“กระท่อม” พืชที่เคยถูกจัดอยู่ในบัญชียาเสพติด แต่ในปัจจุบันประเทศไทยได้ปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดเรียบร้อยแล้ว ทำให้เกิดเป็นกระแสการกินใบกระท่อม น้ำกระท่อม อย่างต่อเนื่อง และเพื่อไม่ให้ตกกระแสเทรนด์ ‘พลังใบกระท่อม’ ที่มีข่าวว่ากินแล้วคึกคักยิ่งนัก ข่าวนี้จะเป็นจริงหรือไม่ พร้อมสรรพคุณ ข้อควรระวัง และวิธีกิน ใครสนใจเรื่องนี้อยู่ ห้ามพลาด มาติดตามไปกับ GedGoodLife กันได้เลย!
ทำความรู้จักกับ ‘กระท่อม’ พืชสมุนไพรไทย
กระท่อม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มิตราไจนา สเปซิโอซา คอร์ท (Mitragyna Speciosa Korth) เป็นไม้ยืนต้น ที่อยู่ในวงศ์เข็ม และกาแฟ (Rubiaceae) สูงประมาณ 4-16 เมตร เติบโตได้ดีในที่ชุ่มชื้น ความชื้นสูง ดินอุดมสมบูรณ์ และมีแสงแดดปานกลาง
แหล่งที่พบ
กระท่อม สามารถพบได้ในเขตร้อน และกึ่งร้อนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปแอฟริกา ในประเทศไทยพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูลพัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 พันธุ์ คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และก้านแดง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละที่ เช่น ในประเทศไทย ภาคเหนือเรียกอีด่าง อีแดง กระอ่วม ภาคใต้ เรียกท่อม หรือท่ม
สารเสพติดที่พบในใบกระท่อม
ไมทราไจนีน (Mitragynine) คือสารเสพติดในใบกระท่อม จำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) เช่นเดียวกับยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน เช่น psilocybin LSD และ ยาบ้า
ผลจากการเสพ
ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าหลังเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5-10 นาที จะมีอาการดังต่อไปนี้
- เป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว (ไม่อยากอาหาร)
- กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ทำให้สามารถทำงานได้นาน และทนแดดมากขึ้น (แต่จะเกิดอาการกลัวหนาวสั่นเวลาอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน)
- ผู้เสพจะมีผิวหนังแดงเพราะเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น
- ในรายที่เสพใบกระท่อมมาก ๆ หรือเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผู้ที่รับประทานมีผิวคล้ำ และเข้มขึ้น
- บางรายจะมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง
อาการข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็ก ๆ นอนไม่หลับ ถ้าเสพใบกระท่อมในปริมาณมาก ๆ จะทําให้มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน (เมากระท่อม) แต่ในบางรายเสพเพียง 3 ใบ ก็ทำให้เมาได้
‘พลังใบท่อม’ กินแล้วคึก จริงหรือไม่?
นพ.จักราวุธ เผือกคง ผอ.สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถึงการใช้ ใบกระท่อม ว่า ใบกระท่อมไม่ได้ออกฤทธิ์แบบกระตุ้นประสาท ดังนั้นจึงไม่มีอาการดีด สรรพคุณของใบกระท่อม ออกฤทธิ์เรื่องของการลดอาการอ่อนเพลีย อ่อนล้า แก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยทำให้จิตใจสดชื่น กระชุ่มกระชวย กระตุ้นประสาทบ้างเหมือน “กาแฟ”
นพ.จักราวุธ อธิบายถึงอาการที่เรียกว่า “ดีด” ว่าเป็นอาการที่ระบบประสาท สมองถูกกระตุ้นมากไปจนทำงานมากเกินปกติ ในลักษณะเหมือนกับว่าอยู่เฉยไม่ได้ ควบคุมบางอย่างไม่ได้ อาการ “ดีด” มันเป็นฤทธิ์ของยาประเภทหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่ม ยาบ้า พอใช้ไปเหมือน “ม้าดีด” โผงผาง ทำอะไรไม่หยุด กำลังเยอะ อาการพวกนั้นเป็นอาการที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งคนละแบบกับ “กระท่อม”
สำหรับอาการ “เมากระท่อม” ส่วนใหญ่จะเป็นอาการเบื้องต้นถึงปานกลางไม่มากนัก เพราะหากเคี้ยวไปแล้วเมาก็หยุด ซึ่งเมาท่อมเป็นแบบเมาเบื่อ เวียนหัว โคลงเคลง คลื่นไส้ ใจสั่น หน้ามืด หากมีอาการแบบนี้ให้หยุดใช้ทันที แล้วดื่มน้ำเปล่าตามมาก ๆ และดื่มน้ำหวานเสริมเข้าไป
สรรพคุณทางยาของ กระท่อม
ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้กล่าวถึงสรรพคุณทางยาของกระท่อม ไว้ดังนี้
1. ช่วยบำรุงกำลังเพิ่มพลังให้ทำงานได้นานขึ้น
\ช่วยบำรุงกำลังเพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย จึงมีผลทำให้การทำงานยาวนานขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย ทนแดดทนลม กล้ามเนื้ออึดขึ้น ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่เป็นอยู่ได้ดี แต่กระนั้นต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมต่อร่างกาย
2. รักษาอาการลำไส้ติดเชื้อ
ลำไส้ติดเชื้อ หรือท้องเสีย ท้องร่วง ถ่ายเหลว เราสามารถนำต้นกระท่อมไปต้มเพื่อดื่มกินได้ หรือจะเคี้ยวใบ ชงกับน้ำดื่มก็ได้เช่นกัน เมื่อดื่มไปแล้วตัวสรรพคุณที่มีในใบ หรือลำต้นก็จะไปช่วยยับยั้งเชื้อในลำไส้ไม่ทำให้เกิดอาการกำเริบอีก
3. ช่วยลดอาการปวดที่มีผลดีกว่ามอร์ฟีน
กระท่อมมีสารชื่อว่า “ไมทราไจนีน” อันถือเป็นสารที่มีความสำคัญมาก ในไทยพบสูงถึง 66% มีส่วนช่วยกดประสาทส่วนกลาง ผลจากการศึกษาสารนี้ในใบกระท่อม พบว่ามีส่วนช่วยลดอาการเจ็บปวดที่รุนแรงมากกว่ามอร์ฟีน 13 เท่า ทั้งยังช่วยบำบัดผู้ที่เสพติดมอร์ฟีนในบางคนได้ดีอีกด้วย
4. ลดอาการขาดยาจากสารเสพติด
สารเสพติดอย่าง เฮโรอีน, ฝิ่น, มอร์ฟีน เมื่อใครต้องการบำบัดให้หายขาดสามารถเลือกใช้ต้นกระท่อมช่วยได้ แต่ต้องมีการใช้ในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงระยะเวลาไม่นานมากเกินไป กระท่อมจะให้ผลข้างเคียงในการบำบัดที่น้อยกว่าสารตัวอื่น ๆ
5. ช่วยแก้อาการปวดฟัน
เราสามารถต้มน้ำกระท่อมโดยใช้ส่วนใบ เด็ดล้างให้สะอาดแล้วให้นำมาต้มดื่มกินเป็นน้ำสมุนไพร ตามตำราแผนโบราณบอกว่าฤทธิ์ที่มีจะช่วยให้อาการปวดฟันต่าง ๆ ทุเลาลงได้ แต่ปัจจุบันไม่ค่อยได้ทำกันแล้ว เพราะมียาเม็ดแก้ปวดแทน
6. ช่วยลดความดันโลหิตสูง
สารไมทราไจนีน นอกจากจะช่วยระงับความเจ็บปวดของร่างกายได้ดีกว่ามอร์ฟีน ก็ยังมีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดได้ด้วย ช่วยคลายกล้ามเนื้อ ลดความดันโลหิต ซึ่งตามตำรับยาแผนโบราณแล้วมีผลวิจัยว่าช่วยปัญหาความดันเลือดสูงจริง
7. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน
กระท่อมเป็นพืชที่สามารถช่วยรักษาโรคเบาหวานมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเอาใบมาเคี้ยวแล้วคายกากออก หรือต้มดื่มกินในชีวิตประจำวันก็ได้หมด ช่วยในการดูดกลับของน้ำตาลกลูโคส ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงโดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับอินซูลินในร่างกายของผู้ป่วยอีกต่างหาก
8. ช่วยรักษาแผลในปาก แก้ไอ
สุดท้ายสำหรับสรรพคุณของต้นกระท่อมนอกจากเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นยังสามารถใช้รักษาอาการแผลในปาก ไม่ว่าจะเกิดจากการกัดปากตัวเอง ร้อนในที่เกิดขึ้น รวมถึงอาการไอ ก็แก้ได้เช่นกัน ซึ่งฤทธิ์ที่มีจะช่วยสมานแผล ห้ามเลือด ที่สำคัญช่วยถอนพิษจากสัตว์ร้ายได้ด้วย
วิธีกินใบกระท่อมที่ถูกต้อง และข้อควรระวัง!
รศ.อรุณพร อิฐรัตน์ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เจ้าของรางวัล “เสม อวอร์ด 2562” ประเภทการวิจัยและส่งเสริมการใช้สมุนไพรในชุมชน มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว กล่าวถึงการบริโภคพืชกระท่อมอย่างถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้น
“วิธีการบริโภคกระท่อมที่ถูกต้อง คือ ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบ รูดก้านใบออกเพื่อเอาแต่ใบล้วน ๆ แล้วเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก เพราะน้ำลายมีความเป็นด่าง ไปสกัดเอาอัลคาลอยด์ไมทราไจนีนออกมา
สำหรับการต้มเพื่อทำน้ำกระท่อม ก็ไม่ควรใช้เกิน 5 ใบต่อวัน เช่นกัน และเมื่อต้มแล้วก็ควรกรอง เอากากออก แต่การต้มควรบีบมะนาวลงไปก่อนกรองกาก เพราะอัลคาลอยด์ในกระท่อมจะกลายอยู่ในรูปของเกลือละลายน้ำได้ แล้วค่อยดื่มน้ำกระท่อมนั้น”
ข้อสำคัญที่ควรระวังมากที่สุด
คือ “การเสพกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจาก ตัวใบ” อาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ได้ เนื่องจากก้านใบ และใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืด ขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้ บางรายจะมีอาการ โรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง
ถึงแม้ต้นกระท่อมจะถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวังด้วย เพราะถ้าใช้เกินขนาดที่แพทย์แนะนำ ก็จะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้ ทางที่ดีก่อนกินกระท่อม ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญช่วยให้ได้รับสิ่งดีที่สุด และไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย