เมื่อมีฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก ก็มักจะมีเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่าตามมาด้วยเสมอ เสียงฟ้าร้องอาจทำให้ใครหลายคนกลัว แต่ความอันตรายจริง ๆ อยู่ที่ฟ้าผ่า ที่สามารถคร่าชีวิตของคุณได้เลยทีเดียว! แถมเราก็ไม่รู้ด้วยว่า ฟ้าจะผ่าลงมาตอนไหน จะโดนเรารึเปล่า งั้นมาดู วิธีหลีกเลี่ยงฟ้าผ่า เพื่อป้องกัน และลดความเสี่ยงกันดีกว่า เพราะถ้าพลาดไปแม้แต่ครั้งเดียว ก็อาจไม่มีโอกาสได้แก้ไขอะไรอีกแล้วนะ…
ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ เกิดขึ้นจากอะไร?
ปรากฏการณ์ ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ (Lightning) เกิดจากเมฆฝนฟ้าคะนอง โดยก้อนเมฆแต่ละก้อน จะมีประจุไฟฟ้าสะสมเคลื่อนที่ เมื่อเกิดการไหลของประจุไฟฟ้าภายในเมฆก้อนเดียวกัน จะทำให้เกิดฟ้าแลบ แต่ถ้าประจุไฟฟ้า เกิดการเคลื่อนที่ไหลข้ามจากเมฆก้อนหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่ง ก็จะทำให้เกิดเส้นสายฟ้า หรือก็คือฟ้าผ่าชนิดหนึ่ง และหากมีวัตถุแหลมสูงขึ้นมาจากพื้นดิน สายฟ้าก็อาจจะผ่าลงมาที่วัตถุนั้นได้
ช่วงเวลา และพื้นที่ ที่เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
ฟ้าผ่าสามารถเกิดขึ้นในช่วงระหว่างที่ฝนตก ก่อนฝนตก หรือหลังฝนตกก็ได้ โดยช่วงที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษ คือ ช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะพายุฝนที่เกิดขึ้นใกล้ตัวเรา ในช่วงระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร
ในประเทศไทย จะเกิดฟ้าผ่าได้บ่อยช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม และพบได้บ่อยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ใกล้เคียงเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เนื่องจากอนุภาคเล็กในควันที่ปล่อยสู่ท้องฟ้า รวมถึงฝุ่น ละอองน้ำ จนทำให้เกิดประจุไฟฟ้าได้ง่าย
จุดเสี่ยงที่จะเกิดฟ้าผ่า คือ พื้นที่โล่งแจ้ง ไม่มีที่กำบัง เช่น เพิงกลางทุ่งนา หรือติดชายน้ำ สนามกอล์ฟ สนามฟุตบอล หรือแม้แต่สระว่ายน้ำ พื้นที่อยู่ใกล้ของสูง ๆ เช่น ต้นไม้
การเกิดฟ้าผ่า ไม่จำเป็นต้องมีโลหะนำไฟฟ้า และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่เมื่อมีฝนฟ้าคะนอง ถึงแม้ว่าเราจะไม้ได้อยู่ตรงจุดที่ฟ้าผ่าลงมาโดยตรง แต่สามารถทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน เนื่องจากเมื่อมีสายฟ้าฟาดลงมาบนวัตถุใดก็ตาม กระแสไฟจะกระเพื่อมเป็นคลื่นออกไปรอบวัตถุนั้น ๆ และเป็นอันตรายต่อตัวเราได้
วิธีหลีกเลี่ยงฟ้าผ่า และป้องกันฟ้าผ่า
– เข้าไปหลบในบ้าน หรือในอาคารขนาดใหญ่เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง
โดยเฉพาะอาคารที่มีสายล่อฟ้าติดตั้งถูกวิธี และควรยืนให้ห่างจากผนัง หน้าต่าง หรือประตูบ้าน
– ไม่ทำกิจกรรมกลางแจ้งใกล้เขตฟ้าผ่า
โดยเฉพาะนื้นที่โล่งแจ้ง เช่น เล่นกอล์ฟ ตกปลา ลงเรือ ฯลฯ
– หากอยู่ในรถยนต์ ควรรีบปิดประตูรถ และกระจกรถให้มิดชิด
เพราะภายในรถยนต์ถือว่า เป็นสถานที่ที่ปลอดภัยจากการถูกฟ้าผ่า และแม้ว่าฟ้าจะผ่าลงมาที่รถโดยตรง แต่กระแสไฟฟ้าก็จะวิ่งผ่านผิวโลหะรอบรถ และไหลลงดินไปจนหมด ดังนั้น หากอยู่ในรถระหว่างที่มีฟ้าผ่า ห้ามสัมผัสกับตัวถังรถยนต์ และควรรออย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่แล้ว จึงเปิดประตูออกจากรถ
– หากหาที่หลบไม่ได้ ให้ทำให้ตัวต่ำลงด้วยการนั่งยอง ๆ และซุกศีรษะไว้ระหว่างเข่า
แนบแขนทั้งสองข้างกับเข่า เอามือปิดหู เท้าทั้งสองข้างชิดกันหรือเขย่งอยู่บนปลายเท้า เพื่อให้มีผิวสัมผัสกับพื้นดินให้น้อยที่สุด ไม่ควรหมอบตัวราบไปกับพื้น เพราะกระแสไฟฟ้าอาจะวิ่งมาตามพื้นดินได้ ห้ามสัมผัสโลหะหรือน้ำในบริเวณนั้น
– หากเห็นสายฟ้าฟาดลงมา ให้นับ 1-6
หากนับเสร็จแล้วจึงได้ยินเสียงฟ้าผ่า แสดงว่าเมฆก้อนนั้นอยู่ห่างไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร และถ้าเสียงฟ้าผ่าดังถี่ขึ้น สั้นขึ้น แสดงว่าเมฆก้อนนั้นกำลังเคลื่อนที่เข้ามาหาเรา ให้รีบออกจากสถานที่นั้นให้เร็วที่สุด
– อย่ายืนหลบใต้ต้นไม้ใหญ่ และห้ามกางร่มเด็ดขาด
– ไม่สัมผัสกับโลหะทุกชนิด รวมถึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ
เนื่องจากโลหะ และ น้ำ เป็นตัวนำไฟฟ้า รวมถึงควรอยู่ให้ไกลจากสายไฟ
– อันตรายของฟ้าผ่าไม่ได้เกิดจากฟ้าผ่า แต่อยู่ที่ฟ้าผ่าแล้วกระแสไฟฟ้าวิ่งลงดิน
หากฟ้าผ่ามาที่ต้นไม้ต้นใดต้นหนึ่ง กระแสไฟฟ้าจะวิ่งลงดิน และแผ่ออกไปโดยรอบบริเวณ ทำให้ผู้ที่อยู่ใกล้กับต้นไม้ในระยะต่ำกว่า 5 เมตร มีโอกาสเสียชีวิตได้
– หากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่เหนือศีรษะ แล้วรู้สึกว่าเส้นขนบนผิวหนังลุกชันขึ้น หรือเส้นผมบนศีรษะลุกตั้งขึ้น แสดงว่ากำลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า หรือหากเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และมีฟ้าแลบหรือฟ้าผ่าในระยะประมาณ 16 กิโลเมตร หรือได้ยินเสียงฟ้าร้องหลังฟ้าแลบน้อยกว่า 30 วินาที แสดงว่าอยู่ใกล้เขตเสี่ยงฟ้าผ่า ต้องเพิ่มความระมัดระวัง
– ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านออกให้หมด
เพราะถ้ามีฟ้าลงมาที่เสาไฟฟ้า หรือสายไฟฟ้า อาจทำให้กระแสไฟกระชากเครื่องใช้ไฟฟ้า จนทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าเสียหายได้
– ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง
เพราะแม้ว่าโทรศัพท์มือถือจะไม่ใช่สื่อล่อฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในมือถือ นอกจากนี้ โทรศัพท์มือถือยังมีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ สายอากาศ และแบตเตอรี่ที่เป็นตัวล่อฟ้า จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า และสามารถทำให้แบตเตอรี่ลัดวงจรจนเกิดระเบิด ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บมากขึ้น
– ควรเตรียมไฟฉายไว้ประจำบ้าน
เพื่อจะได้ส่องดูทางเวลาไฟดับ หรือไฟไหม้ ไม่ควรใช้เทียนไขในบ้าน เนื่องจากการจุดเทียนในบ้านทำให้เสี่ยงต่อไฟไหม้
เกร็ดความรู้! หากฟ้าผ่าไปแล้วครั้งหนึ่ง ฟ้าจะไม่ผ่าซ้ำลงที่เดิมอีก
เมื่อเกิดฟ้าผ่า เราจะเข้าไปช่วยคนที่ถูกฟ้าผ่าได้หรือไม่?
คำตอบคือ ได้ คนที่ถูกฟ้าผ่า จะไม่มีกระแสไฟฟ้าตกค้าง ทำให้ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ โดยผู้ที่ถูกฟ้าผ่าอาจมีอาการซึม หมดสติ ชัก มองไม่เห็น ไม่ได้ยิน แก้วหูอาจแตก หรือฉีกขาด และอาจจะกระดูกหักจากการชักรุนแรงได้
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี