หูอื้อ คืออาการที่คนทั่วไปอาจเคยเป็นกันมาบ้างแล้ว และคิดว่าเป็นเรื่องปกติ เกิดขึ้นแค่ชั่วคราว แป๊บเดียวเดี๋ยวก็หาย ไม่ได้อันตรายอะไร… แต่กับบางคนต้องเผชิญกับอาการหูอื้อเป็นเวลานาน ไม่ยอมหายเสียที แบบนี้จะทำไง มีสาเหตุ วิธีรักษา และป้องกันอย่างไร GedGoodLife มีคำตอบรออยู่แล้ว พร้อมไขข้อข้องใจ การปั่นหูทำให้เสี่ยงขี้หูอุดตัน ทำหูอื้อ จริงหรือไม่ มาติดตามกันเลย!
หูอื้อ มีสาเหตุ และอาการอย่างไร?
หูอื้อ (Tinnitus) หรือจะเรียกอีกอย่างว่า “เสียงดังก้องอยู่ในหู” คือการได้ยินลดลง ความคมชัดของเสียงลดลง หรือบางรายอาจมีเสียงรบกวนในหู อาการหูอื้อนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ถ้าเป็นบางครั้งบางคราวก็ไม่อันตรายอะไร แต่ถ้าเป็นไม่หายสักที ควรพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยต่อไป
สาเหตุที่ทำให้หูอื้อ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้ดังนี้
- เกิดจากการอุดกั้นสัญญาณเสียง ซึ่งจะเกิดในส่วนของหูชั้นนอก และหูชั้นกลาง เช่น ขี้หูอุดตัน หูชั้นนอกอักเสบจากการปั่นหู หรือว่ายน้ำบ่อย ๆ และหูชั้นกลางอักเสบจากหวัด เป็นต้น
- ความผิดปกติในส่วนอวัยวะรับเสียงในหูชั้นใน และหรือเส้นประสาทนำเสียงสู่สมอง
ส่วนสาเหตุย่อยอื่น ๆ ได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น, ได้ยินเสียงดังรบกวนเป็นเวลานาน เช่น เสียงเครื่องบิน เสียงก่อสร้าง เสียงเพลง เป็นต้น, การบาดเจ็บที่ศีรษะ หรือคอ, แรงดันอากาศ เช่น ตอนขึ้นเครื่องบิน, มีขี้หูมากเกินไป, จากท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติจากโรคภูมิแพ้, ภาวะเครียด วิตกกังวล, อารมณ์ซึมเศร้า เป็นต้น
อาการของหูอื้อ
อาการหูอื้อเกิดขึ้นได้กับหูทั้งสองข้าง หรือหูอื้อข้างเดียว มีอาการเช่น ได้ยินเสียงสั่นกระดิ่งเกิดขึ้นในหู ได้ยินเสียงฟ่อ เสียงดังกริ๊ก หรือเสียงกระซิบเกิดขึ้นภายในหู ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบชั่วคราว และเรื้อรังถาวร
วิธีรักษา หูอื้อ
การรักษาอาการหูอื้อ ต้องแก้ไขตามสาเหตุ ถ้าหากหูอื้อชั่วคราว ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไร เช่น หูอื้อจากการขึ้นเครื่องบิน จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว เดี๋ยวจะหายไปเอง แต่หากหูอื้อไม่หายเสียที จากสาเหตุใดก็ตามแต่ แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง โดยวิธีการรักษาหูอื้อจากสาเหตุต่าง ๆ มีดังต่อไปนี้
– อาการหูอื้อที่เกิดจากหวัด ควรได้รับการตรวจหูเพื่อดูความผิดปกติในหูชั้นกลาง และตรวจภายในโพรงจมูกร่วมด้วย เนื่องจากมักพบจมูกอักเสบเรื้อรัง หรือไซนัสอักเสบได้บ่อย
– หูอื้อจากแรงดันอากาศ (เช่น ขึ้นเครื่องบิน) ให้กลืนน้ำลาย เคี้ยวหมากฝรั่ง อ้าปากหาวกว้าง ๆ หรือเอามือบีบจมูกทั้งสองข้าง และหายใจออกทางจมูกแรง ๆ อาจช่วยแก้อาการหูอื้อที่เกิดจากแรงดันอากาศได้
– รักษาโรคที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อ หากอาการหูอื้อมีสาเหตุมาจากโรค หรือภาวะของโรคบางอย่าง การรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุนั้นจะช่วยแก้อาการหูอื้อได้
– กลุ่มหูตึงในผู้สูงอายุ ควรพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรับการประเมินระดับการได้ยินว่าสมควรใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่
– หูอื้อที่เกิดจากได้ยินเสียง เสียงระเบิด เสียงประทัด หรือหูอื้อที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดร่วมกับมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หรือมีเสียงดังรบกวนในหู ควรรีบไปพบแพทย์เฉพาะทาง โดยแพทย์จะตรวจช่องหู และอวัยวะอื่น ๆ เพื่อหาสาเหตุ
– ประสาทหูเทียม เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ทดแทนการส่งสัญญาณเสียงไปยังสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในกรณีที่ส่วนหนึ่งส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินในหูเสียหาย
– หูอื้อจากน้ำเข้าหู ให้เอียงศีรษะด้านที่น้ำเข้าหูข้างนั้นลงต่ำแล้วดึงใบหูให้กางออก โดยเฉียงไปด้านหลังเล็กน้อย จากนั้นน้ำที่เข้าไปในหูก็จะไหลออกมาเอง
5 วิธีป้องกัน หูอื้อ
1. ไม่อยู่ใกล้สถานที่ ที่มีเสียงดังมาก ๆ เป็นเวลานาน
2. ใช้ปลั๊กอุดหูในการป้องกันเสียงดัง
3. เลี่ยงการฟังเพลงเสียงดัง โดยเฉพาะการใช้หูฟังครอบหู หรือแบบเสียบเข้าหู
3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงคือหูอื้อ
4. หลีกเลี่ยงการปั่นหู เพราะอาจทำให้ขี้หูเข้าไปลึกอุดรูหูได้
5. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ทำจิตใจให้แจ่มใส
จริงหรือไม่ การปั่นหูทำให้เสี่ยงขี้หูอุดตัน ทำหูอื้อ?
คำตอบคือ จริง! เพราะการเอาก้านสำลี (Cotton Bud) เข้าไปปั่นในรูหู ตรงปลายขี้หูอาจจะยิ่งเข้าไปตันในรูหู ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะขี้หูอุดตัน และทำให้หูอื้อ ได้ยินอะไรไม่ค่อยชัด และอาจจะนำไปสู่การติดเชื้อได้เลยทีเดียว
อ้างอิง : 1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 2. Helloคุณหมอ 3. รพ. บางปะกอก3