โรคกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer) เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากสังคมที่มีแต่การแข่งขัน ทำให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันต่างก็ต้องเร่งรีบ และไม่ได้ดูแลรักษาสุขภาพกันมากนัก ก่อนที่จะต้องมานั่งทรมานปวดท้อง ฉะนั้นโรคนี้จึงต้องใส่ใจ และรู้จักดูแลป้องกันอย่างถูกวิธี
- โรคกรดไหลย้อน กับ โรคกระเพาะอาหาร แตกต่างกันอย่างไร?
- มะเร็งกระเพาะอาหาร สาเหตุ อาการ วิธีรักษา
- 10 พฤติกรรมเสี่ยงโรคกระเพาะอาหาร
ทำความรู้จักกับ โรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer – GU) คือ โรคที่มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือมีการอักเสบของเยื่อกระเพาะอาหาร
เกร็ดความรู้
- จากข้อมูลการสำรวจพบว่า ทุก ๆ 100 รายของผู้ที่ปวดท้องกระเพาะอาหาร จะตรวจพบแผลในกระเพาะอาหารได้ตั้งแต่ 5-15 ราย โดยความชุกของโรคนี้จะมีมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา
- การเกิดโรคกระเพาะอาหารนั้นมักพบในชายมากกว่าหญิง ประมาณ 3 : 1 ระหว่างอายุ 20 ถึง 50 ปี
- โรคแผลในกระเพาะอาหาร ไม่มีการติดต่อจากคนสู่คน หรือจากสัตว์สู่คน
สาเหตุของ โรคแผลในกระเพาะอาหาร
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นแผลในกระเพาะอาหารนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายสาเหตุ แต่ที่มีความสำคัญมากมี 2 ประการ คือ
1. เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (H. pylori) ในกระเพาะอาหาร ซึ่งพบได้บ่อยในประชากรไทย โดยได้รับเชื้อนี้ผ่านทางอาหาร และน้ำดื่มที่ไม่สุกสะอาด หรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่ก่อน
2. มีการใช้ยาแก้ปวดแก้อักเสบในกลุ่ม non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) ในขนาดสูง หรือใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน (ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์กัดกร่อนผิวกระเพาะอาหาร)
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหรือสาเหตุอื่น ๆ อีกหลายประการที่สามารถทำให้เกิดแผลในกระเพาะ ขึ้นได้ เช่น
- มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป ร่วมกับเยื่อบุกระเพาะอาหาร และลำไส้มีความต้านทานต่อกรดลดลง จึงทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาการ
- กินสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้ เช่น ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และยาบางชนิด
- มีนิสัยการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น กินอาหารอย่างเร่งรีบ กินอาหารไม่เป็นเวลา หรืออดอาหารบางมื้อ
- การสูบบุหรี่ จะเป็นเพิ่มโอกาสของการเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับ เครียด อารมณ์หงุดหงิด พักผ่อนไม่เพียงพอ
อาการของ โรคกระเพาะอาหาร
ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหารสามารถมีอาการ หรืออาการแสดงที่ผิดปกติได้หลายอย่าง ส่วนมากมักมีอาการปวดท้องชนิดเป็น ๆ หาย ๆ ในช่องท้องส่วนบน เช่นบริเวณเหนือสะดือ ลิ้นปี่ หรือยอดอก โดยมักปวดในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
- แสบร้อนท้อง
- จุกเสียดแน่นท้อง
- รู้สึกท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนอาหารไม่ย่อย
- รับประทานอาหารแล้วท้องอืดโต มีลมในท้องมาก
- ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ (เหมือนสีเฉาก๊วย)
- คลื่นไส้ อาเจียน เรอบ่อย
- เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดผิดสังเกต
- อาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือด เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
- ไม่มีความอยากอาหาร เบื่ออาหาร และอาจผอมลง
- รู้สึกท้องเกร็งแข็ง หรือรู้สึกปวดบีบมวนท้องคล้ายอยากถ่ายอุจจาระ
โดยอาการเหล่านี้มักเป็นในช่วงท้องว่าง ก่อนมื้ออาหาร ตอนกลางคืน ขณะนอนหลับ หรือเกิดภายหลังรับประทานยาที่มีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวกระเพาะอาหาร (เช่น ยาแอสไพริน ยากลุ่มNSAIDs เป็นต้น) ในบางครั้งอาการปวดท้องดังกล่าวอาจดีขึ้นได้ชั่วขณะเมื่อดื่มนม รับประทานอาหาร หรือ ใช้ยาลดกรด
5 สัญญาณเสี่ยง โรคกระเพาะอาหาร
ลักษณะเฉพาะของโรคกระเพาะอาหาร ที่รู้กันโดยทั่วไปก็คือ อิ่มก็ปวด หิวก็ปวด ซึ่งคล้ายคลึงกับการปวดท้องแบบอื่น ๆ จนแยกแทบไม่ออก โดยจะสามารถแยกโรคกระเพาะอาหารออกจากการปวดท้องแบบอื่นได้ โดยสังเกตจาก 5 สัญญาณเสี่ยง ดังนี้
- มีอาการปวดท้องแบบจุก ๆ แสบ ๆ จู่ ๆ ก็ปวดจี๊ดขึ้นมา แล้วจู่ ๆ ก็หายไป โดยจะปวดบริเวณลิ้นปี่ หรือเหนือสะดือ
- จะมีอาการปวดท้องทางด้านขวา ช่วงที่รู้สึกหิวหรืออิ่ม แต่อาจไม่ได้ปวดมาก และสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ ด้วยการกินยาลดกรด
- ปวดแสบช่วงท้อง บางครั้งอาจเจ็บขึ้นมาถึงตรงลิ้นปี่ โดยไม่เกี่ยวว่าจะท้องว่าง หรืออิ่ม
- มีอาการปวดท้องจนทำให้ต้องตื่น เมื่อนอนหลับ มักเกิดขึ้นแบบไม่แน่นอน
- ปวดท้องมาก ๆ จนอาจอาเจียน หรือถ่ายเป็นเลือด
แม้ว่าการสังเกต 5 สัญญาณเสี่ยงที่บ่งบอกว่าคุณเป็นโรคกระเพาะอาหาร จะช่วยแยกโรคได้ในระดับหนึ่ง แต่ผู้ป่วยก็ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉันจากแพทย์ว่า อาการปวดท้องที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาตจากโรคกระเพาะอักเสบจริงหรือไม่ เพราะบางอาการปวดที่เกิดขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคกระเพาะเสมอไป
การรักษาโรคกระเพาะ
โรคกระเพาะอาหาร จะรักษาตามสาเหตุเป็นหลัก หากเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ไพโลไร ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย ก็จะรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน ยาอะมอกซิซิลลิน หรือยาเมโทรนิดาโซล เพื่อช่วยในการการฆ่าเชื้อ
หากผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากสาเหตุอื่น ๆ แพทย์ก็จะรักษาไปตามอาการ เพื่อประคองอาการและช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น เช่น จ่ายยาลดกรด เพื่อลดการหลั่งกรด ช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหาร หากสาเหตุเกิดจากการกินยากลุ่มยาบรรเทาอาการปวด แพทย์ก็จะแนะนำให้หยุดการใช้ยาในเบื้องต้น และทำการปรับเปลี่ยนยาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันให้แทน เป็นต้น
นอกจากนี้ แพทย์จะมีการแนะนำให้หยุดพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้อาการแย่ลง เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่
เป็นโรคกระเพาะแล้ว ควรกินยาอะไรดี?
เมื่อเราเป็นโรคกระเพาะ จะต้องกินยาอยู่ 2 กลุ่ม คือ
- ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร
- ยากระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหาร
หากผู้ป่วยมีแผลในกระเพาะอาหาร แพทย์ก็จะแนะนำให้กินยาลดกรดต่อเนื่องเป็นเวลา 6 – 8 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหาย โดยดูผ่านการส่องกล้องทางเดินอาหาร
หากผู้ป่วยไม่มีความผิดปกติในเบื้องต้น แพทย์ก็มักจะแนะนำให้กินยาลดกรดเฉพาะเมื่อมีอาการผิดปกติ ส่วนยาประเภทอื่น ๆ เช่น ยาขับลม ควรกินเฉพาะตอนที่มีอาการแน่นท้อง จากลมที่เกิดขึ้นมากในกระเพาะอาหาร
การดูแลตนเอง
- กินอาหารให้ตรงเวลา และกินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย
- ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน
- หลีกเลี่ยงการกินสิ่งที่ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาชุด ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาที่มีสเตียรอยด์ น้ำอัดลม อาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ช็อคโกแลต ชา กาแฟ
- จำกัดปริมาณอาหารที่กินในแต่ละมื้อ ไม่ให้มากจนเกินไป
- กินยาลดกรด โดยปริมาณที่แนะนำ คือ ยาน้ำ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ หรือยาเม็ด 1 – 2 เม็ด (เคี้ยวก่อนกลืน) วันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น โดยกินหลังอาหาร 1 ชั่วโมง และช่วงก่อนนอน หากมีอาการปวดท้องก่อนถึงเวลากินยา สามารถกินเพิ่มได้ และควรกินติดต่อกันอย่างน้อย 4 – 8 สัปดาห์
- กินยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ
- พยายามลดความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำสมาธิ
- หมั่นออกกำลังกาย
- งดสูบบุหรี่
หากปรับพฤติกรรมแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม และรักษาอย่างตรงจุดต่อไป
อ้างอิง: 1. รพ.กรุงเทพ 2. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล