เห็นแม่ย้อยกินขนมหวานของซ้อเรณูอย่างเอร็ดอร่อยในละครที่กำลังฮิตติดกระแสอยู่ ณ เวลานี้อย่าง กรงกรรม ก็อดคิดไม่ได้ว่า โรคเบาหวาน อาจถามหาแม่ย้อยได้ แล้วก็เป็นจริงจนได้ ใครที่กำลังดูดชานมไข่มุก ตักบิงซู กินขนมหวานอยู่ นอกจากจะกังวลกับแคลอรี่แล้ว ตอนนี้คงแอบระแวงว่าเราติดหวานไปหรือเปล่า อนาคตจะตามรอยแม่ย้อยไปมั้ยนะ!?
ติดหวาน คืออะไร?
ที่เรารู้สึกว่าอยากกินพวกอาหาร เครื่องดื่ม และ ขนมหวาน ๆ เป็นประจำ เราอาจจะมีภาวะติดหวาน ติดน้ำตาลโดยไม่รู้ตัว มีงานวิจัยในต่างประเทศของมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ที่ได้ทำการทดลองกับหนู โดยให้หนูอดอาหาร หลังจากนั้นก็ให้อาหารเสริมเป็นน้ำหวาน ที่มีสารละลายน้ำตาล กับหนู ซึ่งในเวลา 1 เดือน หนูดื่มน้ำหวานเพิ่มขึ้น และเมื่อลองหยุดให้น้ำหวานกับหนู พบว่าหนูมีอาการลงแดง ตัวสั่น ปากสั่น เหมือนอาการติดสารเสพติด
ซึ่งความหวานจากน้ำตาลส่งผลให้สมองหลั่งสารความสุข ไม่ต่างจากสิ่งเสพติด เช่น ฝิ่น เฮโรอีน แต่กว่าสมองสั่งให้สารความสุขออกมา ต้องบริโภคอาหาร หรือเครื่องดื่มรสหวานติดต่อกันบ่อย ๆ นั้นหมายถึงว่า อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคร้ายต่าง ๆ มากมาย
ติดหวาน กินน้ำตาลมากเกินไป คือสาเหตุของ “ โรคเบาหวาน ”
นํ้าตาล เป็นคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งที่เป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุด และเป็นอาหารให้พลังงานร่างกาย แต่หากกินน้ำตาลมากเกินไป ทำให้ร่างกายไม่สามารถเผาผลาญหรือนำไปใช้ได้หมด กลายเป็นไขมันสะสมจนอ้วนขึ้นได้ แต่ที่น่ากลัวกว่าความอ้วน คือโรคที่ตามมาจากความอ้วน เช่น โรคเบาหวาน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ
โรคเบาหวาน (Diabetes) คือ โรคที่เกิดความบกพร่องของฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งผลิตจากตับอ่อน ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ
ชนิดของเบาหวาน มีอะไรบ้าง?
เบาหวานชนิดที่ 1 เป็นชนิดพึ่งอินซูลิน (IDDM)
เบาหวานชนิดที่ 1 พบราว ๆ 5-10% ของโรคเบาหวานทุกประเภท ปัจจัยที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะเบาหวานชนิดที่ 1 ได้แก่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง พันธุกรรม และสภาพแวดล้อมของตัวผู้ป่วยเอง
เบาหวานชนิดที่ 2 คือชนิดไม่ต้องพึ่งอินซูลิน (NIDDM)
เบาหวานชนิดที่ 2 พบเป็นจำนวน 90-95% ของจำนวนโรคเบาหวานทุกชนิด ปัจจัยเสี่ยงของเบาหวานประเภทนี้ได้แก่ อายุที่มากขึ้น ความอ้วน คนในครอบครัวมีประวัติเป็นเบาหวานมาก่อน มีประวัติการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
อาการของโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานในระยะแรก จะไม่แสดงอาการผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายอาจตรวจพบโรคเบาหวาน เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว อาการของโรคเบาหวานแต่ละชนิด อาจมีความคล้ายคลึงกัน โดยอาการที่พบส่วนใหญ่ คือ
- รู้สึกหิวบ่อย
- กระหายน้ำมาก
- ปัสสาวะมีปริมาณมากและบ่อย
- ปากแห้ง
- ผิวแห้ง เกิดอาการคันบริเวณผิว
- ตาแห้ง
- น้ำหนักลดหรือเพิ่มผิดปกติ โดยไม่สามารถหาสาเหตุได้
- สายตาพร่ามัว เห็นภาพไม่ชัด
- รู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แม้ว่าจะพักผ่อนเพียงพอ และไม่ได้ป่วยไข้
