หากลูกเริ่มมีพฤติกรรมเลือกกิน เด็กกินยาก อย่าเพิ่งกังวลใจไป เพราะมีโอกาสที่เด็ก ๆ จะมีพฤติกรรมเลือกกิน กินยากในช่วงอายุ 2-6 ขวบ เพราะลูกเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มดื้อรั้น ไม่ทำตามที่พ่อแม่ต้องการ บอกซ้ายจะไปขวา บอกให้กินก็ไม่ยอมกินง่าย ๆ รวมถึงการไม่ได้ฝึกนิสัยการกินลูกให้เหมาะสม ตั้งแต่เด็ก ๆ จึงทำให้ลูกมีพฤติกรรมกินยาก เลือกกิน
เด็กกินยาก อาจทำให้พ่อแม่กังวลว่าลูกจะไม่โต ขาดสารอาหาร ตัวเล็กกว่าเพื่อน ๆ มาดูกันว่าลูกมีอาการน่าเป็นห่วงขนาดไหน มีสัญญาณอะไรที่บอกว่าลูกกำลังเป็นเด็กเลือกกิน แล้วจะแก้ไขได้อย่างไร
พฤติกรรม เด็กกินยาก ปฎิเสธการกิน
- กินข้าวได้น้อย มื้อนึงกินแค่ไม่กี่คำ เคี่ยวเข็ญแค่ไหนก็ไม่ยอมกินต่อ
- อมข้าว เวลากินข้าวอมข้าว ไม่ยอมเคี้ยว ไม่ยอมกลืน
- เลือกกิน อาหารที่ทำมาครบ 5 หมู่ แต่ลูกกลับกินแค่บางอย่าง และส่วนใหญ่จะไม่ยอมกินผัก
- อะไรที่เคยชอบกลับไม่ยอมกิน อาหารที่ลูกเคยชอบกิน วันดีคืนดีก็ไม่ยอมแตะ ไม่ชอบขึ้นมาซะอย่างนั้น
- ร้องงอแงไม่ยอมกินข้าว บังคับให้กินมาก ๆ ก็ถึงขั้นร้องไห้ งอแง
- กินแล้วอาเจียน ปวดท้อง เด็กบางคนเวลากินข้าวเข้าไปอาจบอกว่าอยากอาเจียน หรือปวดท้อง ไม่ยอมกิน
สัญญาณเตือนลูกขาดสารอาหาร
ง่วงหงาวหาวนอน ปกติพลังของเด็กมีเหลือเฟือ วิ่งเล่น กระโดดโลดเต้นซนได้ไม่หยุด แต่ถ้าเกิดลูกมีพฤติกรรมง่วงหงาวหาวนอน ไม่ยอมออกไปวิ่งเล่น เอาแต่นั่งนิ่ง ๆ นอนเฉย ๆ ง่วงซึมอาจจะเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการขาดธาตุเหล็ก หรือโลหิตจางได้
เหม่อลอย สมาธิสั้น ประสิทธิภาพของสมองลดลง ทำให้ลูกมีอาการเหม่อลอยบ่อยขึ้น เนื่องจากออกซิเจนในเลือดน้อย เพราะภาวะขาดธาตุเหล็ก สมองไม่โปร่งใส สมาธิสั้น ลูกขาดสมาธิในการเรียน หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ เฉื่อยชา คิดช้า
ผิวแห้ง หยาบกร้าน หากร่างกายขาดกรดไขมัน สังกะสี หรือวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินอี ก็ส่งผลต่อภูมิคุ้มกัน และผิวหนังได้ อาจทำให้เป็นรอยเขียวฟกช้ำได้ง่าย เป็นแผลเรื้อรังไม่ยอมหายสักที มีการอักเสบระคายเคืองที่ผิวหนัง ผิวแห้งลอก หยาบกร้าน ขาดความชุ่มชื่น ปากแตกเป็นขุย
น้ำหนักน้อย หากลูกน้ำหนักไม่ขึ้นตามเกณฑ์ โดยสามารถชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง และเทียบกับกราฟการเจริญเติบโตของกรมอนามัย หากอยู่ในช่วงกราฟที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานต่อเนื่องนาน อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกขาดสารอาหาร หรือได้รับอาหารไม่ถูกต้องตามโภชนาการ
ป่วยบ่อย เด็กที่ขาดสารอาหาร ไม่ได้รับสารอาหาร วิตามินที่จำเป็น ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี เจ็บป่วยได้ง่าย เช่น เป็นหวัด เป็นไข้ ได้บ่อยกว่าเด็กทั่วไป
ปรับนิสัยการกินของเด็กกินยาก
เด็กกินยาก ต้องเริ่มจากการปรับนิสัยการกินของลูก ฝึกด้วยการให้ลูกนั่งโต๊ะกินข้าวร่วมกับพ่อแม่
ไม่เปิดทีวี ไม่เปิดมือถือ เปิดคลิป การ์ตูนให้ลูกดูระหว่างกินข้าว
ไม่ทำกิจกรรมอื่นบนโต๊ะ เวลากินข้าว ควรเป็นเวลาที่กินข้าวและพูดคุยกับลูกเท่านั้น
กำหนดเวลากินข้าวของลูก ประมาณ 20-30 นาที หากหมดเวลา ให้เก็บอาหารทันที และรอมื้อต่อไป
พูดคุยเรื่องดี ๆ ระหว่างการกิน ไม่ดุ ลงโทษ หรือบังคับให้ลูกกินข้าว
ถ้าลูกกินอาหารได้ให้ชื่นชม แต่ถ้าลูกไม่ยอมกินให้แม่ใจเย็น นิ่ง ๆ ไว้ แค่บอกกับลูกว่าให้รอมื้ออาหารถัดไป
หากลูกไม่ยอมกินข้าว ควรงด ขนม น้ำหวาน ของขบเคี้ยวไปด้วยจนกว่าลูกจะกินข้าว
ปรับเปลี่ยนอาหารให้น่ากิน เหมาะสำหรับเด็ก ไม่ทำอาหารซ้ำ ๆ
เปลี่ยนภาชนะ ใช้จาน ชาม ภาชนะ น่ารักน่าสนใจดึงดูดเด็ก ๆ
ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรี! ตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี