๆ บริเวณช่องท้อง ต้องไม่พลาด!
- 12 ผลไม้ดี๊ดี มีไฟเบอร์สูง ฮีโร่แก้ท้องผูก ดีต่อระบบย่อยอาหาร
- รวมวิธีขับถ่ายดี แก้ท้องผูก ระบบขับถ่ายดี สุขภาพก็ดีตาม!
- หมอแนะนำ เคล็ดลับดูแลระบบย่อยอาหาร ช่วยขับถ่ายคล่อง ห่างไกลโรคร้าย!
โรคขี้เต็มท้อง มีสาเหตุจากอะไร?
“โรคขี้เต็มท้อง” ทางการแพทย์เรียกว่าเป็นสภาวะหนึ่งของ “โรคท้องผูกเรื้อรัง” (Fecal Impaction) ในกรณีของคุณตุ๊กตา จมาพร เกิดจากการที่อั้นอุจจาระ สะสมในช่วงที่เดินทางไปในที่ต่าง ๆ บางครั้งอั้นไว้ขณะทำงาน เป็นเหตุให้ไปเข้าห้องน้ำไม่ได้ และถือเป็นสาเหตุสำคัญของการเป็นโรคนี้ และไม่ได้เกิดขึ้นกับคนที่ท้องผูกอย่างเดียว แต่เกิดได้กับทุกการขับถ่าย เพียงแค่คุณอั้นอุจจาระ หรือมีการขับถ่ายไม่ถูกสุขลักษณะ
ฉะนั้นถ้าไม่อยากเป็นโรคนี้ จงจำให้ขึ้นใจว่า อย่ากลั้นอุจจาระบ่อย และรวมถึงพฤตกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย
- อุจจาระไม่เป็นเวลา ก็เกิดจากกลั้นอุจจาระบ่อย ๆ นั่นแหละ พอกลั้นบ่อยเข้า ก็เลยทำให้อุจจาระไม่เป็นเวลาไปเรื่อย ๆ
- ท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ อุจจาระจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง โดยอาจมีอาการถ่ายอุจจาระไม่ออกหรือถ่ายได้ไม่สุด
- โรคบางอย่าง ยาบางชนิด ก็อาจก่อให้เกิดโรคนี้ได้
ลักษณะของอุจจาระ เมื่อเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง
ข้อมูลจากช่อง “หมอเฉพาะทางบาทเดียว” คุณหมอได้ชี้แจงลักษณะของอุจจาระ เมื่อเป็นโรคท้องผูกเรื้อรัง ไว้ดังนี้
- อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง
- ถ่ายอุจจาระได้ไม่สุด
- ถ่ายอุจจาระไม่ออก เนื่องจากรู้สึกเหมือนมีบางสิ่งมาอุดกั้นบริเวณทวารหนัก
- ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- ต้องใช้มือช่วยในการขับถ่ายอุจจาระ
โดยเกณฑ์ที่กำหนดในการวินิจฉัยนั้น ผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังจะต้องมีอาการข้างต้นอย่างน้อย 2 อาการ และมีอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือนขึ้นไป
อาการของ โรคขี้เต็มท้อง มีอะไรบ้าง?
คุณตุ๊กตา ได้ชี้แจงอาการที่พบกับตัวเองเมื่อเป็นโรคขี้เต็มท้อง ไว้ดังนี้
– เวียนหัวคลื่นไส้ ตลอดเวลา แบบต้องหาอะไรพิงหัวตลอด
– หายใจติดขัด เหมือนแน่นท้อง หายใจได้ครึ่งเดียว รู้สึกต้องหายใจลึกๆ ตลอดเวลา
– กินข้าวได้น้อยมาก ไม่อยากกินอะไร หรือกินไปได้นิดเดียวก็แน่นท้อง
– เรอเปรี้ยว และ ตดเปรี้ยว ตลอดทั้งวัน ก็คือเรียกได้ว่า สงสารพี่เบลมาก ที่บ้านเหมือนมีรถสูบส้วมเคลื่อนที่ตลอดเวลา ขมคอทั้งวัน
– ลมในท้องเยอะ แน่นท้อง แสบท้องเบา ๆ อาการคล้าย ๆ โรคกระเพาะ
– ปวดตัว ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย นอนไม่ค่อยหลับ
หากมีอาการเหล่านี้ คุณตุ๊กตาแนะนำอย่างเดียว คือ ให้ปรึกษาแพทย์ ไม่แนะนำให้ลองทานยาถ่ายเองเด็ดขาด เพราะเดี๋ยวมีผลในระยะยาว
วิธีป้องกันโรคขี้เต็มท้อง
1. หมั่นขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่อั้น! – อย่างที่กล่าวไปด้านบนว่า การขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่อั้นไว้เป็นเวลานาน คือสิ่งสำคัญที่จะป้องกันโรคท้องผูกเรื้อรัง หรือขี้เต็มท้อง ได้ ฉะนั้นอย่าละเลย หากมีอาการปวดท้อง ให้เข้าห้องน้ำไว้ก่อน
2. เพิ่มใยอาหาร – การกินใยอาหาร หรือไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ ซีเรียล และขนมปังธัญพืช เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดอาการท้องผูกได้ เพราะไฟเบอร์จะช่วยให้ลำไส้กลับมาทำงานเป็นปกติ
3. ดื่มน้ำเยอะ ๆ – ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ควบคู่ไปกับการกินอาหารที่มีกากใยดูดซับน้ำได้ดี จะช่วยให้อุจจาระนุ่ม เบ่งง่าย รวมไปถึงยังช่วยลดการอุดตันของลำไส้ ป้องกันอาการท้องอืด จากการกินใยอาหารมากเกินไปด้วย
4. กระตุ้นการทำงานของลำไส้ด้วยโปรไบโอติกส์ – มีการศึกษาพบว่า แบคทีเรียเหล่านี้ช่วยสร้างความสมดุลของสภาวะในระบบการย่อยอาหาร และช่วยปรับการทำงานของลำไส้ให้เป็นปกติได้ด้วย แหล่งอาหารที่มีโปรไบโอติกส์ เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ – ออกกำลังกายด้วยการซิทอัพอย่างน้อยวันละ 40 ครั้ง หรือวิ่งเหยาะ ๆ วันละครึ่งชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อในระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
6. พึ่งยาระบาย – หากอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น อีกหนึ่ง วิธีช่วยขับถ่าย บรรเทาอาการท้องผูกได้ นั่นก็คือ การกินยาระบาย หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ยาถ่าย แต่ยานี้มีความรุนแรง และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนใช้ยา
อาการท้องผูกเรื้อรังแบบใดที่ควรไปพบแพทย์ ?
หากท้องผูกติดต่อกันนานกว่า 3 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ และเข้ารับการตรวจร่างกาย หากพบว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ เช่น ไม่เคยท้องผูกมาก่อนแต่เพิ่งมาเป็น มีอาการปวดท้อง หรือปวดท้องเรื้อรัง ถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดปน น้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ได้ตั้งใจลดน้ำหนัก หรือมีปัญหาท้องผูกขณะอยู่ในวัยผู้สูงอายุ เป็นต้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที
อ้างอิง : 1. หมอเฉพาะทางบาทเดียว 2. tnnthailand