- มีอาการชา โดยเฉพาะที่มือ ขา และเท้า หรือรู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่ปลายเท้า หรือที่เท้า
- เมื่อเกิดบาดแผลที่บริเวณต่างๆ ของร่างกายมักหายช้ากว่าปกติ โดยเฉพาะแผลที่เกิดกับบริเวณเท้า
- ปวดขา ปวดเข่า
- เป็นฝีตามตัวบ่อยๆ
- อารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย
การตัดอวัยวะ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งจะต้องตัดขาหรือเท้าทิ้ง
การรักษา เบาหวาน
การรักษาผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 1 จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปทดแทนในร่างกาย ด้วยการฉีดยาเป็นหลัก ควบคู่กับการควบคุมอาหารและออกกำลังกายที่เหมาะสม
ในขณะที่โรคเบาหวานประเภทที่ 2 ในช่วงแรกสามารถรักษาได้ด้วยการเลือกกินอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกาย และรู้จักควบคุมน้ำหนัก หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจให้ยาควบคู่ไปด้วย หรือฉีดอินซูลินเข้าไปทดแทนเช่นเดียวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 1
สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรเข้าฝากครรภ์กับแพทย์ตั้งแต่ในระยะแรก พร้อมทั้งควบคุมอาหารและออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์
กินน้ำตาลขนาดไหนถึงจะพอเหมาะในแต่ละวัน
- เด็กอายุ 6-13 ปี หญิงวัยทำงานอายุ 25-60 ปี และ ผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป : ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 4 ช้อนชา/วัน
- วัยรุ่นหญิง อายุ 14-25 ชายวัยทำงาน อายุ 25-60 ปี : ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน
- หญิงชายที่ใช้พลังงานมาก ๆ เช่น เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน นักกีฬา : ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 8 ช้อนชา/วัน
เทคนิคปรับเปลี่ยนการกินน้ำตาล ก่อนโรคเบาหวานถามหา
- ค่อย ๆ ลด แต่อย่าเพิ่งหักดิบหยุดของหวานทันที เพราะอาจทำให้ร่างกายโหย และอยากเพิ่มมากขึ้น เช่น จากกินชานมทุกวัน อาจจะค่อย ๆ ลดลงเหลือ อาทิตย์ละ 3 วัน
- ลดน้ำตาลในการปรุงอาหารลงมาครึ่งหนึ่ง เติมน้ำตาลในเครื่องดื่มให้น้อยลง เคยสั่งชานมไข่มุก หวาน 100% อาจจะค่อย ๆ ลดความหวานลงเหลือ 50%
- หันมาดื่มน้ำผลไม้สด แทนน้ำอัดลม
- ใช้ความหวานจากธรรมชาติแทนในการปรุงอาหาร เช่น ทำน้ำซุปก็ใช้หัวหอม ที่ให้รสหวาน แทนการเติมน้ำตาล
- รับประทานผัก ผลไม้สด ๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะมีรสหวานจากน้ำตาลฟรุกโตส กลูโคส
- ไม่ใช้น้ำตาลเทียม เพราะน้ำตาลเทียมอาจกระตุ้นทำให้ตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมา ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลตกซึ่งจะทำให้โหยน้ำตาลมากขึ้นในช่วงการอดน้ำตาล
- เลิกซื้อขนม น้ำหวาน น้ำอัดลม ติดบ้าน ติดตู้เย็น
ถามหมอออนไลน์ ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไข้หวัด อาการไอ ปวดท้อง ภูมิแพ้ ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ถามเลย ที่นี่
ติดตามGedGoodLife ช่องทางอื่น ๆ ได้ที่…
Facebook : GEDGoodLife
Nutroplex : nutroplexclub
Twitter : @gedgoodlife
Line : @gedgoodlife
Youtube : GEDGoodLife ชีวิตดีดี