ภาวะครรภ์เป็นพิษ เราอาจจะเคยได้ยินกันมาอยู่บ้าง ทั้งจากตามข่าว หรือคนรอบข้างที่เคยเจอภาวะนี้ ภาวะครรภ์เป็นพิษมีอาการอย่างไร อันตรายร้ายแรงแค่ไหน มีวิธีป้องกัน รักษาอย่างไร ลองมาทำความเข้าใจกันไว้ โดยเฉพาะแม่ ๆ ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่
ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclamsia) คือ ภาวะความดันโลหิตสูงที่ตรวจพบหลังตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อทั้งหญิงตั้งครรภ์ และ ลูกในครรภ์ได้
ภาวะครรภ์เป็นพิษ แบ่งเป็น 2 ชนิด ตามความรุนแรง
– ภาวะครรภ์เป็นพิษระดับไม่รุนแรง (Mild preeclampsia) ถ้าไปตรวจ คุณหมอจะดูที่ระดับความดันโลหิต ถ้าความดันโลหิตสูงมากกว่า หรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท ตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปห่างกันอย่างน้อย 6 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้ทำลายอวัยวะสำคัญในร่างกาย จะยังถือเป็นภาวะครรภ์เป็นพิษระดับไม่รุนแรง
– ภาวะครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรง (Severe preeclampsia) การที่มีภาวะความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับอาการต่าง ๆ เช่น โปรตีนรั่วในปัสสาวะ ภาวะน้ำท่วมปอด ปวดหัวไม่หาย ปวดบริเวณลิ้นปี่ เกร็ดเลือดต่ำ น้ำคร่ำน้อย เป็นต้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการพัฒนาของรกที่ผิดปกติ หรืออาหารการกิน โภชนาการ การออกกำลังกาย ก็มีผลต่อภาวะความดันโลหิตสูง รวมทั้งไม่ได้ฝากครรภ์ ไม่ไปตรวจตามหมอนัดก็อาจเป็นสาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษได้
อันตรายของภาวะครรภ์เป็นพิษ ต่อแม่ท้อง
- เสี่ยงต่ออาการชัก
- เกิดภาวะโรคหลอดเลือดสมองอย่างฉับพลัน
- เกิดภาวะ รกลอกตัวก่อนกำหนด
- เกิดภาวะผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
- เกิดกลุ่มอาการ HELLP คือ การแตกตัวของเม็ดเลือดแดงมีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ตับ มีปริมาณเกล็ดเลือดลดลง
- ในระยะยาว อาจส่งผลให้แม่ตั้งครรภ์เกิดความดันสูงเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจ
อันตรายของภาวะครรภ์เป็นพิษ ต่อทารกในครรภ์
- น้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย
- ทารกเกิดภาวะขาดออกซิเจน หรือเสียชีวิตในครรภ์ได้
- ในระยะยาว อาจส่งผลให้เด็กเกิดโรคปอดเรื้อรัง ความผิดปกติของจอประสาทตา พัฒนาการสติปัญญา
อาการของ ภาวะครรภ์เป็นพิษ
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ สังเกตว่ามือและเท้าบวมมากในขณะตั้งครรภ์
- ตรวจพบความดันโลหิตสูง คือสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท
- ตรวจพบมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
- มีอาการปวดศีรษะมาก สายตาพร่ามัว
- จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ จนถึงขั้นชักและหมดสติ
- บวมที่ขา แขน หรือใบหน้า
- มีน้ำหนักตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ประมาณ 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์
- หากมีเลือดออกในสมอง อาจทำให้เสียชีวิตได้
- หากพบอาการดังกล่าวเหล่านี้ ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
ป้องกันภาวะครรภ์เป็นพิษได้อย่างไร
– นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ระหว่างตั้งครรภ์ควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้ 6-8 ชั่วโมงในตอนกลางคืน และอาจจะงีบหลับอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงในช่วงกลางวัน
– งดอาหารเค็ม อาหารมัน และรับประทานโปรตีนเพิ่มขึ้น รวมถึงควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย วันละ 6-8 แก้ว
– นอนตะแคงแทนนอนหงาย ท่านอนที่เหมาะสมสำหรับคนท้องคือท่านอนตะแคง เพราะการนอนหงายในช่วงที่อายุครรภ์เริ่มมากขึ้นอาจจะกดทับเส้นเลือด การนอนตะแคงจะช่วยลดการกดทับของหลอดเลือดใหญ่ การไหลเวียนดีขึ้น ทารกในครรภ์ได้รับออกซิเจนเพิ่มขึ้น และควรยกเท้าสูงเวลานั่งหรือนอน
– ควบคุมอาหาร ในระหว่างตั้งครรภ์ไม่ต้องเพิ่มน้ำหนัก หรือกินอาหารมากเกินไป แต่เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ และจำกัดแคลอรี่ให้พอเหมาะ ถ้าแม่ท้องที่ปกติน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นจากก่อนตั้งครรภ์วันละ 340-360 กิโลแคลอรีต่อวันในไตรมาสที่สอง และ 452 – 475 กิโลแคลอรีต่อวันในไตรมาสที่สาม
– กินอาหารที่มีแคลเซียม อาหารที่มีแคลเซียม ควรได้รับอย่างน้อยวันละ 800 มิลลิกรัม ช่วยลดความเสี่ยงภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ได้
– นับลูกดิ้นอย่างสม่ำเสมอ การนับลูกดิ้น คุณหมอจะแนะนำให้ทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งการนับลูกดิ้นในแต่ละวัน จะช่วยให้แม่รู้ว่าลูกยังปกติอยู่ เพราะถ้าในหนึ่งวัน ลูกไม่ดิ้น อาจเกิดความผิดปกติกับลูก ต้องรีบไปหาหมอทันที
– ฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ มาตรวจสม่ำเสมอ เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ควรไปฝากครรภ์ เพื่อให้คุณหมอตรวจเช็กสุขภาพ และไปหาหมอตามนัดทุกครั้ง กินยา หรือ วิตามินเสริมคนท้อง ตามที่หมอสั่งอย่าให้ขาด จะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้
– แม่ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องเตรียมตัว ก่อนตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอก่อน เพื่อตรวจร่างกายดูความพร้อม และปรับยาให้เหมาะสม และอย่าลืมกินยาอย่างสม่ำเสมอ
“Expert ดีดี” โควิด-19 ไอ หวัด ปวดท้อง ภูมิแพ้ อย่าปล่อยให้เรื้อรัง ปรึกษาฟรี คลิกเลย!
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี