โรคหวัดเป็นโรคยอดฮิตที่พบได้ตลอดทั้งปี และพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย บางคนเป็นบ่อย บางคนนาน ๆ มาที หรือบางคนทั้งชีวิตแทบไม่เคยมีอาการหวัดเลยก็เป็นได้ โรคหวัด จึงเป็นอีกโรคหนึ่งที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่ส่วนใหญ่มักสร้างความรำคาญให้ใครหลายคน อันเนื่องมาจากอาการข้างเคียงที่มาพร้อมกับโรคหวัด ไม่ว่าจะเป็นอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหล มีอาการ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ รู้สึกหูอื้อ ซึ่งแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกัน บางคนอาจมีแค่เพียงบางอาการ หรือมีครบทั้งสามอาการ ซึ่งในวันนี้ GedGoodLife มีเคล็ดลับดี ๆ ที่จะช่วยคุณดูแลอาการไม่สบายเนื้อ ไม่สบายตัวเหล่านี้ ให้ไม่ก่อความรำคาญต่อตัวคุณ และคนรอบข้างมาฝากกัน
- โรคไข้หวัด โรคยอดฮิตตลอดปี! เป็นกี่วันหาย กินยาอะไรดี? สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- อาหาร 4 กลุ่ม เสริมภูมิคุ้มกัน ต้านไข้หวัด
- สรุปอาการ 4 โรคยอดฮิต โควิด-19 VS ไข้หวัด VS ไข้หวัดใหญ่ VS ภูมิแพ้
3 อาการข้างเคียงของหวัด และวิธีดูแลรักษา
1. อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล
อาการที่มักพบในคนส่วนใหญ่ เพราะเมื่อเราเป็นหวัด ร่างกายจะขับเลือดมาเลี้ยงเยื่อบุผิวช่องจมูกมากขึ้น เพื่อลำเลียงเม็ดเลือดขาว และ Antibody ไปต่อสู้กับเชื้อที่เข้ามาจู่โจม เลือดที่ไปเลี้ยงมากผิดปกตินั้น ทำให้เกิดอาการคัดจมูก หายใจไม่ออก และมีน้ำมูกไหล เป็นระยะ ๆ และบางครั้งเมื่อน้ำมูกเหล่านั้นแห้ง จนกลายเป็นคราบไคลเกาะอยู่ตามโพรงจมูก ทำให้รู้สึกคัน จนต้องเผลอเอามือไปแคะแกะเกาจนมีเลือดกำเดาไหลออกตามมาได้ง่าย ๆ สาเหตุมาจากเลือดส่วนนั้นมีจำนวนมากนั้นเอง
ซึ่งการดูแลอาการคัดจมูก หายใจไม่ออก และมีน้ำมูกไหล เหล่านี้ อันดับแรกเลยควรหาซื้ออุปกรณ์ล้างจมูก ซึ่งประกอบด้วย น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป กระบอกฉีดยาพลาสติก ถ้วยสะอาดสำหรับใส่น้ำเกลือ ทำตามขั้นตอนการล้างจมูกที่ถูกต้อง อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้า และก่อนเข้านอน เพื่อทำความสะอาดโพรงจมูกชะล้างมูก คราบมูก หรือหนองบริเวณโพรงจมูก และหลังโพรงจมูกออก รวมถึงเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ที่นำเอาเชื้อหวัดมาสู่คุณ ให้หมดไปโดยเร็ว
สิ่งสำคัญที่ควรหลีกเลี่ยงคือ การสั่งน้ำมูกด้วยความเร็ว และแรง เพื่อป้องกันการอักเสบติดเชื้อ อันเนื่องมาจากแรงดันที่ย้อนกลับไปที่ทางโพรงจมูกจากการสั่งน้ำมูก และหากมีการติดเชื้อเรื้อรัง ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการไซนัสอักเสบตามมาได้ จึงแนะนำว่าควรสั่งน้ำมูกทีละข้างเพื่อให้มีแรงดันย้อนกลับน้อยที่สุด ข้อควรสังเกตอีกประการหากมีน้ำมูกมากจนจมูกเริ่มแดง รูจมูกเจ็บ และอักเสบควรปรึกษาแพทย์โดยทันที
เทคนิคอื่น ๆ ที่บรรเทาอาการคัดจมูก เช่น การดื่มน้ำอุ่น หรือ ซุปที่มีรสเผ็ดร้อน ก็ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้ดีเช่นกัน หากใครมีเวลาก็อาจเพิ่มเติมด้วยการอบไอน้ำที่บริเวณจมูก โดยใช้หอมแดง 4-5 หัว ทุบพอแตกต้มกับน้ำ 1ลิตรจนเดือด เทใส่กะละมังแล้วเอาผ้าขนหนูคลุมศีรษะกับกะละมัง ก้มหน้าสูดไอร้อนประมาณ 5-10 นาที ก็สามารถช่วยละลายน้ำมูกที่คั่งค้างอยู่ได้
สำหรับคนที่ชอบทางอาการรสเผ็ดร้อน ช่วงนี้เป็นจังหวะดีที่จะยิงนกนัดเดียว ได้ทั้งความอร่อย และช่วงไล่อาการคัดจมูกให้โล่งไปได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ที่สำคัญอาหารเผ็ดร้อนยังกระตุ้นให้คุณต้องการดื่มน้ำสะอาดอีกมาก ๆ ซึ่งสามารถช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากหวัดได้เร็วขึ้นเช่นกัน
2. อาการ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ
เป็นอีกอาการที่มักแสดงออกเมื่อร่างกายเป็นหวัด ซึ่งสาเหตุที่มีอาการ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ ก็เพราะมีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน ครอบคลุมตั้งแต่โพรงจมูกลงไปจนถึงคอส่วนล่างที่เชื่อมต่อกัน ทำให้น้ำมูกที่ไหลลงไปในลำคอมีปริมาณมากเกิดเป็นเสมหะ และอาจมีการอักเสบระคายเคืองตามมา
ซึ่งอาการไอ เจ็บคอ นั้นมีทั้งระดับที่ไม่รุนแรง แต่สร้างความรำคาญให้กับตัวเอง และคนรอบข้าง จนถึงอาการไอต่อเนื่องมีความรุนแรง จนทำให้หายใจติดขัด เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ซึ่งทางที่ดีหากพบอาการไอ ก็ควรดูแลจัดการเสียแต่เนิ่น ๆ ไม่ปล่อยให้ลุกลาม
โดยวิธีที่นำมาฝาก ก็สามารถทำได้ไม่ยาก และทุกบ้านมีสิ่งเหล่านี้พร้อม เริ่มจากการกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ โดยผสมเกลือ 1 ช้อนชากับน้ำอุ่น 1 ถ้วย คนจนละลาย อมน้ำเกลือกลั้วคอ โดยแหงนศีรษะไปด้านหลัง เพื่อให้น้ำเกลือไหลอาบเนื้อเยื่อในลำคอ ทำซ้ำวันละ 4 ครั้ง และสำคัญคือ ควรทำหลังรับประทานอาหารเพื่อขจัดเชื้อต่าง ๆ ที่อาจตกข้างอยู่ในลำคอ
รวมถึงการดื่มน้ำอุ่น ให้มากขึ้น หากใครที่ทานน้ำอุ่นเปล่า ๆ ลำบาก อาจเติมรสเปรี้ยวลงไปด้วยการบีบมะนาวลงในน้ำอุ่นสักนิด หรือเติมน้ำผึ้งเสียหน่อย ก็จะช่วยทำให้ชุ่มคอลดอาการระคายเคืองลงได้มากมาย
ข้อสำคัญเลยสำหรับใครที่กำลังมีอาการไอ เจ็บคอ คือควรลดการใช้เสียงให้น้อยที่สุด ยิ่งหากอาการเจ็บคอลุกลามจนกล่องเสียงอักเสบ เกิดการระคายคอมากทำให้เสียงแหบเสียงหายไปชั่วขณะ ยิ่งควรรีบพักเพื่อไม่ได้อาการทรุดลงจนแก้ไขได้ยากกว่าเดิม รวมถึงการหลีกเลี่ยงการสูดดม ควัน และมลพิษต่าง ๆ งดสูบบุหรี่ เพราะจะยิ่งทำให้เจ็บคอมากขึ้น
3. อาการหูอื้อ
อาการหูอื้อชั่วคราว เป็นอีกหนึ่งอาการที่มักเกิดขึ้นในขณะเป็นหวัด หรือหลังหวัดหายใหม่ ๆ เพราะเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดหวัดทำให้ท่อที่เชื่อมระหว่างหูชั้นกลางกับช่องลำคอเกิดการอักเสบ และบวม ส่งผลให้ความดันในหูชั้นกลางสูงขึ้น จึงมีอาการหูอื้อข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้าง บางรายอาจรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงแมลงอะไรบินอยู่ข้าง ๆ หู โดยจะเป็น ๆ หาย ๆ สร้างความรำคาญให้กับใครหลายคนไม่น้อย
ซึ่งวิธีจัดการกับอาการหูอื้อนั้น คงไม่มีอะไรดีกว่าการพักผ่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะผลจากการศึกษาพบว่า อาการหูอื้อหลังหวัดมักสัมพันธ์กับความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องฝึกเป็นประจำก็คือการ ลดความเครียด และความวิตกกังวล เพราะหากความเครียดและวิตกกังวล ยังไม่หายไป การนอนหลับสนิทเพื่อให้ได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอก็ยากที่จะเกิดขึ้นได้
โดยเคล็ดลับดี ๆ ที่ช่วย คุณจัดการกับความเครียด ก็มีด้วยกันหลากหลายเทคนิค ซึ่งคุณสามารถเลือกทำได้ตามความชอบ ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกาย เพื่อให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนที่ช่วยให้มีความสุข การใช้เวลากับงานอดิเรกที่ชอบไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลง การจัดแต่งต้นไม้ ตลอดจนการฝึกหายใจอย่างเป็นระบบเพื่อให้ สมองหยุดความคิดอันฟุ้งซ่าน และมาสนใจอยู่ในสิ่งสิ่งเดียวนั่นคือ ลมหายใจ
ซึ่งหากพ้นจากการเป็นหวัดไปแล้วหนึ่งถึงสองสัปดาห์ แต่อาการยังไม่ดีขึ้น ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหูอย่างละเอียด เพื่อดูความผิดปกติในหูชั้นกลางควบคู่ไปกับการตรวจภายในโพรงจมูก เพื่อสืบหาสาเหตุของอาการหูอื้อให้ชัดเจนต่อไป
และทั้งหมดนี้ก็เป็นสาระความรู้ดี ๆ ที่เราตั้งใจนำมาฝากทุก ๆ คน เพื่อให้การเป็นหวัดไม่น่ารำคาญสำคัญคุณอีกต่อไป และสำหรับโรคทั่วไปอย่างหวัดนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการดูแลสุขภาพโดยรวมของคุณให้แข็งแรง สภาพจิตใจให้เบิกบานสดชื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะเมื่อร่างกายพร้อม ศัตรูเชื้อโรคต่าง ๆ ก็ยากที่จะเข้ามาจู่โจมทำอันตราย ซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขที่ต้นเหตุ และดีที่สุดอย่างแน่นอน
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตาม GedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี
TikTok : @gedgoodlife