ทุกครั้งที่เกิดอาการผิดปกติเล็ก ๆ น้อย ๆ ส่วนใหญ่แล้ว เราก็เลือกที่จะหายามากินบรรเทาอาการกันง่าย ๆ น้อยคนนักที่จะไปหาหมอเพื่อรักษาอาการป่วยแบบนิด ๆ หน่อย ๆเหล่านี้ แต่ อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องนั้น บางครั้งก็หมายถึงโรค หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่นได้ด้วยนะ
- อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง ต้องการความใส่ใจมากกว่าที่คิด
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ต้องปรับ 5 พฤติกรรมนี้!
- อาหารไม่ย่อย อืด จุก แน่นท้อง ปัญหาที่ต้องใส่ใจ แก้ไขให้ถูกจุด!
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คืออะไร?
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (Office of the Royal Society) ให้ความหมายของ อาการท้องอืดท้องเฟ้อ (Flatulence) ไว้ดังนี้
- ท้องอืด เป็นอาการที่มีลมในกระเพาะ และลำไส้มากเพราะอาหารไม่ย่อย ทำให้รู้สึกอึดอัดมาก และอาจมีอาการปวดท้องด้วย
- ท้องเฟ้อ เป็นอาการที่มีลมในกระเพาะอาหาร เพราะอาหารไม่ย่อย หรือ อาหารเป็นพิษ เมื่อเรอมักจะมีกลิ่นเหม็น จึงใช้ว่า ท้องเฟ้อเรอเหม็นเปรี้ยว
หรือจะสรุปง่าย ๆ ได้ว่า ท้องอืด ท้องเฟ้อ คืออาการที่มีก๊าซในท้องมากกว่าปกตินั่นเอง
ข้อมูลจากสมาคมโรคทางเดินอาหารแห่งประเทศไทยพบว่า…
- คนไทยมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และอาหารไม่ย่อยถึงร้อยละ 25 โดยพบได้ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยรุ่นวัยทำงาน จนถึงวัยสูงอายุ
- ช่วงอายุที่พบบ่อยมาก คือ อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากกลุ่มคนในวัยดังกล่าวมีการทำงานของระบบการย่อยอาหารที่เสื่อมถอยลงตามวัย
สาเหตุที่พบได้บ่อยของ อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ
– มีลมในทางเดินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะในกระเพาะอาหาร เกิดจากการอักเสบ มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเนื้องอกเนื้อร้ายซ่อนอยู่ในกระเพาะอาหาร อาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียแฝงที่เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารที่เรียกว่า Helicobacter Pylori (เอช.ไพโรไล)
– ปัญหาจากลำไส้เล็ก จากการย่อยที่ไม่สมบูรณ์ เกิดจากน้ำย่อยจากลำไส้เล็ก ตับ หรือ ตับอ่อน ทำงานได้น้อย จำนวนแบคทีเรียที่มีประโยชน์มีปริมาณมาก หรือน้อยไป หรือเกิดจากสภาวะการบีบตัวที่ผิดปกติ
– ลำไส้มีการอุดตัน ทำให้ลม หรือแก๊สไม่สามารถผ่านไปยังลำไส้ใหญ่ เช่น ไส้เลื่อนที่อุดตัน ผังผืดในท้องรัดลำไส้ ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติการผ่าตัดหน้าท้อง หรือจากก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่อุดตันลำไส้ เป็นต้น ผู้ที่มีโรคดังกล่าว จะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียนร่วมด้วย
– ลำไส้เคลื่อนไหวน้อยกว่าปกติ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคระบบประสาท และกล้ามเนื้อ
– ผู้ป่วยที่มีลำไส้ไวต่อการกระตุ้น แม้ว่าลม หรือ แก๊สในลำไส้อาจจไม่มาก แต่ผู้ป่วยจะมีอาการอืดแน่นท้องได้
– มีนิสัยชอบกินอาหารเร็ว ๆ หรือดื่มเร็วจนไม่มีเวลาย่อย หรือบุคคลที่ต้องพูดทั้งวัน จนรู้สึกคอแห้งต้องกลืนน้ำลายบ่อย ๆ
– ชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีการอัดก๊าซไว้ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ ทำให้เกิดก๊าซหรือลมในท้อง
อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บ่งบอกถึงโรคอะไรได้บ้าง?
1. แพ้อาหาร
เมื่อคุณดื่มนม หรือกินอาหารประเภทนมเข้าไป ก็มักจะมีอาการอึดอัดแน่นท้องทุกครั้งใช่รึเปล่า ? เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากการที่ร่างกายของคุณมีปัญหาในการย่อยแล็กโตสจากนม จนทำให้รู้สึกอึดอัดแน่นท้อง และมีอาการคล้ายอาหารไม่ย่อยก็ได้นะ
2. โรคลำไส้แปรปรวน
โรคลำไส้แปรปรวน เป็นโรคเรื้อรังที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต มักเป็น ๆ หาย ๆ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊สในท้องมาก ปวดท้อง โดยอาการมักจะดีขึ้นหลังขับถ่าย แล้วก็กลับมาปวดท้องใหม่
มักมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อกินอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิด เช่น นม เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช็อกโกแลต ผักผลไม้บางชนิด และเมื่อกินอาหารในปริมาณมาก การรักษาทำได้เพียงรักษาตามอาการ เช่น เมื่อท้องอืดกินยาลดกรด เป็นต้น
3. กรดไหลย้อน
อาการท้องอืดท้องเฟ้อ เนื่องจากมีแก๊สอยู่ในกระเพาะอาหารมากเกินไป และความรู้สึกแสบร้อนกลางอก เนื่องจากอาหารที่ทานเข้าไป ไหลย้อนกลับขึ้นมาทางหลอดอาหาร ต่างก็เป็นอาการที่เด่นชัดมากที่สุดของโรคกรดไหลย้อน ในเบื้องต้นสามารถใช้ยาลดกรดทั่วไปบรรเทาอาการได้ทันที
วิธีใช้ยาจัดการกับภาวะท้องอืด
- การใช้ยาลดกรด เป็นยาที่ช่วยปรับสภาพความเป็นกรดภายในกระเพาะอาหาร ให้มีความเป็นกลางมากขึ้น เช่นตัวยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminum Hydroxide)
- การใช้ยาขับลม ทำหน้าที่ขับลมในกระเพาะและลำไส้ เช่น ไซเมธิโคน (Simethicone)
- การใช้ยาแก้ปวดท้อง เช่น ไดไซโคมีน (Dicyclomine)
ปัจจุบันมียาสูตรผสม (combination drug) หลายตัวที่ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด แน่น จุกเสียด แสบร้อนกลางอก เช่น เครมิล แก๊สเปคเอส เนื่องจากให้ประโยชน์มากกว่ายาเดี่ยวหลายประการ เช่น เพิ่มประสิทธิภาพยา ให้ผลในการรักษาเร็วขึ้น รักษาได้หลายอาการมากขึ้น ลดอาการไม่พึงประสงค์ (เนื่องจากการใช้ยาเดี่ยวอาจต้องใช้ยาขนาดสูง) เพิ่มความสะดวกในการใช้ยา (กินยาเพียงครั้งเดียว ) และทำให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการใช้ยาง่ายขึ้น
ข้อแนะนำให้การปฏิบัติเวลากินอาหาร
– กินอาหารที่ย่อยง่าย ไม่มีไขมันปนมากนัก
– ลดการดื่มพวกเครื่องดื่มที่มีก๊าซมาก เช่น น้ำอัดลม เบียร์ กินพอประมาณ
– อย่ารีบร้อนกินอาหารจนเกินไป เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน
– หลังกินอาหารแล้ว ควรเดินเล่นเสียบ้าง เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น
เพียงเท่านี้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ก็จะไม่มารบกวนเราไปอีกนาน แล้วอย่าลืมออกกำลังกายอยู่เสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพองค์รวมที่ดีด้วยนะ
อ้างอิง : 1. http://www.royin.go.th 2. www.synphaet.co.th 3. www.doctor.or.th 4. bangkokhatyai.com