สะอึก ฮึก! ใคร ๆ ก็เคยเป็นกันทั้งนั้น และแม้ว่า อาการสะอึก จะไม่ได้ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรือทรมานอะไรมาก แต่ก็ทำให้เสียบุคคลิกภาพเวลาอยู่ในสังคมพอสมควร งั้นมาดูกันสิว่า จริง ๆ แล้ว อาการสะอึกเกิดจากอะไร และควรทำยังไง ถึงจะหาย?
อาการสะอึก เกิดจากอะไร?
สะอึก – hiccups เป็นอาการที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และเฉียบพลัน เนื่องจากกะบังลม และกล้ามเนื้อช่วงระหว่างกระดูกซี่โครง ทำงานไม่สัมพันธ์กัน ส่งผลให้ระบบการหายใจเข้าออกสะดุดทันที เป็นอาการที่ไม่สามารถควบคุมได้ มักจะเป็น ๆ หาย ๆ และส่วนใหญ่แล้ว ก็สามารถหายได้เองโดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ถ้าหากสะอึกนานเกินกว่าปกติ หรือสะอึกนานเป็นชั่วโมง ๆ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา และลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคอื่น ๆ ที่อาจตามมาภายหลังได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสะอึกนั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น…
- กลืนอากาศลงไปอย่างรวดเร็ว
- ดื่มน้ำเร็วเกินไป
- หายใจเอาควันต่าง ๆ เข้าไป
- กินอาหารเร็วเกินไป กินมากเกินไป หรืออิ่มเกินไป
- กินอาการหรือเครื่องดื่มที่ทำให้มีก๊าซมาก เช่น น้ำอัดลมหรือเบียร์
- กินอาหารรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด
- มีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของกระเพาะอาหารทันที เช่น กินอาหารร้อนจัด หรือดื่มเครื่องดื่มเย็นจัด เมื่อท้องว่าง
- สูบบุหรี่จัด หรือ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- มีก้อนในบริเวณลำคอ เช่น คอพอก
- ผลข้างเคียงมาจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็ง
- อาการสะอึกอาจสัมพันธ์กับปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ อารมณ์ที่รุนแรง เช่น หัวเราะ ตื่นเต้น เครียด กังวล ซึมเศร้า กลัว ก็อาจเป็นสาเหตุของการสะอึกได้
ทำยังไงถึงจะหายสะอีก?
การรักษา อาการสะอึก สามารถทำได้หลายวิธี โดยการรักษาอาการสะอึก สามารถแบ่งตามรูปแบบการรักษาหลัก ๆ ได้ คือ
1. การรักษาอาการสะอึกแบบพื้นบ้าน
• ทำให้เรอ หรือไอ เมื่อเกิดอาการสะอึกกระบังลมจะหดตัว แต่ถ้าทำให้เรอ หรือไอ ก็จะทำให้กระบังลมคลายตัวได้ง่ายขึ้นได้ แต่ก็ไม่ควรพยายามฝืนไอมากเกินไป เพราะจะทำให้เจ็บคอได้
• อุดหูขณะดื่มน้ำ เมื่อร่างกายเกิดอาการสะอึก จะทำให้ระบบประสาทสำหรับการหายใจผิดปกติไปด้วย การอุดหูในขณะดื่มน้ำเมื่อมีอาการสะอึก จะทำให้ระบบประสาทถูกกดทับและกระบังลมทำงานได้ตามปกติ หรือจะอุดหูไว้สัก 30 วินาที โดยไม่ต้องดื่มน้ำก็ได้
• กดจุด ให้ใช้นิ้วชี้ และนิ้วโป้งบีบเนินเนื้อของมืออีกข้าง หรืออาจจกดจุดที่ร่องเหนือริมฝีปาก สิ่งสำคัญคือควรลงแรงกดมากพอสมควร
• แลบลิ้น ฟังดูไม่น่าเชื่อถือเท่าไร แต่การแลบลิ้นออกมายาว ๆ จะช่วยกระตุ้นช่องว่างในส่วนของเส้นเสียง ทำให้หายใจสะดวกได้มากขึ้น และหายสะอึกไปพร้อมกันได้
• กลืนก้อนข้าวสวย ขนมปัง หรือน้ำตาลทราย เมื่อกินน้ำตาล จะทำให้หลอดอาหารเกิดการระคายเคืองจากเกล็ดน้ำตาล ทำให้ระบบการหายใจขัดข้อง และต้องมีการปรับระบบใหม่ แต่ควรกินเพียงแค่ 1 ช้อนชาเท่านั้น
• เอาทิชชู่ปิดแก้วขณะดื่มน้ำ เพราะ เมื่อเราเอากระดาษทิชชู่ปิดปากแก้วขณะดื่มน้ำ จะทำให้ต้องใช้แรงดูดน้ำมากยิ่งขึ้น ระบบประสาทจึงต้องมีการปรับรูปแบบเพื่อให้กลับมาทำงานตามปกติ
• เบี่ยงแบนอารมณ์แบบกะทันหัน เช่น ทำให้ตื่นเต้นหรือตกใจ วิธีนี้จะต้องมีคนอื่นช่วยไม่ให้คนที่สะอึกได้ตั้งตัว
• อมน้ำไว้ คางชิดหน้าอก แล้วพยายามกลืนน้ำที่อมไว้
• สูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วกลั้นหายใจ ให้นับ 1-10 แล้วจึงหายใจออก และดื่มน้ำตามทันที หรือกลั้นหายใจไว้ แล้วกลืนน้ำลายให้ได้ 3 ครั้ง แล้วหายใจตามปกติ
• กินของเปรี้ยวจัด เช่น น้ำมะนาวคั้นสด ๆ สัก 1 ช้อนชา หรือกลืนน้ำส้มสายชูหมักจากแอปเปิ้ล 1 ช้อนชา วิธีเหล่านี้จะเป็นการจู่โจมปุ่มรับรส และทำให้หายสะอึกได้อย่างรวดเร็ว
2. การรักษาอาการสะอึกตามแนวทางแพทย์
สำหรับการรักษาอาการสะอึกตามแนวทางแพทย์ จะถูกนำมาใช้ก็ต่อเมื่ออาการสะอึกนั้นเป็นอาการสะอึกที่ผิดปกติ ซึ่งจะให้การรักษาดังนี้
• ใช้ยา เมื่อมีอาการสะอึกแบบผิดปกติ แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยยาก่อนเป็นอันดับแรก โดยใช้ยาที่ช่วยลดอาการกล้ามเนื้อเกร็งกระตุก และอาจมีการใช้ยาในกลุ่มยาช่วยย่อยร่วมด้วย
• ฝังเข็ม การฝังเข็มจะทำให้ระบบของร่างกายถูกปรับให้สมดุลมากยิ่งขึ้น รวมถึงในส่วนของระบบการหายใจที่ทำให้เกิดอาการสะอึกด้วย
พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันอาการสะอึก
เนื่องจากสาเหตุที่ทำให้เกิด อาการสะอึก ส่วนใหญ่จะเป็นผลมาจากพฤติกรรม ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ การป้องกันจึงเกี่ยวกับการควบคุมพฤติกรรมเป็นส่วนใหญ่ คือ
1. ลดหรือหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
2. หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยควันหรือมลพิษต่าง ๆ
3. กินอาหารแต่พอดี ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน และไม่ควรกินอาหารรสจัดจนติดเป็นนิสัย
4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแก๊ส และเครื่องดื่มที่เย็นจัดและร้อนจัด รวมถึงการเคี้ยวหมากฝรั่ง ที่กระตุ้นให้มีการกลืนอากาศ ซึ่งเสี่ยงต่อการทำให้เกิดอาการสะอึกได้
5. หมั่นรักษาอารมณ์ของตัวเองให้มั่นคง ไม่ฉุนเฉียวหรือโกรธง่าย มีสมาธิ สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี ไม่ตื่นเต้น หรือตกใจกลัวง่าย ๆ
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี